เพลง หมายถึง สำเนียงที่ขับร้อง ทำนองดนตรี กระบวนวิธีรำดาบรำทวน ชื่อเพลงร้องแก้กัน แบบอย่าง ชั้นเชิง (พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530:386)
เพลงไทย หมายถึง เพลงที่คนไทยนิยมขับร้องสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมหมายถึงการบรรเลงดนตรีด้วย เพลงไทยมีคำที่แสดงถึงกลุ่มย่อยของเพลงอีกหลายคำ เช่น เพลงไทยเดิม เพลงกล่อมเด็ก เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงปรบไก่ เพลงโคราช เพลงสวด เพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงเพลงไทยโดยจะเริ่มที่เพลงครู ซึ่งถือว่าเป็นเพลงสำคัญหรือเพลงศักดิ์สิทธิ์ทางด้านดนตรีไทยก่อน ดังนี้
เพลงหน้าพาทย์ หากจะจัดกลุ่ม ถือได้ว่าเป็นเพลงอยู่ในกลุ่มเพลงไทยที่เป็นเอกลักษณ์เป็นเพลงที่ใช้วงดนตรีบรรเลง และถือว่าเป็นเพลงศักดิ์สิทธิ์ เป็นเพลงครูในด้านวิชาดนตรีไทย มักใช้บรรเลงในพิธีไหว้ครู หากบรรเลงในการแสดงโขน ละคร ก็มักเกี่ยวข้องกับเทวดา ฤาษี ยักษ์ เป็นต้น
เพลงหน้าพาทย์ หมายถึง เพลงประเภทหนึ่งที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยา นั่ง กิน นอน เดิน หรือเหาะ ของเทพฯ คน สัตว์ สิ่งของ อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้จัดลักษณะและความหมายของเพลงหน้าพาทย์ไว้ดังนี้
1. เพลงหน้าพาทย์ที่ไม่มีตัวตน อันจัดเป็นนามสมมติในปัจจุบัน คือ เพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงประกอบในการบูชา คารวะ และอัญเชิญ เทพฯ เทวดา ครู คนธรรพ์ ยักษ์ ลิง โดยไม่ปรากฏตัวตนให้เห็น เป็นเพียงสมมติว่าท่านเหล่านั้นได้มาตามเพลงที่บรรเลงนั้น ๆ ซึ่งเป็นกิริยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่
ก. กลุ่มเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครู ดนตรีไทย และโขนละคร เช่น
- สาธุการกลอง
- ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ - ตระพระปรคนธรรพ์ - ตระพระคเนศร์ - ตระองค์พระพิราพ - บาทสกุนี - ตระเชิญ - ดำเนินพราหมณ์ - พราหมณ์เข้า - พราหมณ์ออก |
- เสมอเถร - เสมอมาร - เสมอสามลา - โคมเวียน - กราวนอก - กราวใน - ตระเทวาประสิทธิ์ - ตระประทานพร - นั่งกิน - เซ่นเหล้า ฯลฯ |
เพลงหน้าพาทย์ประเภทนี้เป็นเพลงที่มีกำเนิดมาแต่โบราณ ไม่ทราบนามผู้แต่ง ทราบกันแต่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครูทองดี หรือปู่ทองดี ชูสัตย์ บรมครูทางดนตรีไทยของบ้านดนตรีสำนักท่านครูจางวางทั่วพาทยโกศล เป็นผู้มีเพลงหน้าพาทย์มากที่สุดท่านหนึ่ง และได้ต่อเพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ไว้ให้แก่ศิษย์ในสมัยนั้นมากมายหลายท่าน จากคำบอกเล่าของอาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร แม้แต่ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ก็ได้เชิญปู่ทองดี ชูสัตย์ มาต่อเพลงหน้าพาทย์ให้กับท่าน และครูมนตรี ตราโมท ก็ได้ต่อเพลงหน้าพาทย์องค์ พระพิราพเต็มองค์จากปู่ทองดี ชูสัตย์เหมือนกัน เพลงหน้าพาทย์ในระยะแรก พบว่าได้มีการบรรเลงประกอบการแสดงโขนและละครมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงพบหลักฐานในตำราพิธีไหว้ครูของหลวง ว่ามีเพลงหน้าพาทย์เข้าบรรเลงประกอบในพิธีไหว้ครูแล้ว แต่ ยังมีไม่มากนัก มาพบว่ามีเพลงหน้าพาทย์ประกอบในพิธีไหว้ครูมากในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเขียนเป็นตำราหลวงไว้ และใช้บรรเลงกันมาเป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบันนี้
ข. กลุ่มเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงแสดงความคารวะ และเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพฯ เทวดา คนธรรพ์ ยักษ์ ให้เสด็จลงมา ณ สถานที่ที่จะกระทำพิธีอันเป็นมงคล เพื่อมาอำนวยอวยชัย เพลงประเภทนี้ได้แก่เพลงชุด
- โหมโรงเย็น
- โหมโรงเช้า
- โหมโรงกลางวัน
- โหมโรงเทศน์
โหมโรงเย็น
โหมโรงเย็น เป็นเพลงประเภทหนึ่งที่คณาจารย์ได้นำเพลงหลาย ๆ เพลง มาบรรเลงติดต่อกันเป็นชุด ใช้บรรเลงเป็นอันดับแรกของงาน แต่ละเพลงเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาอัญเชิญ และคารวะ อันมีความหมายทั้งสิ้น แต่เดิมมีชุดโหมโรงเย็น และโหมโรงเช้า ใช้บรรเลงประกอบในงานพิธีอันเป็นมงคล เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานโกนจุก งานบวชนาค หรืองานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นต้น
ประเพณีไทยในอดีต เมื่อจะจัดงานอันเป็นมงคลนิยมหาวงปี่พาทย์มาบรรเลงประกอบงานพิธี และเพลงที่วงปี่พาทย์จะบรรเลงเป็นอันดับแรกก็คือ เพลงชุดโหมโรง ถ้าเป็นงานเริ่มในตอนเย็น วงปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงชุดโรงเย็น ถ้าเริ่มในตอนเช้าก็จะเป็นเพลงชุดโหมโรงเช้า ซึ่งมีความหมายสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
เป็นการกราบคารวะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นั้น และเป็นการอัญเชิญเทพยดาเสด็จลงมาประชุมสโมสร เพื่ออำนวยชัยให้แก่งาน
เพื่อประกาศให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟังรู้ว่า จะมีงานอันเป็นมงคลเกิดขึ้น ณ บัดนี้ บรรดาญาติสนิท มิตรสหายจะได้มาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้ให้คำอธิบายความหมายของเพลงชุดโหมโรงเย็นแต่ละเพลงไว้ ดังนี้
ความหมายของเพลงชุดโหมโรงเย็น
เพลงสาธุการ หมายถึงการน้อมกายและใจอภิวันทนาการ แด่พระรัตนตรัย ตลอดจนทวยเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยความเคารพ
เพลงตระ เพลงตระนี้ โบราณใช้เพลง ตระสันนิบาติ อันเป็นเพลงที่มีความหมาย กล่าวแทนคำชุมนุมเทวดา เช่น พระภิกษุสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา เมื่อจะเริ่มพิธีงานใดอย่างหนึ่ง ก็นิยมกล่าวชุมนุมทางวาจาด้วยคาถาที่ว่า สัคเค กาเม…..ซึ่งนับเป็นการเหมาะสมที่สุด ต่อมาภายหลังผู้บรรเลงเห็นว่ายังมีเพลงตระอีกมาก จะใช้เพลงตระสันนิบาติเพลงเดียวเป็นการซ้ำซ้อน จึงเปลี่ยนมาใช้เพลงตระอื่น ๆ บรรเลงแทน และถือปฏิบัตินิยมกันต่อมา โดยเริ่มต้นด้วยการนำเอาเพลงตระหญ้าปากคอก ตระปลายพระลักษณ์ ตระมารละม่อมก่อน ต่อจากนั้นจะแยกไปใช้เพลงตระอื่น ๆ ได้อีกตามความพอใจ แต่ความหมายของเพลงก็คงเป็นดังที่ถือกันมาแต่เดิม คือเป็นการชุมนุมเทวดา
เพลงรัวสามลา คำว่า ลา ในคำศัพท์สังคีตหมายถึงว่า จบหรือครั้ง ฉะนั้น 3 ลา จึงหมายถึง 3 ครั้ง ซึ่งใช้เป็นเพลงประกอบกิริยาแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ในที่นี้จะหมายถึงการกราบ 3 ครั้ง หรือแทนการกล่าวคาถา ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัพภะทันตา…ในท้ายชุมนุมเทวดาซ้ำเป็น 3 ครั้ง
เพลงต้นซุบ หรือเพลงต้นเข้าม่าน ตั้งแต่เพลงนี้เป็นต้นไปจะหมายถึงเทพเจ้า เฉพาะเพลงนี้จะหมายถึงบริวารที่มีหน้าที่เข้าไปกราบทูลเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ให้รู้ว่า บัดนี้มีผู้เชิญมา
เพลงเข้าม่าน เป็นเพลงประกอบกิริยาเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่เข้าสู่ พระวิสูตร เพื่อเตรียม องค์ไปสู่มณฑลพิธีตามคำที่เชิญ
เพลงปฐม หมายถึงการจัดขบวนเทพนิกรที่จะโดยเสด็จท้ายปฐม
เพลงลา เป็นการแสดงว่าการจัดขบวนนั้นเรียบร้อยแล้ว
เพลงเสมอติดรัว ในที่นี้เป็นเพลงประกอบกิริยาเทพเจ้าเสด็จออกจากวิมาน
เพลงเชิด 2 ชั้น หมายถึง การมาของเทพเจ้าและคนธรรพ์
เพลงเชิดชั้นเดียว หมายถึง การมาของเทพเจ้าและคนธรรพ์
เพลงกลม หมายถึงการเสด็จมาของเทพเจ้าผู้สูงศักดิ์ เช่น พระอิศวร หรือ พระนารายณ์
ชำนาญ เพลงนี้เป็นเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยานิมิตสิ่งต่าง ๆ ให้มีขึ้น แต่ในที่นี้จะหมายถึงการประสาทพรของเทพเจ้า
เพลงกราวใน หมายถึงการเสด็จมาของเทพเจ้าฝ่ายอสูร เช่น ท้าวกุเวร ท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น
เพลงต้นชุบ (บางแห่งเรียกว่าปลายเข้าม่าน) การบรรเลงเพลงนี้ซ้ำอีก จะหมายถึง การประจุคมของเทพเจ้าของพิธี เป็นการแสดงว่าจบคำอัญเชิญเทพเจ้า และเทพเจ้าเสด็จมาพร้อมแล้ว
(สมาน น้อยนิตย์ 2542:20-22)
สมาน น้อยนิตย์ “เพลงหน้าพาทย์.” วารสารวังหน้า. 2,3 (ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2542):20-22.
อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทย
นางนากพระโขนง |
นิทานภาคใต้ |
เพลงไทย |
สรรพลี้หวน |
ประวัติวังหน้า |
คนภาคเหนือ |
เมขลา-รามสูร |
ปริศนาคำทาย|
เก่งเกินครู |
พระราชวังเดิม |
วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |
สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา |
บั้งไฟพญานาค |
เพลงไทยเดิม |
นิทาน |
นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน
ฮวงจุ้ย |
พิษหอยมรณะ |
โจรสลัดแห่งตะรุเตา|
ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน |
นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |
นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา |
นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
หน้าหลัก