วิจารณ์หนังสือ นวนิยาย (บันเทิงคดี)
ชื่อเรื่อง

โจรสลัดแห่งตะรุเตา

ผู้แต่ง ปองพล อดิเรกสาร จากฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ The Pirates of Tarutao by Paul Adirex แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท
พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด พ.ศ. 2543 ราคา 198 บาท

โจรสลัดแห่งตะรุเตา


ข้อมูลหนังสือเพิ่มเติม


- เบื้องหลังโจรสลัดแห่งตะรุเตา : จากหนังสือสู่แผ่นฟิล์ม

เรื่องย่อ
"ตะรุเตา" ภาษามาเลย์หมายถึง "เก่าแก่และลึกลับ" เกาะนี้อยู่ห่างจากฝั่งไปทางตะวันตกด้านทะเลอันดามันประมาณ 19 กิโลเมตรห่างจากหมู่เกาะมะลายูประมาณ 48 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 151.13 ตารางกิโลเมตร



สภาพภูมิประเทศเป็นโขดเขา ป่าดงดิบไข้ป่าชุกชุมและอยู่กลางดงฉลาม เหมาะที่จะเป็นที่คุมขังนักโทษอุกฉกรรจ์ พ.ศ. 2481 เมื่อสร้างสถานที่กักกันเสร็จทางกรุงเทพส่งนักโทษมากักขังราว 2,000 คน มีขุนอภิพัฒน์เป็นผู้บัญชาการเรือนจำ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2482 ก็สั่งนักโทษการเมืองมาอีก 70 คน แยกขังไว้ต่างหาก ห้ามติดต่อกับนักโทษทั่วไป



ชาวประมงชื่อหมี ลูกสาวคนโตแต่งงานกับผู้คุม จึงอยู่ตะรุเตา ตัวเองอยู่กับลูกชายคนรอง และลูกสาวคนเล็กที่อ่าวตะโละ หมีอาสาพานักโทษการเมืองหนี ค่าจ้างห้าพันบาทคือ พระยาศราภัยพิพัฒน์ พันเอกพระยาสุรพันธ์เสนี หลุย คีรีวัต แฉล้ม เลี่ยมเพชรรัตน์และขุนอัคนี ถึงฝั่งเกาะลังกาวีของมลายูวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2482 ขณะนั้นอังกฤษปกครองอยู่และกำลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง



คอลลิน คันนิงแฮม ชาวอเมริกันไม่ยอมเรียนมหาวิทยาลัยให้จบชอบผจญภัยตามแบบนิยาย "ลอร์ด จิม" ที่เขาหลงใหล จึงขัดใจพ่อหนีมาเป็นทหารมาอยู่ฟิลิปปินส์ เมื่อเห็นช่องทางรวยจากการค้ายุทธปัจจัยจึงลาออกมาค้าขายจนร่ำรวย ต่อมาพิมเคอร์ติสชวนมาอยู่คูซิงเมืองหลวงของซาราวัก ได้รู้จักกับราชาแห่งอลอร์สตาร์ รัฐเคดะและชักชวนให้มาเที่ยวลังกาวี คันนิงแฮมตัดสินใจโอนเงินเข้าสิงคโปร์ ซื้อทองแท่งหกแท่งพกติดตัว แต่งชุดแบบชาวมาเลเซีย เดินทางมาถึงลังกาวีหรือเมืองปาตูซานในนิยาย ลอร์ด จิมของเขา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2484



สิบเอกฮอร์กิน แห่งกองทัพอังกฤษที่โกตามารูถูกขัง เพราะเป็นชู้กับภรรยาชาวจีนและฆ่าสามีตาย เขาคุยอยู่กับสิบโทปีเตอร์ แกรนด์ ทหารอังกฤษที่ถูกขังโทษขโมยอาวุธและทำร้ายสารวัตรทหาร ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาวะสงคราม ญี่ปุ่นโจมตีมลายู ดินแดนในปกครองของอังกฤษ



ทั้งสองคนวางแผนแหกห้องขังขับรถหนีเข้าประเทศไทย นายพลฟิตซ์ แพททริกให้ร้อยโทเควิน นอกซ์และลูกน้องคือ บราวส์ และราชันตามจับ ฮอร์กิน และแกรนด์เช่าเรือหนีไปลังกาวี แต่ก็เปลี่ยนใจหนีไปเกาะตะรุเตาเขตประเทศไทย เพื่อให้รอดพ้นการตามล่า เมื่อถึงอ่าวตะโละอุดัง ก็พบกับหลวงมหาสิทธิ์และผู้คุมนักโทษของเกาะตะรุเตา เลยโกหกว่าเป็นทหารอังกฤษมาสอดแนมและหลงมา



ส่วนร้อยโทนอกซ์ตามนักโทษมาลังกาวีได้พบกับคันนิงแฮม ในคืนนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็โจมตีและยึดทั้งไทยและมลายู เมื่อกลับจากเกาะลังกาวีมาที่กัวลาเคดะ คันนิงแฮมถูกยึดเอาทองคำหมดสิ้นคนทั้งหมดก็ถูกทหารญี่ปุ่นจับ และถูกส่งไปคุมขังที่ตะรุเตาในฐานะเชลยสงคราม นอกซ์เจอฮอร์กิน และแกรนด์ที่เขากำลังตามล่าแต่ขอให้คันนิงแฮมและลูกน้องเขาปิดบังเรื่องนี้ไว้ เนื่องจากไม่ใช่นักโทษไทยขุนอภิพัฒน์จึงไม่ควบคุมให้ปลูกกระท่อมอยู่เอง



หลวงมหาสิทธิ์พูดภาษาอังกฤษได้นอกจากจะเป็นล่ามให้ขุนอภิพัฒน์ผู้บัญชาการเรือนจำแล้ว ยังอธิบายวิธีดำเนินชีวิตของนักโทษและนักโทษการเมืองให้ผู้มาใหม่ฟังเพื่อปรับตัวกับการเป็นนักโทษเกาะตะรุเตา นอกซ์รู้ว่าหลวงมหาสิทธิ์กำลังเขียนพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย เขาขอเรียนภาษาไทย และเรียนมวยไทยกับนักโทษการเมืองของไทยอีกด้วย ส่วนคันนิงแฮม เรียนการปลูกพืชกับ มล.สิทธิพร แต่ไม่นานนักโทษการเมืองก็ถูกย้ายไปขังไว้ที่เกาะเต่า เพราะที่เกาะตะรุเตาขาดแคลนและขาดการส่งกำลังบำรุง



เมื่อนักโทษการเมืองไปแล้ว ความลำบากก็ทวีคูณ อาหารขาดแคลน ขุนอภิพัฒน์อนุญาตให้นอกซ์เอาปืนไปล่าสัตว์มาแก้ไขสถานการณ์ ครั้นเกิดโรคระบาดนักโทษตายจำนวนมาก ขุนอภิพัฒน์เข้าขอความช่วยเหลือจากกรุงเทพต้องผิดหวัง จึงนำเรือเล็กออกขอเสบียงจากเรือสินค้ามาประทังหิว เรือสินค้าซีดรากอนไม่ยอมให้และชนเรือเล็กจมทะเล



ต่อมา เรือซีดรากอนก็ถูกปล้นและถูกยึดเรือไว้ ต่อมาเรือลักกี้ เลดีก็ถูกปล้น ฟิตผู้คุมที่เคยเป็นนักโทษมาก่อนยึดเอาทองคำแท่ง สินค้าและทำลายเรือจมทะเลซึ่งการปล้นครั้งนี้ นอกซ์ คันนิงแฮม และราชันซึ่งอยู่บนหน้าผาของเกาะตะรุเตาเห็นเหตุการณ์ คันฟิงแฮมเห็นด้วยกับการปล้นเพื่อแก้ความอดอยากแต่นอกซ์กับราชันไม่พอใจอย่างมาก คันนิงแฮมจึงให้ขุนอภิพัฒน์ชวนฮิวกินสู้กับแกรนด์ร่วมมือเพื่อป้องกันนอกซ์กับลูกน้องของเขา



วันหนึ่งขณะที่ฮอร์กินกับแกรนด์กำลังจะข่มขืนมาลาตีหญิงสาว นอกซ์มาช่วยกันและช่วยพยาบาลพ่อซึ่งถูกแกรนด์ทำร้ายสลบ ซึ่งเขาคือนายหมีที่เคยพานักโทษการเมืองของไทยห้าคน หนีจากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะลังกาวีนั่นเอง ตอนนี้นำเอาเรือเล็กแอบเอาของมาให้พี่สาวซึ่งเป็นเมียผู้คุมนักโทษ นอกซ์อาสานำของไปให้เอง



ส่วนสองพ่อลูกไปแอบหลบที่อ่าวสนด้านตะวันตกของเกาะ พี่สาวเมื่อพบนอกซ์ก็พานอกซ์มาพบมาลาตีอีกครั้ง ชาญและสุชาติรายงานการไม่ได้รับสินค้าให้บรรจงศักดิ์ผู้บังคับบัญชาการตำรวจภาคฯ และเล่าเรื่องโจรสลัดตะรุเตาให้ฟัง ซึ่งต่อมาคนทั้งสองรู้ว่าสินค้าที่หายในทะเลมาอยู่กับธำรงค์และรู้อีกว่า ได้มาจากหลานขุนอภิพัฒน์อีกทอดหนึ่งต่อมาธำรงค์ถูกฆ่าตาย ส่วนฮอร์กินและแกรนด์ขออนุญาตขุนอภิพัฒน์เอาเรือซี ดรากอน ออกสำรวจเกาะอาตังเพื่อตั้งเป็นฐานลวงตำรวจไม่ให้สนใจตะรุเตา ซึ่งเขาวางแผนไว้ในใจที่จะหักหลังใช้เรือลำนี้ขนสมบัติหนี ทางด้านขุนอภิพัฒน์ และคันนิงแฮมก็สำรวจถ้ำสำหรับซ่อนสมบัติ บังเอิญขณะนอกซ์และมาลาตีแอบมาพบกันจึงเห็นพอดี ช่วงที่ขนสมบัติย้ายที่ซ่อนก็พอดีผู้การบรรจงศักดิ์มาเยี่ยม ขุนอภิพัฒน์ที่เกาะตะรุเตาเมื่อผู้การบรรจงศักดิ์กลับไปก็ส่งคนปลอมเป็นผู้คุมและนักโทษมาแทรกซึมสืบข่าว



วันหนึ่งเรือสินค้าแวะอ่าวตะโลวาว นอกซ์กับบราวลูกน้องเห็นจึงตะโกนจากหน้าผาที่ซ่อนบอกให้รีบหนีโจรสลัด นิคซึ่งนำเรือออกปล้นตามไม่ทันจึงไปรายงานขุนอภิพัฒน์ คืนนั้นขุนอภิพัฒน์ตามฮอร์กินกับแกรนด์มาฆ่า แต่ใหญ่เมียผู้คุมซึ่งเป็นพี่สาวมาลาตีมาช่วยนอกซ์กับลูกน้องหนีรอดไปได้ และไปซ่อนตัวอยู่ในป่า รอมาลาตีมารับไปยังเกาะลังกาวี ฮอร์กินกับพวกตามล่า



แต่มาลาตีมาทันเวลาและพาหนีไปลังกาวีสำเร็จ แต่เขาก็ต้องเสียบราวน์ที่เอาตัวกำบังกระสุนปืนฮอร์กิน วันที่เขาหนีจากตะรุเตาสำเร็จ คือวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม กองทัพอังกฤษได้เลื่อนยศนอกซ์เป็นร้อยเอกเขาได้รับคำสั่ง ให้ตามจับฮอร์กินและแกรนด์และทำหน้าที่คุ้มกันเรือสินค้าตามที่สมาคมพ่อค้าจีนขอร้อง เมื่อนิคนำเรือออกปล้นเรือสินค้า ราชันและทหารอังกฤษที่นอกซ์เตรียมมาคุ้มกันก็ฆ่านิคและพวกตายหมด ปล่อยศพและเรือเล็กกลับไปตะรุเตาเพื่อให้พวกรู้ นิคเองถูกจับและถูกมัดกับสมอเรือถ่วงน้ำทะเล เหมือนกับที่เขาเคยทำกับลูกเรือสินค้าที่ถูกปล้น



ทางด้านเล็กน้องชายของมาลาตีที่นอกซ์ให้ไปสืบข่าวมารายงานว่า ฮอร์กินและแกรนด์ไปตั้งฐานอยู่เกาะอาตัง ฮอร์กินไปฉุดเจ้าสาวของตีฆาชาวเลซึ่งกำลังอยู่ในพิธีแต่งงาน แกรนด์ก็ฉุดน้องสาวของตีฆามาด้วย เอามาขังไว้ที่เกาะอาตัง ส่วนเสนอลูกน้องขุนอภิพัฒน์ก็รายงานขุนอภิพัฒน์ว่าเรือสินค้าห้าลำกำลังผ่านตะรุเตา ขุนอภิพัฒน์วางแผนปล้น ให้คันนิงแฮม นอกซ์ ฮอร์กิน และแกรนด์เอาเรือซี ดรากอนมาช่วย แต่ต้องหนีกลับเกาะอาตังเพราะนอกซ์จมเรือสลัดได้ถึงสามลำ ขุนอภิพัฒน์และคันนิงแฮมยืนดูบนหน้าผา



คันนิงแฮมซึ่งแอบขนสินค้าไปซ่อนไว้ในถ้ำที่ลังกาวีแล้ว เขาแอบวางแผนซ่อนเรือเพื่อจะหนีไว้แล้ว ทางอังกฤษได้ประสานกับรัฐบาลไทยปราบโจรสลัดส่งเรือและทหารมาปราบ นอกซ์ขณะรอคำสั่งเข้าตี ขออนุญาตมาเฝ้าฮอร์กินและแกรนด์ไว้ก่อน เรือของนอกซ์มีมาลาตี เล็ก เปรม และทหารกุรข่าสามคน พลเรือนกุรข่าสองคน ส่วนเรือราชัน มีวิษณุ ชัยและสิบเอกชาวกุรข่า ลำที่สามเป็นทหารกุรข่าสี่คน เรือมุ่งมาที่เกาะหลีเป๊ะ นอกซ์วางแผนเผาเรือซี ดรากอน และโจมตีฮอร์กินที่เกาะอาตังทันทีเมื่อได้รับคำสั่ง



11 มีนาคม 2498 เวลาสองทุ่มเศษ เมื่อได้รับคำสั่ง นอกซ์จู่โจมเผาเรือซี ดรากอน ฆ่าฮอร์กิน แกรนด์ และโจรสลัดตายหมด ช่วยหญิงสาวชาวเลสองคนกลับมาได้ นอกซ์พาทหารไปเกาะตะรุเตาตรงไปยังถ้ำที่เก็บสมบัติคันนิงแฮม กำลังขนสมบัติลงเรือหนีพอดี ขณะเดียวกันทหารของพลจัตวาเปโรวน์ขึ้นยังฝั่งด้านอ่าวตะโลวาวจับขุนอภิพัฒน์และลูกน้อง พร้อมกับส่งข่าวนอกซ์ว่าไม่พบคันนิงแฮม เมื่อคันนิงแฮมมาถึงเรือถูกนอกซ์จับไว้ แต่เขาจับมาลาตีเป็นตัวประกันและโยนลงน้ำให้จระเข้กิน นอกซ์ลงไปช่วยได้ทัน แต่ก็ทำให้คันนิงแฮมพาเรือสมบัติฝ่ากระสุนหนีออกทะเลสำเร็จ เรือกางใบแล่นไปไม่นาน รูกระสุนที่ทะลุกระดานเรือน้ำทะเลค่อย ๆ ซึมเข้าเรือจมทะเล



นอกซ์แต่งงานกับมาลาตี เขาได้เลื่อนยศเป็นพันตรี ต่อมาขอลาออกจากกองทัพมาทำสวนยางอยู่ที่เกาะลังกาวี สามสิบปีให้หลัง นอกซ์และครอบครัวกลับมาเยี่ยมเกาะตะรุเตาซึ่งเปิดเป็นอุทยานแห่งชาติ ชาลส์ลูกชายวัยหนุ่ม พ่อกับแม่มีความหลังที่นี่รู้ว่าขุนอภิพัฒน์ถูกตัดสินจำคุกสิบห้าปี ชาลส์เดินชมสถานที่และพบทางเข้าถ้ำลี้ลับแห่งหนึ่ง จึงชวนบิดาตามไป ทั้งคู่พบโครงกระดูก กริช เขาเห็นหนังสือที่ใช้กริชเขียนผนังถ้ำว่า “เรืออับปาง ขาหัก ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ เหน็ดเหนื่อย กำลังจะตาย ไอ้ระยำ นอกซ์” นอกซ์ตะลึงเพราะรู้ว่าโครงกระดูก คือ คันนิงแฮม นั่นเอง



วิเคราะห์นวนิยายเรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตา

นวนิยายเรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตา ของปองพล อดิเรกสาร เป็นนวนิยายผจญภัย เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่อง The Pirates of Tarutao by Paul Adirex ผู้แปลคือ วิภาดา กิตติโกวิท ฉบับที่อ่านสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 5 พ.ศ. 2543 ราคา 198 บาท ถ้าดูย้อนการพิมพ์จำหน่าย นวนิยายเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2540 จะต้องพิมพ์ครั้งต่อมาภายในหนึ่งปี ในปี พ.ศ. 2543 ต้องพิมพ์ถึงสองครั้ง คือครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 กล่าวละเอียดด้านการพิมพ์เอาไว้ เพราะแสดงถึงการต้อนรับของผู้อ่าน ซึ่งนอกจากจะบอกถึงความชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้แล้วยังแสดงถึงคุณภาพของนวนิยายเรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตาอีกด้วย



โจรสลัดแห่งตะรุเตา เป็นนวนิยายขนาดยี่สิบสามตอนจบจุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือ ผู้ประพันธ์เขียนเป็นภาษาอังกฤษจัดพิมพ์ให้ชาวต่างประเทศอ่านมาก่อน การจะทำเช่นนี้ได้ ผู้เขียนต้องเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมาก ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักสำหรับนักเขียนไทย การเสนอนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากจะต้องแข่งขันกันแบบสากลในวงวรรณกรรมแล้ว นวนิยายเองยังเป็นสื่อให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทย และเรื่องราวชีวิต สภาพ ภูมิประเทศของไทย สรุปง่าย ๆ ก็คือ ปองพล อดิเรกสาร ได้ทำประเทศไทยออกสู่สายตาโลกโดยอาศัยนวนิยายเป็นสื่อนั่นเอง




จุดเด่นของนิยาย เรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตามีสองประการที่ทำให้ผู้อ่านติดตามเรื่อง คือ

ประการแรก ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องตามหลักฐานตามประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นจริง ดังนั้นความรู้เรื่องประเทศไทย สภาพเหตุการณ์ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนำมาเป็นเรื่องราวเขียนเป็นนวนิยาย ทำให้ผู้อ่านนอกจากจะได้รับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ซึ่งควรเรียกว่า ประวัติศาสตร์เชิงเหตุการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังได้ภาพจริงของสถานการณ์สงคราม และความเกี่ยวพันของเหตุการณ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะไทย มาเลเซีย อังกฤษและ ญี่ปุ่น

ประการที่สอง คือ ตัวละครที่กล่าวถึงส่วนใหญ่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เป็นผู้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้รับโทษถูกจองจำอยู่ที่เกาะตะรุเตา และเรือนจำที่เกาะแห่งนี้ก็มีชื่อเสียงเป็นที่น่าสนใจของคนไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่แล้ว ทำให้ตัวละครที่สมมุติในการดำเนินเรื่องมีชีวิตชีวาและมีความสมจริงจนแทบแยกไม่ออกว่า ตัวละครใดเป็นบุคคลจริงหรือเป็นตัวละครสมมุติ


ในด้านการดำเนินเรื่อง ผู้เขียนผูกเรื่องโดยใช้ความโลภและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินเรื่องและมีการผูกปม คลายปมของแต่ละตอนซึ่งมีทั้งการผจญภัย การสืบสวนสอบสวน การชิงไหวพริบ การต่อสู้และเรื่องความรัก ซึ่งผู้เขียนสามารถดำเนินเรื่องได้อย่างดีตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผู้อ่านติดตามเรื่องด้วยความเพลิดเพลินและตื่นเต้นตลอดเวลา



ในด้านของตัวละคร ตัวเอกของเรื่องมีเพียงสามคน คือ คอลลิน คันนิงแฮมชาวอเมริกัน นักแสวงโชคที่สร้างฐานะจากความฉลาดและฉกฉวยโอกาสแฝงด้วยความโลภ อุตส่าห์วางแผนเบียดบังทรัพย์สมบัติที่ปล้นมาได้เอาไปซ่อนไว้อย่างดีเพี่อไปเสวยสุขจากสมบัติที่ปล้นมาได้ ในที่สุดต้องจบชีวิตอย่างทรมานในถ้ำที่เกาะตะรุเตานั่นเอง



คนที่สองคือ ฮอร์กิน ทหารอังกฤษซึ่งมีความโลภ ความชั่วอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว เมื่อมาเป็นโจรสลัด จึงเป็นโจรได้เต็มรูปแบบ แม้จะวางแผนฮุบสมบัติที่ปล้นมาได้ แต่ก็ต้องจบชีวิตชั่วเพราะความโลภเช่นเดียวกัน



คนที่สามคือ ร้อยโท เควิน นอกซ์ นายทหารอังกฤษที่ทั้งฉลาด มีไหวพริบ และเป็นนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงยิ่ง โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และไม่เอนเอียง ไปเกลือกกลั้วกับความไม่ถูกต้อง ความชั่ว พร้อมที่จะต่อสู้ขัดขวางอีกด้วย เมื่อได้รับคำสั่งให้ตามจับฮอร์กินกับพวก นอกซ์ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ และบรรลุเป้าหมาย และได้ครองรักกับมาลาตี สาวชาวมาเลเซีย ที่เป็นทั้งคนรักและเป็นทั้งผู้ช่วยเหลือ ในบั้นปลายชีวิตความดีก็ตอบแทนคนทั้งสองอย่างเต็มที่ ตอนจบของนิยายเรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตา จึงจบแบบสุขนาฏกรรม หรือ Happy ending นั่นเอง



ส่วนตัวละครตัวอื่น ๆ ตั้งแต่ขุนอภิพัฒน์ นักโทษการเมือง ผู้คุม และคนอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ล้วนทำให้การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างเหมาะสมยิ่ง ขุนอภิพัฒน์นั้นในฐานะที่เป็นทั้งผู้บัญชาการเรือนจำ เป็นทั้งผู้ต้องรับผิดชอบความอยู่รอดของคนจำนวนเป็นพัน และต้องเผชิญปัญหาการต่อสู้ดิ้นรนที่ต้องตัดสินใจอย่างโดดเดี่ยว ทำให้แม้จะรู้ว่าขุนอภิพัฒน์ทำผิดแต่เป็นความผิดที่ผู้อ่านเห็นใจและประทับใจ



ฉาก ความโดดเด่นของ “โจรสลัดแห่งตะรุเตาอยู่ที่ฉาก” เพราะนอกจากจะจำลองสภาพชีวิต สภาพเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพของฟิลิปปินส์ มลายู และประเทศไทยแล้ว เกาะตะรุเตาและเกาะใกล้เคียงได้ฉายภาพออกมาให้เห็นอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสภาพของธรรมชาติอันโหดร้าย และเต็มไปด้วยอันตรายของเกาะตะรุเตา และฉากการปล้นเรือสินค้าของโจรสลัด รวมทั้งฉากการต่อสู้กันของตัวละครบนเกาะตะรุเตาล้วนทำให้ต้องติดตามอย่างดี



จุดเด่นของโจรสลัดแห่งตะรุเตาอีกประการหนึ่ง คือ ความเรียบง่ายในการใช้สำนวนภาษา ทั้งผู้แต่งใช้ภาษาอังกฤษ และผู้แปลที่ถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทย ใช้ภาษาที่เรียบง่ายและกระจ่างชัดเลยทำให้นวนิยาย เรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตาขายดี และเชื่อว่าจะมีการแปลออกเป็นหลาย ๆ ภาษาและยังจะเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกไปอีกนานทีเดียว

เรียบเรียง โดย ครูเฒ่า
นำลงวันที่ 12 ก.ค 2547



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

เก่งเกินครู |

คนภาคเหนือ |

โจรสลัดแห่งตะรุเตา|

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | นิทาน |

นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |

นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |

บั้งไฟพญานาค |

ประวัติวังหน้า | ปริศนาคำทาย|

เพลงไทย | เพลงไทยเดิม | พระราชวังเดิม |

พิษหอยมรณะ |

เมขลา-รามสูร |

วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |

สรรพลี้หวน | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา

| ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก หน้าหลัก