กำเนิดปลาโลมา


เรียบเรียงโดย เรไร  ไพรวรรณ์

นิทาน ประเภทอธิบายเหตุ (Explanatory tale)

เป็นนิทานที่มีอยู่ทุกชาติทุกภาษา เป็นเรื่องที่ผู้เล่าพยายามหาคำอธิบายข้อสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือกำเนิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละชุมชนนั้น ๆ นิทานเรื่องกำเนิดปลาโลมาเป็นนิทานพื้นบ้านเขมรเรื่องหนึ่ง ซึ่งพยายามอธิบายลักษณะทางกายภาพของปลาโลมาตามความคิด  ความเชื่อของชาวพื้นเมืองเขมร ผู้เขียนได้อ่านพบเรื่องนี้ในประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมรภาคที่ 4 ซึ่งรองศาสตราจารย์ประยูร  ทรงศิลป์ แปลไว้ (2540 : 393 – 398) เรื่องย่อมีดังนี้



   กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งแตกกิ่งก้านสาขาเป็นร่มเงาและมีรุกขเทวดาองค์หนึ่งสิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนั้น ผู้คนทั้งหลายในหมู่บ้านใกล้เคียง ต่างพากันมาเคารพและกลัวต้นไทรนี้ ในสมัยนั้นมีการสร้างศาลและมีรูปหินเป็นเพศหญิงและเพศชายประดิษฐานอยู่ในศาลนั้นเขาเรียกเจ้าพ่อในศาลนั้นว่า “เจ้าพ่อเมืองเก่า” และพากันมาบนบานและบวงสรวงด้วยเครื่องสักการะบูชาเป็นประจำเพื่อขอให้มีความสุขและอยู่กันอย่างมีความสุขตลอดมา



    อยู่มาวันหนึ่งเป็นคราวที่จะต้องบวงสรวงถวายเครื่องบูชาเจ้าพ่อเมืองเก่า ลูกสาววัยรุ่นของชาวบ้านซึ่งนับถือต้นไทรนั้น ให้นางนำอาหารคาวหวานไปถวายเจ้าพ่อแทนบิดามารดา รุกขเทวดาเห็นนางก็เกิดความรัก มีความรู้สึกเหมือนว่าพลัดพรากจากนางไปนานแล้วได้กลับมาพบกันใหม่ ยิ่งนานวันรุกขเทวดาก็ยิ่งรักใคร่นางมากขึ้นจนทนไม่ไหว จึงเหาะไปทูลให้พระอินทร์ทรงทราบ พระอินทร์ทรงเล็งทิพยญาณก็รู้ว่า เมื่อชาติปางก่อนนางเคยเป็นภรรยาของรุกขเทวดา และทั้งคู่เคยอธิษฐานร่วมกันว่า ขอให้ได้เป็นสามีภรรยากันทุกภพทุกชาติ เมื่อแก่ตัวลงรุกขเทวดาไปบวชเป็นดาบสจนตายแล้วไปเกิดเป็นรุกขเทวดา ส่วนนางภรรยาไปเกิดเป็นเทพธิดาแยกจากกันยังไม่มีโอกาสได้พบ เมื่อนางภรรยาจุติจากเทพธิดามาเกิดใกล้ที่รุกขเทวดาสามีอยู่ จึงทำให้รุกขเทวดานั้นรักใคร่นาง



แต่ด้วยเหตุที่มีเวรกรรมเพราะรุกขเทวดาหนีไปบวชเป็นดาบสทิ้งภรรยาให้ทนทุกขเวทนาอยู่ตามลำพัง เมื่อตายไปแล้วจึงไม่ได้พบกัน และเมื่อนางมาเกิดเป็นมนุษย์ จึงทำให้ไม่ได้พบหน้ากันอีก รุกขเทวดารู้เรื่องราวแต่หนหลังจากพระอินทร์แล้ว ก็คิดว่าถ้าจะไปกราบลาพระอินทร์ลงไปเกิดเป็นมนุษย์ในตอนนี้ก็ไม่สมควร เพราะว่าภรรยาไปเกิดและโตเป็นสาวรุ่นแล้ว สังขารของมนุษย์ก็ไม่ยืนยาวเหมือนเทวดา รุกขเทวดามีความทุก์โศกมาก คิดหาวิธีเท่าไรก็คิดไม่ออก ในที่สุดจึงตัดสินใจว่าจะต้องหาทางบอกให้นางรู้ว่านางเป็นภรรยาของรุกขเทวดามาแต่ชาติปางก่อน ถ้านางรู้แล้วชาตินี้นางก็ไม่น่าจะมีสามี



   เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว ณ ราตรีอันเงียบสงัด รุกขเทวดาจึงนิมิตกายเป็นงูเหลือมเลื้อยเข้าไปรัดกายนาง นางตกใจมากพยายามดิ้นเท่าไรก็ไม่หลุด  งูเหลือมเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้นางฟังนางก็ไม่เชื่อว่ารุกขเทวดาทำไมจึงเป็นงูเหลือมเช่นนี้ งูเหลือมจึงแปลงร่างคืนเป็นรุกขเทวดาทันที นางได้เห็นก็เกิดความรักเต็มหัวใจ และเชื่อแน่ว่าสามีตนเป็นรุกขเทวดาจริงๆ รุกขเทวดาบอกนางว่าต้องนิมิตกายเป็นงูจึงจะเข้าใกล้นางได้ พูดจบก็นิมิตกายเป็นงูเหลือมอีก  งูเหลือมเพียงแต่อยู่ร่วมกับนางเท่านั้น แต่ไม่เคยร่วมสังวาสนางเลย ทั้งยังห้ามนางไม่ให้บอกพ่อแม่พี่น้องตลอดจนคนบ้านใกล้เรือนเคียงว่าเป็นเทวดาให้รู้แต่เพียงว่าเป็นงูเหลือม และจะมาอยู่กับนางเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น และจะนิมิตร่างเทวดาให้เห็นทุกครั้ง



ใกล้รุ่งพ่อแม่ได้ยินเสียงคนพูดกันในห้องของลูกสาวจึงไปแอบดูเห็นงูเหลือมนอนขดอยู่เต็มห้องก็ตกใจส่งเสียงร้องดังลั่น รุกขเทวดารีบหลบหนีหายไป พ่อแม่เรียกลูกสาวมาถาม ลูกสาวก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พ่อแม่ฟัง และบอกว่าเทวดาที่เป็นสามีห้ามบอกว่าเป็นรุกขเทวดาให้บอกว่าเป็นงูเหลือม



   ครั้นยามดึกสงัดรุกขเทวดามาหาภรรยาและนิมิตกายเป็นเทวดาตามที่ให้สัญญาไว้ นางจึงจุดไฟสว่างขึ้นแล้วเข้าไปกอดสามีด้วยความรักความเสน่หา เมื่อได้ยินเสียงพูดกันพ่อแม่จึงแอบดูได้เห็นเทวดางดงามมากก็เกิดความรักเทวดานั้น รุกขเทวดารู้ว่าพ่อแม่แอบดูจึงนิมิตร่างเป็นงูเหลือมขดอยู่เต็มห้อง ใกล้รุ่งรุกขเทวดาบอกภรรยาให้พาพ่อแม่ไปขุดเอาทรัพย์สมบัติที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ได้เงิน ทอง เพชร พลอยมากมายก็ช่วยกันขนมาไว้ที่บ้าน เขากลายเป็นคนมั่งมี นานเข้าข่าวนี้ก็ล่วงรู้ไปถึงหูพวกชาวบ้านเขาพากันมาดูเห็นว่างูเหลือมนอนขดอยู่ในบ้านจริง



   ข่าวเรื่องนี้ร่ำลือไปถึงต่างหมู่บ้านครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกสาว ชายผู้เป็นสามีชื่นชม สรรเสริญความมีวาสนาของครอบครัวรุกขเทวดาและน้อยใจในวาสนาของตน พร่ำบ่นอยู่ทั้งเช้าค่ำ ภรรยาก็บอกสามีว่าได้ยินคนแก่ๆ เขาเล่าต่อๆ กันมาว่างูเหลือมมักจะอยู่ตามจอมปลวกใหญ่ๆ รักษาขุมทรัพย์ สามีภรรยาคิดกันตกลงว่า รุ่งเช้าจะรีบเข้าป่าไปหางูเหลือมมาให้ลูกสาวบ้าง



   ชายนั้นเดินเข้าป่าไปไม่นานนักก็ได้พบจอมปลวกใหญ่ ชะโงกดูเห็นงูเหลือมนอนขดอยู่บนยอดจอมปลวก งูนั้นผอมไม่มีแรงเพราะอดอาหารหิวโหยอยู่ แทบว่าจะขยับเขยื้อนตัวไม่ได้ แม้ว่าชายนั้นจะเอาไม้เคาะงูนั้นก็ไม่ขยับเขยื้อน ชายนั้นดีใจมากคิดว่างูตัวนี้ขุมทรัพย์แน่แล้ว จึงดึงเถาวัลย์มาผูกงูทั้งที่ยังนอนขดอยู่ จนพลบค่ำจึงไปถึงบ้านตะโกนเรียกลูกเมียให้ออกมารับ คุยอวดเมียว่า “งูมันไปดุหรอก ถ้าเอ็งไม่เชื่อลองไปจับดูซิ มันไม่ขยับตัวเลย” ภรรยาก็ลองยื่นมือไปแตะดูเห็นว่างู ไม่ขยับจริง ปากก็พูดสรรเสริญว่า ผิวพรรณงูเหลือมงดงามราวกับเพิ่งปิดทองมาใหม่ๆ งามกว่าผ้าไหมทีช่างเขาทอลวดลายงดงาม



   สามีใช้ภรรยาและลูกสาวไปฆ่าไก่และหุงหาอาหาร เพื่อจะเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายยาย จัดแจงให้ลูกสาวได้เป็นผัวเมียกับงูเหลือม สามีวิ่งไปซื้อเหล้า เมื่อใส่ถาดพร้อมแล้วก็เรียกพี่น้องมาช่วยกันเซ่นไหว้สั่งลูกสาวไปจัดที่นอนให้พร้อมสรรพ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีสติปัญญาก็ว่าชายคนนี้บ้า เมื่อพี่น้องและเพื่อนบ้านมากันพร้อมแล้วจึงยกเอางูเหลือมไปวางบนผ้าขาวที่ปูเตรียมไว้ แก้เถาวัลย์ที่มัดงูออกแล้วให้ลูกสาวไปนั่งคู่ งูเหลือมก็ยังขดอยู่เฉยๆ เพราะว่ามันยังไม่ได้กินอาหารอะไรเลย ชายนั้นก็สั่งให้ยกถาดอาหารไปวางไว้แล้วจุดธูปเทียนทำพิธีเช่นไหว้ผีปู่ย่าตายาย เทสุรา 3 ครั้ง แล้วเอาเครื่องเซ่นไหว้ใส่ลงจานใบหนึ่ง ยกเอาจานนั้นไปวางที่หน้าบ้านแล้วเรียกภูติผีให้มากินของเซ่นไหว้ ยกโตกและถาดอาหารออกมาข้างนอกแล้วดับไฟ ปล่อยให้ลูกสาวกับงูเหลือมอยู่กันตามลำพังในห้อง



นางนั้นคงจะกลัวอยู่เหมือนกันแต่จะออกนอกห้องก็กลัวพ่อแม่ด่าก็อดทนอยู่ต่อไป ส่วนพ่อแม่และบรรดาญาติมิตรต่างกินไก่ดื่มเหล้ากันอยู่ข้างนอกจนเวลาผ่านไปประมาณเที่ยงคืน งูเหลือมก็คลายขดออก มันเอาหางรัดมือทั้งสองของนางไว้แน่น หันหัวลงมาข้างใต้แล้วรวบขานางเข้าด้วยกัน มันอ้าปากกลืนท่อนขานางเข้าไป ทีแรกทางคิดว่านั้นต้องการจะร่วมประเวณีกับตนจึงได้ทำเฉยๆ ไม่ส่งเสียงร้อง นอนด้วยกันมาตั้งแต่เย็นก็ไม่เห็นมีอะไรจึงไว้ใจงูเหลือมหน่อยหนึ่งแล้ว เมื่อมันกลืนเข้าไปจนถึงหัวเข่า นางสงสัยว่างูมันคงจะกินตนแน่แล้ว จะลุกขึ้นก็ลุกไม่ได้เพราะหางงูมันรัดเอาไว้แน่น นางกลัวมากร้องตะโกนบอกแม่ว่า



                  “งูมันกินฉันแล้ว”
                   แม่ได้ยินเสียงลูกก็ตะโกนตอบกลับไปว่า
                  “อีผีบ้า ผัวเขาหยอกเอ็งทำเป็นทะลึ่งร้อง”
          ฝ่ายพ่อเมาหลับไม่ได้สติ เมื่องูกินนางไปถึงสะเอวนางร้องตะโกนบอกแม่ว่า
                   “แม่ๆ ช่วยฉันด้วยงูมันกินฉันถึงเอวแล้ว”
          แม่ยังด่าหนักขึ้นอีก
                   “อี ลูกจัญไร ไม่รู้จักอายเขา ถ้าไม่อยู่กับพวกแขกกูจะเข้าไปตีหัวกบาลมึงถึงที่นอนให้หัวมันแตกเสียคราวนี้แหละ”
          นางลูกสาวได้แต่ร้องว่า “แม่จ๋าช่วยฉันด้วย งูมันกินเข้าไปถึงหน้าอกฉันแล้ว”
          สักครู่เสียงร้องตะโกนว่า  “กินถึงคอแล้ว”
          แม่ได้ยินเสียงลูกร้องเบาลงไปก็ไม่ตอบ คิดว่าเงียบไปเพราะเขาหลับนอนกันจนกระทั่งงูกลืนถึงริมฝีปากลูกสาวตะโกนลาพ่อแม่ว่า
                   “ถ้าพ่อแม่ไม่ช่วยฉันๆ ก็จะขอลาตายแล้ว”



   แม่ฟังเสียงลูกได้ยินเสียงอู้อี้ๆ เพราะงูมันกลืนเข้าไปถึงริมฝีปากแล้วเสียงของลูกก็เงียบไป แม่นึกสงสัยจึงจุดไฟเข้าไปดู มองไม่เห็นลูก เห็นแต่งูเหลือมนอนท้องป่องตั้งท่อนล่างจนถึงกลางลำตัว นางแม่ก็ตะโกนร้องไห้โฮๆ ผู้คนบ้านใกล้เรือนเคียงแตกตื่นกันกลางดึก พ่อตื่นขึ้นก็เรียกชาวบ้านช่วยกันจับงูเหลือมขึงพืด เอามีดผ่าท้องเอาลูกสาวออกมาได้ นางนั้นนอนนิ่งเหมือนตายแล้วแต่ตัวยังอุ่นๆ อยู่ เนื้อตัวเปรอะเปื้อนด้วยเมือกงูเหม็นคาวคลุ้ง จะเอาน้ำมาล้างเท่าไรๆ ก็ล้างไม่หมด แม้ว่าจะต้มมาล้างก็ไม่หมด เมื่อเขาเอาน้ำอุ่นๆ มาล้างได้สักครู่นางก็รู้สึกตัวมองไปเห็นพี่น้องมากับเต็มบ้าน มองดูตัวเองเห็นเปื้อนเมือกงูเหม็นคาวคลุ้ง นางน้อยใจและอับอายมาก นางลุกขึ้นแล้วกระชากเอาขันใบหนึ่งครอบหัวเดินไปที่ท่าน้ำ ตักอาบเท่าไรๆ ก็ไม่หมดเมือกงู  นางคิดว่า



   “โอ้ตัวข้าเอ๋ย เป็นไปอย่างนี้แล้วจะอยู่เป็นผู้เป็นคนต่อไปก็อับอายผู้คนทั้งหลายเหลือเกิน สู้ตายเสียดีกว่า” คิดแล้วนางก็เอาขันครอบหัวเดินตรงไปยังริมฝั่งน้ำลึก กระโดดลงไปสิ้นใจตาย ก็ไปเกิดเป็นปลาโลมาตัวเมียทันที ส่วนปลาโลมาจึงมีรูปร่างเหมือนผู้หญิงเพียงแต่ไม่มีแขนขาและหัวเกลี้ยงเหมือนเอาขันครอบไว้ พ่อแม่จึงตามไปดูลูกที่ท่าน้ำนั้นแต่ไม่พบต่างก็พากันร้องไห้เศร้าโศกคร่ำครวญอยู่ริมฝั่งน้ำนั้น เมื่อกลับถึงบ้านก็พากับลากเอาซากงูเหลือมไปทิ้งที่ในป่าใหญ่เพราะคิดว่างูเหลือมตายแล้ว ต่อมางูเหลือมค่อยยังชั่วขึ้นมันตั้งใจว่าจะเลิกกินมนุษย์และสัตว์ที่ไม่มีขน ปัจจุบันนี้งูเหลือมจึงไม่กินมนุษย์และสัตว์ที่ไม่มีขนก็เพราะเหตุนี้เอง



   นิทานเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของนิทานอธิบายเหตุ ที่พยายามอธิบายให้คำตอบข้อสงสัยของมนุษย์ ถึงแม้คำตอบจะเป็นเรื่องของความเชื่อ ผสมผสานกับจินตนาการของผู้เล่านิทานก็ตาม แต่ก็ทำให้เนื้อเรื่องในนิทานมีความสนุกสนานชวนติดตามและสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของ กลุ่มชนผู้เป็นเจ้าของนิทาน  เห็นถึงความช่างสังเกตและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อมอย่างชัดเจน

หนังสืออ้างอิง

ประยูร   ทรงศิลป์. (แปล) (2542).  ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมรภาคที่
              1-9.  กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี.

เรไร   ไพรวรรณ์. (2551).  วรรณกรรมท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร : โครงการผลงานวิชา
              การมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีเฉลิมพระเกียรติ  เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จ
              พระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลั ราชภัฏธนบุรี


นำลงวันที่ 31 ม.ค 2554


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

เก่งเกินครู |

คนภาคเหนือ |

โจรสลัดแห่งตะรุเตา|

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | นิทาน |

นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |

นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |

บั้งไฟพญานาค |

ประวัติวังหน้า | ปริศนาคำทาย|

เพลงไทย | เพลงไทยเดิม | พระราชวังเดิม |

พิษหอยมรณะ |

เมขลา-รามสูร |

วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |

สรรพลี้หวน | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา

| ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก หน้าหลัก