วิจารณ์หนังสือ นวนิยายบันเทิงคดี
ชื่อเรื่อง

พิษหอยมรณะ

ผู้แต่ง ปองพล อดิเรกสาร

จากฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ The King Kong Effect by Paul Adirex แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด พ.ศ.2543 ราคา 198 บาท



พิษหอยมรณะ

เรื่องย่อ

วันกับชิดไปงมหาเปลือกหอยสังข์ที่ทะเลอันดามันระหว่าง เกาะหลีเปะ และเกาะลังกาวี ไม่ไกลจากภูเก็ตมากนัก ได้พบการระบาดของปลาดาวมงกุฎกำลังกินปะการังแบบทำลายราบ จึงแจ้งทางการ กองทัพเรือและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจึงส่งเจ้าหน้าที่มาปราบ มีพันตรีไบรอน กริฟฟอร์ดและสมานใจ ภรรยาอาสาช่วย เมื่อแบ่งทีมทำงานคนทั้งสองอยู่กับประชา บุญสม มีนาวาเอกสุวิทย์เป็นหัวหน้า บุญสมโชคร้ายถูกหอยเต้าปูนยิงศรพิษที่ข้อเท้าเกิดอาการคุ้มคลั่งและหัวใจวายตายที่บริเวณหินโต๊ะ



ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยปราบยาเสพติดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันทำให้นักค้ายาเสพติดไม่สามารถส่งยาเสพติดออกจากประเทศไทยไปยังสหรัฐ และยุโรปได้ ประธานาธิบดีฟิลลิป คาร์เวอร์ของสหรัฐพอใจจึงตกลงใจมาเยือนประเทศไทย อีกสามสัปดาห์จะถึง และจะพักผ่อนเป็นการส่วนตัวที่ภูเก็ต



สตีฟน้องชายของไบรอน พาชาร์ล็อตคู่หมั้นมากับเรือยอทต์ ที่มาจากสิงคโปร์ ทั้งคู่ลงเรือเล็กแยกจากคณะมาชมปะการังแล้วมาที่บริเวณหินโต๊ะ สตีฟจับหอยเต้าปูนขนาดใหญ่ได้ตัวหนึ่ง ยกขึ้นระดับคอหอย จึงยิงลูกศรอาบยาพิษเข้าที่คอ สตีฟคลั่ง และฆ่าคู่หมั้นแล้วเขาก็หัวใจวายตาย



กมลานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลสนใจและสงสัยอาการตาย จึงไปขอพบนายแพทย์พิพัทธ์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต นายแพทย์พิพัทธ์ให้ไปขออนุญาตไบรอนผู้เป็นพี่ชายที่โรงแรมฟิชชิ่งที่อ่าวฉลอง ไบรอนซึ่งกำลังเสียใจที่ภรรยาเพิ่งเสียชีวิตที่ถนนราชดำเนิน เพราะโดนกระสุนลูกหลงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อฟังเรื่องพิษหอยเต้าปูนและปฏิกิริยาคิงคองคลั่งฆ่าคนตายก่อนหัวใจวายจากกมลา จึงยินดีอนุญาตและช่วยเหลือ กมลาพิสูจน์แล้ว ก็พบลูกศรพิษของหอยเต้าปูนอยู่ที่คอของสตีฟจริงๆ



กมลาขอร้องให้ไบรอนนำเรือยอทต์ของเขาพาเธอไปที่หินโต๊ะและช่วยกันหาหอยเต้าปูนมาได้สามตัวจากที่มีอยู่ในท้องทะเลหลายตัว กมลานำหอยมาผ่าดูถุงบรรจุลูกศรและถุงน้ำพิษ เก็บน้ำพิษใส่หลอดแก้วไว้และนำมาทดลองกับหนู ที่สมคนงานของศูนย์ชีววิทยาทางทะเลนำมาให้ พอหนูกินเนื้อแห้งชุบสารพิษก็คลั่งและตาย การทดลองกมลาถ่ายวีดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน



สมแอบดูการทดลองของกมลาและไบรอน รู้ที่ซ่อนของสารพิษจึงแอบขโมยไปส่วนหนึ่งแล้วเอาน้ำเติมแทนไว้ ลางานนำสารพิษไปนัดพบกับมาลีคนรักที่ตีตัวออกห่างจะแต่งงานกับศักดิ์ สมนัดทั้งคู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ใกล้ที่ทำงานของมาลี สั่งอาหารและใส่สารพิษไว้ล่วงหน้า พอมาลีกับศักดิ์มาและกินอาหาร ศักดิ์คลั่งฆ่ามาลีที่โต๊ะอาหารแล้วก็หัวใจวายตายด้วยกัน สมแอบหลบออกมาและกลับภูเก็ต กมลาเล่าการตายให้ไบรอนฟัง ไบรอนสืบจนรู้ว่าสมเป็นตัวการแต่ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์



สุรชัยนักค้ายาเสพติดปรึกษากับซันตีนี นักค้ายาเสพติดระดับโลก เพราะไม่สามารถส่งยาเสพติดได้ การค้ายาเสพติดกระเทือนและขาดผลประโยชน์มหาศาล ซันตีนีจึงวางแผนสังหารประธานาธิบดีฟิลลิป คาร์เวอร์ โดยขอให้สุพจน์น้องชายสุรชัยหามือปืนชั้นยอดมาจำนวนหนึ่ง ฝ่ายอาเล็กซ์ เฉิน นักสะสมเปลือกหอยอยากได้เปลือกหอยเต้าปูนมาก จึงไปหาเสริมซึ่งเล่าเรื่องเข็มถูกไบรอนไล่ออกจากงานเพราะเปิดเผยความลับที่เขากับกมลาได้หอยเต้าปูนมาโดยเข็มทราบเรื่องนี้จากสม เฉินไปสอบถามกมลาแต่ถูกปฏิเสธ



ด้านรัฐบาลไทยได้ให้นิติ ผู้บัญชาการ ปปส.ติดตามสุรชัยและซันตีนี จึงส่งสามารถและรัตนาติดตามพฤติกรรม ทางสหรัฐได้ส่งมือปราบของเอดีบี ชื่อเวลตัน และวาตานาเบมาช่วยอีกด้วย เมื่อรู้ว่าซันตีนี่มาพบสุรชัยที่กรุงเทพแล้วกลับไปภูเก็ตอีกก็ให้รัตนาและสามารถตามไป สุรชัยรีบตามซันตีนีมาที่ภูเก็ตรายงานเรื่องรายละเอียดการพักผ่อนของประธานาธิบดีที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ลากูนา และส่งข่าวเรื่องบุญมาพนักงานโรงแรมที่จะให้ความร่วมมือ



      ซันตินีมาศึกษาเรื่องพิษหอยเต้าปูนที่ศูนย์ชีววิทยาทางทะเลกับกมลา สุรชัยส่งชาญกับสมไปค้นหาหอยที่กมลาซ่อนแต่ไม่พบ จึงรายงานซันตินีและให้สุพจน์กับพวกจับกมลาและไบรอนบังคับให้นำเรือยอทส์ของไบรอนไปที่หินโต๊ะเพื่อให้งมหอยเต้าปูนให้ โดยซันตินีตามไปควบคุม เฉินรู้ข่าวออกเรือติดตามไป รัตนาและสามารถก็ขอเครื่องบินลาดตระเวนติดตามเช่นกัน เฉินพบกับซันตินีได้เจรจากับซันตินีเฉินขอเปลือกหอย ซันตินีขอพิษหอย กมลาและไบรอนงมหอยเต้าปูนมาหนึ่งตัว เส็งคนเรือโดนลูกศรของหอยเกิดปฏิกิริยาคิงคองตาย ตกกลางคืนกมลาและไบรอนแอบหนีจากเรือมาได้ ส่วนเฉินให้คนของตัวดำน้ำงมหอยเต้าปูนมาได้อีกหนึ่งตัว จึงให้พิษซันตีนีตัวเองได้เปลือกหอยไป



กมลาและไบรอนมาพบวาตานาเบ รัตนาและสามารถ ไบรอนเล่าเรื่องการใช้ยาพิษสังหารประธานาธิบดีตามที่คิด ต่อมาทั้งสองถูกนุชากับพวกจับไปฆ่าปิดปาก แต่รอดมาและรัตนากับสามารถก็ช่วยอีกครั้งจากการดักยิงของมือปืนชุม รัตนาจับชุมไปสอบหาความจริง ซันตีนีรู้จึงตัดสินใจทำงานด้วยตนเองกับบุญมา ให้สุรชัยและสุพจน์ย้ายออกจากโรงแรมเพื่อเบนความสนใจจากเจ้าหน้าที่ไทย ส่วนรัตนาและไบรอนหลบการตามล่าไปพักผ่อนที่เกาะปันหยี เมื่อรัตนาส่งข่าวเรื่องชุมไม่ยอมเปิดปากทั้งสองจึงอาสาช่วยและรีบกลับภูเก็ต แล้วพากันนำหอยที่ซ่อนไปขู่ชุม ชุมเคยเห็นพิษหอยฆ่าเพื่อนมาแล้วจึงเปิดเผยแผนการของซันตีนี รัตนารีบรายงานวาตานาเบและวางแผนขัดขวาง ไบรอนและกมลาอาสาช่วยด้วย ไบรอนขอให้ตรวจสอบประวัติคนงานเพราะสงสัยบุญมา พิมเจ้าหน้าที่จึงไปพบหัวหน้าคือเชพชมิตต์



ฝ่ายซันตีนีปลอมตัวเป็นเชพชมิตต์เข้าไปกับบุญมา ให้บุญมาเอายาพิษใส่ลงในน้ำสลัด แล้วนำไปเสิร์ฟประธานาธิบดีและภรรยา แบร์ดีและรอยสันฝ่ายรักษาความปลอดภัยตรวจ แบรดีชิมอาหารจึงเกิดปฏิกิริยาคิงคองฆ่ารอยสัน แจ๊คสันยิงแบรดีแต่ถูกยิงสวนตาย แบร์ดีหันไปยิงประธานาธิบดี ขณะบาดเจ็บ เทตฝ่ายรักษาความปลอดภัยเพื่อนแบรดีจึงตัดสินใจยิงแบรดีตาย ซันตินียกปืนเล็งไปที่ประธานาธิบดี ไบรอนเข้ามาทันกระโดดคร่อมร่างประธานาธิบดีและภรรยาล้มลง กระสุนปืนซันตีนีพลาดเป้า รัตนายิงซันตีนีหกนัดซ้อนตายทันที



หลังเหตุการณ์ช่วงบ่ายไบรอนขับรถออกมาจอดบริเวณโรงแรมเพื่อนำหอยเต้าปูนไปปล่อยที่เดิม รัตนาลงไปเขียนโน๊ตนัดเพื่อน ไบรอนลงไปซื้อหนังสือพิมพ์ สุพจน์ขับรถมาเทียบมีสุรชัยนั่งมาด้วยกำลังหาโอกาสเปลี่ยนรถยนต์เพื่อหนีไปพม่า เห็นรถของไบรอนจอดติดเครื่องอยู่จึงรีบลงจากรถ และขับรถของไบรอนหนีไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างทางสุรชัยมองเห็นกล่องหอยเต้าปูนของกมลาอยู่เบาะหลังนึกว่าเป็นกล่องอาหารจึงล้วงมือลงไป หอยเต้าปูนยิงลูกศรอาบยาพิษใส่มือ ไม่นานปฏิกิริยาคิงคองก็เกิดจึงคลั่งบีบคอสุพจน์น้องชายที่กำลังขับรถ รถเสียหลักพุ่งตกจากสะพานสารสินลงช่องแคบตายทั้งคู่



จากเหตุการณ์ช่วยชีวิตประธานาธิบดีและภรรยา นอกจากกมลาและไบรอนจะได้รับเกียรติร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเป็นการส่วนตัวแล้ว ประธานาธิบดีก็ยังตั้งศูนย์วิจัยสัตว์ทะเลให้ประเทศไทย ให้กมลาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ไบรอนและกมลาตกลงแต่งงานกันอย่างมีความสุข

วิเคราะห์นวนิยายเรื่อง พิษหอยมรณะ

นิยาย เรื่องพิษหอยมรณะ ของปองพล อดิเรกสารเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่อง The King Kong Effect by Paul Adirex  ผู้แปลคือ วิภาดา  กิตติโกวิท เป็นนวนิยายนักสืบซึ่งย่อมเป็นเรื่องตื่นเต้นและชวนให้ติดตามตลอดเวลา นิยายเรื่องนี้พิมพ์เป็นครั้งที่ 3  ถ้าดูจากปีที่พิมพ์จะเห็นว่า พ.ศ. 2541 พิมพ์ครั้งที่ 1 และ พ.ศ. 2542 พิมพ์ครั้งที่ 2 แสดงให้เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านอย่างน่าประทับใจ เพราะหนังสือจำหน่ายหมดในเวลาค่อนข้างรวดเร็ว

      ในด้านของภาษาและท่วงทำนองการเขียนจัดว่าเป็นภาษาที่เรียบง่าย สื่อสารกับผู้อ่านได้ดี ทั้งต้นฉบับภาษาอังกฤษและทั้งสำนวนการแปลของวิภาดา กิตติโกวิทถือได้ว่าเข้าถึงภาษาและลีลาหรือท่วงทำนองการเขียน สำนวนที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยมีโครงสร้างภาษาติดเนยน้อยมาก ผู้อ่านติดตามเรื่องได้ค่อนข้างง่าย เพราะเขียนด้วยสำนวนไทยที่เรียบร้อยดี



      ในด้านของฉาก ส่วนใหญ่จะใช้ฉากของภูเก็ตและทะเลอันดามันแถวเกาะหลีเป๊ะ เกาะบูตัง ซึ่งผู้เขียนมีความชำนาญภูมิประเทศทางทะเลอันดามันและเกาะภูเก็ตอยู่แล้ว จะเห็นได้จากการใช้ฉากในนิยายเรื่อง โจรสลัดแห่งตะรุเตาเป็นเครื่องยืนยัน ดังนั้นฉากต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่หินโต๊ะและที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูนาหรือสถานที่ต่างๆ ที่เกาะภูเก็ตจึงเป็นฉากที่กลมกลืนไปกับการดำเนินเรื่องได้ดี



      ในการดำเนินเรื่อง นิยายเรื่องพิษหอยมรณะแบ่งออกเป็น 26 บทหรือตอน แต่ละตอนได้ผูกเรื่องและเหตุการณ์โดยวางจุดจบของแต่ละตอนให้เป็นทั้งส่วนการสร้างปมและคลายปมเชื่อมโยงกันตลอดเรื่อง จึงชวนให้ติดตาม



      ในด้านความสมเหตุสมผล การวางเรื่องให้ประธานาธิบดีมาเยี่ยมประเทศไทยเพราะเรื่องยาเสพติด และไปพักผ่อนเป็นการส่วนตัวกับภรรยาที่ภูเก็ต รวมทั้งการวางแผนสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนักค้ายาเสพติด ดูจะอ่อนไปในด้านความสมเหตุสมผล ยิ่งการหามือสังหารและการฆ่ามือปืนหลายคนพร้อมๆ กันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยก็ถือว่าอ่อนไปหน่อย แต่ก็เป็นเงื่อนไขให้สุรชัยคิดวิธีวางยาพิษ ซันตินีรับความคิดและหาพิษหอยเต้าปูนอันเป็นต้นเค้าของเรื่อง ปฏิกิริยาคิงคองซึ่งเป็นแกนหลักของเรื่องคือพิษหอยเต้าปูนที่จะทำให้ผู้ได้รับพิษฆ่าคนข้างเคียงแล้วลงเอยที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ชิมอาหารโยงไปถึงเหตุการณ์เกือบจะฆ่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ ซึ่งเป็นจุดจบของเรื่อง นับว่าเป็นจุดจบที่ตื่นเต้นจบลงด้วยความพอใจของผู้อ่าน เลยทำให้ส่วนที่เป็นจุดอ่อนพลอยดีไปด้วย



      ตัวละครเด่นๆ ในเรื่องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับเรื่องทุกตัว แม้ตัวละครบางตัวจะเข้ามาในฉากแล้วหายไปเช่นเฉินนักค้าเปลือกหอย แต่ก็ออกไปในจังหวะที่คนไม่สนใจพอดี

      ส่วนตัวเอกของเรื่องคือ กมลาและไบรอน ผู้เขียนสร้างตัวละครได้ดี เพราะมีประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม ที่จะเป็นตัวดำเนินเรื่องเกี่ยวกับพิษหอยมรณะทั้งเรื่อง เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าคนทั้งสองจะเกี่ยวข้องกับตัวละครใด เหตุการณ์ใด มีความลื่นไหลไปตามเหตุการณ์อย่างน่าตื่นเต้นและเหมาะสมดีที่สำคัญ นิยายเรื่องนี้จบลงด้วยความสมหวังจึงเป็นนิยายที่จบแบบสุขนาฏกรรม (Happy Ending) ที่คนไทยชื่นชอบถือได้ว่า ”พิษหอยมรณะ” เป็นนิยายที่น่าอ่านเล่มหนึ่งทีเดียว

โดย ครูเฒ่า
นำลงวันที่ 11พ.ค 2547



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

เก่งเกินครู |

คนภาคเหนือ |

โจรสลัดแห่งตะรุเตา|

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | นิทาน |

นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |

นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |

บั้งไฟพญานาค |

ประวัติวังหน้า | ปริศนาคำทาย|

เพลงไทย | เพลงไทยเดิม | พระราชวังเดิม |

พิษหอยมรณะ |

เมขลา-รามสูร |

วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |

สรรพลี้หวน | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา

| ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก หน้าหลัก