“วังหน้า” ที่ปรากฏในยุครัตนโกสินทร์นี้ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพุทธศักราช 2325 และได้ยกเลิกตำแหน่งนี้เมื่อ “วังหน้า” พระองค์สุดท้ายคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทิวงคต เมื่อพุทธศักราช 2428 ในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมเวลาที่มีตำแหน่ง “วังหน้า” ในสมัยรัตนโกสินทร์ 103 ปี

     วังหน้า เป็นชื่อที่สามัญชนชอบ ใช้เรียกพระมหาอุปราช ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตราพระราชกำหนดศักดินาพลเรือนขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2009 ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เปลี่ยนนามวังที่ประทับของพระมหาอุปราชให้สูงขึ้นเสมอพระราชวังหลวง เรียกว่า พระราชวังบวรสถานมงคล เหตุที่สามัญชนเรียก พระราชวังบวรสถานมงคลว่า วังหน้า อธิบาย ได้ 3 ประการดังนี้ ประการที่ 1 หมายถึงวังที่ตั้งอยู่ข้างหน้าของพระราชวังหลวง สมัยอยุธยา ครั้งเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นพระมหาอุปราช ประกาศอิสรภาพพ้นการเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว เสด็จมาประทับในพระนครศรีอยุธยา ทรงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ทางด้านหน้าของพระราชวังหลวง จึงถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งวังที่ประทับของพระมหาอุปราช ประการที่ 2 ลักษณะการจัดขบวนทัพออกรบ ทัพของพระมหาอุปราชจะยกออกเป็นทัพหน้า เรียกว่าฝ่ายหน้า และเรียกวังที่ประทับของแม่ทัพว่า วังฝ่ายหน้า และย่อเป็นวังหน้าในที่สุด ประการสุดท้าย วังหน้าจะปรากฏเรียกเฉพาะในเวลาที่บ้านเมืองมีพระมหาอุปราชเท่านั้น สมัยธนบุรี ไม่มีตำแหน่ง พระมหาอุปราช จึงไม่ปรากฏว่ามี วังหน้าในสมัยนั้น



วังหน้า ระหว่าง ปี พ.ศ. 2325-2346

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพุทธศักราช 2325 โปรดให้พระยาจิตรเสวี และพระยาธรรมธิกรณ์ เป็นแม่กองย้ายชุมชนชาวจีนไปอยู่บริเวณวัดสามปลื้มและวัดสามเพ็ง เพื่อใช้ที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้จากวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) จรดวัดสลัก (วัดมหาธาตุ) ในการสร้างพระบรมหาราชวัง (วังหลวง) และโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชยาติกรรมที่ดินบางส่วนของวัดสลักไปทางเหนือจรดคลองโรงไหม (บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร) เพื่อสร้างเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ทรงเป็นพระมหาอุปราชที่มีความสามารถในการรบเป็นอย่างยิ่งเป็นที่เลื่องลือ ในบรรดานักรบต่างชาติ เช่น พม่า ในนามของพระยาสุรสีห์ หรือพระยาเสือ ทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช เป็นเวลา 21 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อพุทธศักราช 2346 ในสมัยของพระองค์พื้นที่วังหน้าด้านเหนือติดกับคลองคูเมือง เป็นสำนักชี เรียกกันว่า วัดหลวงชี เพราะเป็นที่จำศีลของ นักชี มารดาของนักองค์อี ซึ่งเป็นพระชายา ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยนาฎศิลป



วังหน้า ระหว่างปี พ.ศ. 2349-2360

     หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สวรรคต ตำแหน่งพระมหาอุปราช ว่างลงเป็นเวลา 3 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงแต่งตั้ง พระโอรส คือ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นพระมหาอุปราช แต่ทรงประทับที่พระราชวังเดิม (ที่ทำการกองเรือยุทธการในปัจจุบัน) ทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราช 3 ปี พุทธศักราช 2352 เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ 2 ของสมัยรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสถาปนาพระอนุชาธิราชให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ทรงพระนาม กรมพระราชวังบวรเสนานุรักษ์ พระองค์ได้ช่วยสมเด็จพระเชษฐาปฏิบัติราชการอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้เพราะพระเชษฐา คือพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นกวีและศิลปิน พระองค์สนพระทัยในเรื่องศิลปะ วรรณคดีและนาฎศิลป์เป็นอันมาก ฉะนั้น พระอนุชาจึงต้องช่วยแบ่งภาระในการบริหารราชการไปเป็นส่วนมาก ทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราชเป็นเวลา 8 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อพุทธศักราช 2360 ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างลงจนสิ้นรัชกาล

วังหน้า ระหว่างปี พ.ศ. 2367-2375

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพุทธศักราช 2367 โปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหาศักดิ์พลเสพ ดำรงพระยศพระมหาอุปราช พระองค์เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้มีการรื้อและสร้างอาคารต่าง ๆ ภายในพระราชวังบวรฯอย่างมาก โปรดให้สร้างวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้าขึ้น ตรงบริเวณที่เคยเป็นสำนักชีเมื่อครั้งสมัยกรมพระราชวังบวรพระองค์แรก และรื้ออกทำเป็นสวนกระต่ายเมื่อสมัยกรมพระราชวังบวรเสนานุรักษ์ ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ยังตั้งเด่นเป็นสง่าแก่วิทยาลัยนาฎศิลป พระองค์ทรงดำรงพระยศพระมหาอุปราชเป็นเวลา 8 ปี เสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 2375 จากนั้นตำแหน่งพระมหาอุปราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ว่างลงเป็นเวลา 18 ปี



วังหน้า ระหว่างปี พ.ศ. 2394-2408

     พุทธศักราช 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงแต่งตั้งพระอนุชา เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช และให้มีพระเกียรติยศเทียบเท่าพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานบวรราชาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวต่างประเทศเรียกว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง พระองค์สนพระทัย เรื่องปืน การสร้างเรือกลไฟ เรือรบ โปรดการทหาร การกีฬาดนตรี ตลอดจนการศึกษาภาษาอังกฤษ โปรดขนบธรรมเนียมและความเป็นอยู่อย่างชาวตะวันตก ทรงปฏิสังขรณ์ต่อเติมและสร้างพระราชมณเฑียรใหม่ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ จากพระอุโบสถวัดพระแก้ว วังหลวง กลับมาไว้ที่วังหน้าดังเดิม (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) โปรดให้ช่างวาดจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ และประวัติอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ไว้ที่ผนังในพระอุโบสถและพระราชทานนามว่า วัดบวรสถานสุทธาวาส สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงดำรงราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อพุทธศักราช 2408 ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างลงอีกครั้งเป็นเวลา 3 ปี

วังหน้า ระหว่างปี พ.ศ. 2411-2428

     พุทธศักราช 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ คณะเสนาบดี และพระบรมวงศานุวงศ์ได้อัญเชิญ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดำรงพระยศพระมหาอุปราช ทรงมีคุณานูปการต่องานช่างทุกแขนง ทรงอุปถัมภ์ช่างฝีมือเอกรวบรวมไว้ในวังหน้า ฝีมือช่างวังหน้าจึงเป็นฝีมือชั้นสูงในงานศิลปะหลายแขนง จนได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่าง พระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นเวลา 17 ปี เสด็จทิวงคตในปีพุทธศักราช 2428 เป็นวังหน้าองค์สุดท้ายของประเทศไทย



     วันที่ 4 กันยายน 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดให้ประกาศพระราชกฤษฎีกายกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช และโปรดให้จัดเขตวังหน้าขึ้น นอกริมน้ำด้านตะวันตกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ ขยายเขตวังชั้นนอกด้านทิศตะวันออกเป็นท้องสนามหลวง หลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรป พุทธศักราช 2440 โปรดให้ขยายส่วนของสนามหลวงขึ้นไปทางเหนือรวมทั้งรื้อป้อม และอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม รอบ ๆ วัดบวรสถานสุทธาวาสลง คงเหลือแต่ตัวพระอุโบสถไว้ และโปรดให้ใช้พระอุโบสถเป็นพระเมรุพิมานสำหรับประดิษฐานพระบรมศพ เวลาสมโภช และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแทนพระเมรุใหญ่ท้องสนามหลวง และปลูกพระเมรุน้อยที่พระราชทานเพลิงต่อออกไปทางด้านเหนือ เมื่อเจ้านายวังหน้าสิ้นพระชนม์เหลืออยู่น้อยพระองค์ จึงโปรดให้เสด็จไปอยู่ในพระราชวังหลวง ส่วนพื้นที่วังหน้านอกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานนั้น โปรดให้กระทรวงกลาโหมดูแลรักษาต่อมา

     พุทธศักราช 2475 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลกำหนดการศึกษาของชาติให้คนไทยมีสิทธิขั้นพื้นฐานให้ ได้รับการศึกษา อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของชาติสืบไป พระบรมราชวังของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานทั้ง 5 พระองค์ ได้ใช้เป็นสถาบันการศึกษา และสถานที่ราชการ คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ และวิทยาลัยนาฎศิลป ซึ่งล้วนเป็นสถาบันที่บ่งบอกความเป็นอารยะของชาติ

(อรนุช ทัดติ 2541:5)

อรนุช ทัดติ. “ประวัติวังหน้า.” วารสารวังหน้า. 1,1 (ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2541):5.



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | เพลงไทย | สรรพลี้หวน | ประวัติวังหน้า | คนภาคเหนือ | เมขลา-รามสูร | ปริศนาคำทาย| เก่งเกินครู | พระราชวังเดิม | วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา | บั้งไฟพญานาค | เพลงไทยเดิม | นิทาน | นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ฮวงจุ้ย | พิษหอยมรณะ | โจรสลัดแห่งตะรุเตา| ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม | นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
หน้าหลัก หน้าหลัก