ตามความหมายในหนังสือ สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคคีตะ-ดุริยางค์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2540 : 114-116) กล่าวว่า
เพลงประเภทหนึ่งที่ใช้บรรเลงในการแสดงกิริยาของมนุษย์ สัตว์ วัตถุ หรือธรรมชาติ ทั้งกิริยาที่มีตัวตน กิริยาสมมติ กิริยาที่เป็นปัจจุบัน และกิริยาที่เป็นอดีต เช่น บรรเลงในการแสดงกิริยา ยืน เดิน กิน นอน ของมนุษย์และสัตว์ การเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นหรือสูญไปของวัตถุและธรรมชาติ
การบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ในการแสดงกิริยาที่เป็นปัจจุบัน มีทั้งกิริยาที่มีตัวตนและกิริยาสมมติ การบรรเลงในการแสดงกิริยาที่มีตัวตน เช่น บรรเลงเพลงคุกพาทย์ เมื่อโขนตัวหนุมานรำทำท่าทางแผลงอิทธิฤทธิ์หาวเป็นดาวเป็นเดือน การบรรเลงในการแสดงกิริยาสมมติ เช่น บรรเลงเพลงเสมอในการแสดงกิริยาของพระลักษมณ์ที่เสด็จออกจากที่เฝ้าเข้าสู่ห้องสรง แม้จะไม่มีตัวพระลักษมณ์ออกมารำจริงๆ หรือในการไหว้ครูโขน-ละคร และดนตรี ขณะที่ผู้เป็นประธานกล่าว โองการเชิญเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง เป็นต้นว่าพระประคนธรรพ เมื่อกล่าวจบก็บอกให้ปี่พาทย์บรรเลงเพลงตระประคนธรรพ เพลงตระประคนธรรพที่ปี่พาทย์บรรเลงจึงสมมติว่า เป็นการแสดงกิริยาที่พระประคนธรรพเสด็จมาในขณะนั้น
การบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ในการแสดงกิริยาที่เป็นอดีต มีแต่กิริยาสมมติ เช่น การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการเทศนามหาเวสสันดรชาดก หรือเทศน์มหาชาติ ตามประเพณีเมื่อพระเทศน์จบลงกัณฑ์หนึ่งๆ ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงเพลงตามกิริยาของท้องเรื่องในกัณฑ์ที่จบลงนั้น เช่น กัณฑ์กุมาร ปี่พาทย์จะต้องบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งโอด (คือเพลงเชิดฉิ่งกับโอดสลับกัน) ซึ่งแสดงกิริยาของพระกุมารชาลี กับกัณหาที่ถูกชูชกบังคับให้เดิน โดยเฆี่ยนตีขู่เข็ญไปตลอดทาง พระกุมารทั้ง 2 ก็วิ่งบ้าง เดินบ้าง ร้องไห้บ้าง ตามเนื้อเรื่องที่พระได้เทศน์จบไปแล้วนั้น
นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์แสดงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น บรรเลงเพลงไส้ตอนดอกบัวลอยน้ำ บรรเลงเพลงรัวตอนภูเขาระเบิด
เพลงหน้าพาทย์มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ที่เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงคือ ตะโพน และกลองทัด กล่าวคือ เพลงใดที่มีตะโพนและกลองทัดบรรเลงควบคู่กัน ถือว่าเป็นเพลงหน้าพาทย์ทั้งสิ้น
เพลงหน้าพาทย์แบ่งระดับความสำคัญออกได้เป็น
3 ระดับ คือ
1. เพลงหน้าพาทย์ธรรมดา ใช้กับตัวละครชั้นสามัญทั่วไปที่ไม่มีความสำคัญมากนัก
เช่น เพลงเสมอ
2. เพลงหน้าพาทย์ชั้นกลาง ใช้กับตัวละครที่มีความสำคัญมากขึ้น
เช่น เพลงเสมอข้ามสมุทร เพลงเสมอเถร เพลงเสมอมาร
3. เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ใช้กับตัวละครที่สูงศักดิ์
เช่น เพลงบาทสกุณี (เสมอตีนนก) เพลงดำเนินพราหมณ์
การเรียกเพลงประเภทนี้ว่า "หน้าพาทย์" น่าจะมาจากศิลปินฝ่ายโขนละครเป็นผู้เรียกก่อน เพราะการร่ายรำเข้ากับเพลงประเภทนี้ ผู้รำจะต้องยึดถือจังหวะทำนองเพลง หน้าทับ และไม้กลองของเพลงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องรำให้มีทีท่าเข้ากันสนิทกับทำนองและจังหวะ ต้องมีความสั้นยาวพอดีกับเพลง ต้องถือว่าเพลงที่บรรเลงเป็นหลัก เป็นหัวหน้า เป็นสิ่งที่จะต้องรำตาม เมื่อผู้รำต้องการจะหยุดหรือเปลี่ยนเพลง ก็ต้องให้พอเหมาะกับประโยค หรือหน้าทับ หรือไม้กลองของเพลง จะรำป้องหน้าหรือเปลี่ยนไปตามความพอใจไม่ได้ จึงเรียกเพลงประเภทนี้ว่า "เพลงหน้าพาทย์" และเรียกการรำนี้ว่า "รำหน้าพาทย์"
ครู หมายถึง เทพเจ้าชั้นสูง รวมเทวดาเบื้องล่าง เพลงที่ใช้ในการเชิญครูประกอบพิธีไหว้ครูโขนละครของคุณครูทองสุข ทองหลิม มี 42 เพลง การตีความหมายนี้อาศัยจากการสัมภาษณ์ อ.ประสิทธิ์ ถาวร (2540) และเหตุการณ์ที่ใช้เพลงในพิธีไหว้ครู เมื่อเริ่มพิธีกรรม ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตามลำดับดังนี้
1. เพลงสาธุการ
ประธานในมณฑลพิธีไหว้ครูจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยเริ่มพิธีกรรม
2. เพลงพราหมณ์เข้า
ครูผู้ประกอบพิธีไหว้ครูเดินไปยืนปลายผ้าขาวที่ปูลาดไว้และรำจำนวน
5 ท่า อัญเชิญพราหมณ์เดินเข้ามณฑลพิธี มือถือสังข์ที่บรรจุน้ำมนต์ เพื่อประพรมน้ำมนต์ให้เป็นสิริมงคลและผู้เข้าร่วมพิธีไหว้ครูทั่วบริเวณมณฑลพิธี
3. เพลงมหาฤกษ์
เชิญประธานในงานเริ่มจุดเทียนชัย เทียนทอง เทียนเงิน
และจุดธูปเพื่อบูชาพระรัตนตรัยให้เป็นสิริมงคลแก่บรรดาศิษย์ที่ร่วมพิธีไหว้ครู
4. เพลงตระเทวะประสิทธิ์
ครูผู้ประกอบพิธีภาวนาคาถาบารมีพระเจ้าทัง
10 ทิศ และขอพรจากเทพเจ้า
5. เพลงโหมโรง
ครูผู้ประกอบพิธีนำเทียนขาวติดปากขัน ภาวนาคาถาปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์
เริ่มอ่านโองการอัญเชิญเทพเจ้าชุมนุมเทวดา เชิญครูเข้าตัวและเข้าสู่ในมณฑลพิธีไหว้ครู
6. เพลงสาธุการกลอง
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงสาธุการกลองอัญเชิญเทวดาทุกองค์
เสด็จลงมาประชุมพร้อมเพรียงกันบนมณฑลพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลในวันประกอบพิธีไหว้ครู
7. เพลงตระเชิญ
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระเชิญ อัญเชิญพระอิศวรเสด็จลงมาร่วมเป็นปฐมฤกษ์ในมณฑลพิธี
พระอิศวรคือเทพที่ออกแบบท่ารำทั้ง 108 ท่า ในขบวนการร่ายรำในโลกมนุษย์
8. เพลงตระนารายณ์บรรทมสินธิ์
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระนารายณ์บรรทมสินธิ์
อัญเชิญพระนารายณ์มาร่วมประชุมในมณฑลพิธี เชื่อว่าพระนารายณ์สามารถปราบมารต่างๆ
หรือช่วยขจัดอันตรายและอุปสรรคได้
9. เพลงกลม
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงกลม อัญเชิญพระพรหมและพระอินทร์
เสด็จลงมาร่วมชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
10. เพลงคุกพาทย์
หรือเรียกตระพิฆเณศ
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงคุกพาทย์ ตระพิฆเณศ
อัญเชิญพระพิฆเณศวรมาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู โดยถือว่าท่านเป็นบรมครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาฟ้อนรำ
11. เพลงตระพระปรคนธรรพ
ประธานผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระพระปรคนธรรพ
อัญเชิญพระปรคนธรรพ รวมเทวดาทางดนตรีไทย และเทวดาทางนาฎศิลป์มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
12. เพลงเสมอสามลา
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเสมอสามลา อัญเชิญพระวิศวกรรม
มาในมณฑลพิธีไหว้ครู
13. เพลงเหาะ
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเหาะ อัญเชิญพระปัญจสิงขร
นางฟ้า มาในมณฑลพิธีไหว้ครู
14. เพลงโคมเวียน
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงโคมเวียน อัญเชิญเทพเทวดา
นางฟ้าทุกพระองค์มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
15. เพลงช้า
- เพลงเร็ว
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงช้าเพลงเร็ว ครูพระ
ครูนาง ผู้ล่วงลับไปแล้ว ทั้งหมดมาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
16. เพลงแผละ
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงแผละ อัญเชิญเทพเทวดาที่อยู่ในอากาศ
เช่น สัตว์ปีกจำพวกนก เช่น พระยาครุฑ นกสดยุ กากนาสูรและสัตว์ปีกอื่นๆ มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
17. เพลงโล้
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงโล้ อัญเชิญเทพเทวดาที่อยู่ในน้ำทุกๆ
พระองค์ มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
18. เพลงดำเนินพราหมณ์
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงดำเนินพราหมณ์ อัญเชิญพราหมณ์ทุกองค์
มาชุมนุมในมณฑลพิธี เช่น พระภรตฤาษี พระนารทฤาษี พระฤาษีกไลยะโกฎิ พระฤาษีโคตบุตร
และฤาษีทั้ง 108 มาชุมนุมในมณฑลพิธี
19. เพลงกราวนอก
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงกราวนอก เชิญพระยาวานร
หรือลิงทุกๆ ตัว เช่น สุครีพ พาลี ชมภูพาน หนุมาน ชามพูวราช องคต นิลพัท นิลนนท์
พญาวานรและเหล่าลิง 18 มงกุฎต่างๆ
20. เพลงรุกร้น
และ 21. เพลงเสมอข้ามสมุทร
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงรุกร้น และเพลงเสมอข้ามสมุทร
เชิญพวกวานรและพระรามพระลักษณ์ ยกทัพมายังริมฝั่งน้ำ กริยาท่าทางการเคลื่อนไหวใช้เพลงรุกร้น
และเพลงเสมอข้ามสมุทร
22. เพลงบาทสกุณี
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงบาทสกุณี ใช้ในการจัดทัพหรือการเคลื่อนตำแหน่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งของกษัตริย์
23. เพลงกราวใน
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงกราวใน ใช้ในการออกตรวจพล
หรือจัดทัพของฝ่ายยักษ์
24. เพลงเสมอมาร
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเสมอมาร เชิญยักษ์ที่มีตำแหน่งสูง
เคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เช่น ใช้กับทศกัณฐ์ กุมภกรรณ แสงอาทิตย์
25. เพลงเสมอผี
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเสมอผี ใช้เชิญครูอาจารย์ที่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ให้มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
26. เพลงพระพิราพเต็มองค์
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงพระพิราพเต็มองค์
อัญเชิญพระพิราพ ซึ่งมีพระอิทธิฤทธิ์ มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครู
27. เพลงตระสันนิบาต
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระสันนิบาต อัญเชิญพวกเทวดาทุกๆ
พระองค์ ให้มาชุมนุมในมณฑลพิธีไหว้ครูเพื่อพร้อมเพรียงกัน
28. เพลงเสมอเถร
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเสมอเถร เพื่อเชิญศีรษะพระภรตฤษีมาสวม
ประธานผู้ประกอบพิธีถือไม้เท้าเดินไปยืนอยู่ที่ปลายผ้าขาว แล้วรำเข้าสู่ในมณฑลพิธีไหว้ครู
เพื่อทำพิธีครอบแก่บรรดาศิษย์ทางนาฎศิลป์ทุกคน
29. เพลงลงสรง
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงลงสรง อัญเชิญพระภรตฤษีกลับมานั่งที่ตั่งหน้ามณฑลพิธี
เชิญพระเทวกรรม พระไสยศาสตร์ ได้แก่ พระอิศวรปากนาฎราช พระนารายณ์บรรทมสินธิ์
พระพิฆเณศ และพระสยามเทวาธิราชลงในพานแก้ว แล้วทำการสรงน้ำด้วยสังข์ ประธานใช้พิธีสรงน้ำ
30. เพลงเสมอเข้าที่
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเสมอเข้าที่ กล่าวอัญเชิญครูโขน
ละคร ครูดนตรี ครูช่าง ครูศิลปะทั้งหลาย ครูพักลักจำ ครูปัธยาย เจ้าของสถานที่พระเสื้อเมือง
พระทรงเมือง พระสยามเทวาธิราช เข้ามาประทับตามที่ที่ได้จัดไว้
31. เพลงเชิด
(ถวายเครื่องสังเวย)
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงถวายเครื่อง เพื่อให้ศิษย์ทุกคนถวายเครื่องสังเวย
โดยยกถามเครื่องสังเวยรำ นำโดยประธานผู้ประกอบพิธีและศิษย์เท่าจำนวนเครื่องสังเวย
คาว หวาน ผลไม้ที่มีทุกชิ้น
32. เพลงดาบเชือดหมู
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงดาบเชือดหมู ศิษย์ทั้งหลายช่วยกันตัดเครื่องสังเวย
เพื่อนำใส่กระทงแล้วนำไปวางไว้นอกมณฑลพิธีด้านทั้ง 4 ทิศ ในกระทงแบ่งเครื่องสังเวย
ได้แก่ หัวหมูดิบ หัวหมูสุก เป็ดดิบ เป็ดสุก ไก่ดิบ ไก่สุก ไข่เป็ดดิบ ไข่เป็ดสุก
ปลาช่อนดิบ ปลาช่อนสุก ปูทะเลดิบ ปูทะเลสุก กุ้งใหญ่ดิบ กุ้งใหญ่สุก กล้วยน้ำหว้า
มะพร้าวอ่อน บายศรีปากชาม เหล้าโรง หมูนอนตอง เครื่องในหมูดิบ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว
ขนมหูช้าง ขนมเล็บมือนาง โรตี กาแฟ และขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมถ้วยฟู ขนมหม้อแกง
ขนมจันอับ น้ำปลา น้ำส้ม น้ำพริกเผา พริกแกง ผักกาดหอม ต้นหอม ข้าวตอก หมากพลู
บุหรี่ไทย กัญชา นมสด เนยสด อ้อยมัดเล็ก ผลไม้ ทุเรียน แบ่งไปอย่างละเล็กน้อยครบทุกอย่าง
และถ้าครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงรำดาบเชือดหมู ครูผู้ประกอบพิธีต้องรำ
33. เพลงนั่งกิน
และ 34. เพลงเซ่นเหล้า
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงนั่งกิน และเพลงเซ่นเหล้า
อัญเชิญเทพเจ้ามารับเครื่องสังเวย อันได้แก่ เหล้า บุหรี่ ของที่นำมาถวายในมณฑลพิธี
ถ้ามีเวียนเทียนให้เริ่มเบิกแว่นเทียนในเวลาเดียวกัน
35. เพลงเสมอสามลา
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเสมอสามลา หมายถึงการที่พระภรตฤาษีมาประกอบพิธีครอบครูให้แก่สานุศิษย์
36. เพลงมหาฤกษ์
และ 36. เพลงมหาชัย
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย เริ่มพิธีครอบศิษย์ที่จะครอบมาพร้อมด้วนขันกำนัลถวายครู
ครูเริ่มครอบด้วยหน้าพระภรตฤาษี หน้าพระพิราพ หน้าเทริด หน้าพระราม แล้วพรมน้ำมนต์เจิมที่หน้าผากสวมมงคล
ทัดใบไม้มงคล ทำเช่นนี้ทุกคนจนกระทั่งหมดจำนวนศิษย์ที่เข้ามาครอบ มอบอาวุธพระขรรค์
กระบอง ตรี จักร คธา เป็นการอนุญาติให้ได้รับเป็นกรรมสิทธิ์ในการรำเพลงหน้าพาทย์ที่ต้องใช้อาวุธรำ
จนกระทั่งหมดจำนวนศิษย์ที่จะครอบ
37. เพลงช้า
- เพลงเร็ว
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงช้าเพลงเร็ว รำถวายมือเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ศิษย์
ผู้ที่หัดท่าลิงยักษ์ ให้ออกแม่ท่าลิงและท่ายักษ์ จบรำถวายมือเพลงช้าเพลงเร็วแล้วประธานผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงตระนิมิตร
บาทสกุณี คุกพาทย์ และหน้าพาทย์อื่นๆ ถือเป็นการต่อท่ารำหน้าพามย์ที่ครบถ้วยสมบูรณ์ที่ผ่านการต่อท่ารำหน้าพาทย์
ณ ที่นี้ ถือว่ามีสิทธิ์ในการรำหน้าพาทย์อื่นๆ ต่อไป
การรำถวายมือ
หมายถึง การอัญเชิญเทพเทวดาทั้งหลายมาให้ศีลให้พรแก่บรรดาศิษย์ และศิษย์ทั้งหลายจึงได้จัดการแสดงการร่ายรำต่อหน้าพวกเทวดาให้เป็นศิริมงคลแก่ศิษย์ เช่น เพลงช้าเพลงเร็วสำหรับตัวพระและตัวนาง ลิงต่างๆ ให้ออกแม่ท่าเฉพาะท่าลิงยักษ์ เช่น ยักษ์ในกรุงลงกา และยักษ์ต่างเมือง และบริวารยักษ์ให้ออกแม่ท่าของยักษ์ ที่ได้กำหนดไว้ในกระบวนการรำเพลงหน้าพาทย์ เพลงช้าและเพลงเร็วการต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์
เมื่อครูพิจารณาแล้วเห็นควรต่อท่ารำหน้าพาทย์ให้แก่ศิษย์ในมณฑลพิธี สำหรับศิษย์ที่จะเรียนเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง ครูจะประสิทธิ์ประสาทให้แต่เฉพาะผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความทรงจำดีเพราะ เพลงชั้นสูงโดยเฉพาะเพลงหน้าพาทย์ถือกันว่าจะต้องบรรเลงให้ถูกต้องทุกครั้ง จะบรรเลงตกๆ หล่นๆ ขาดไปบ้างหลงลืมไปบ้างไม่ได้ โดยเฉพาะเพลงองค์พระพิราพ ต้องระมัดระวังในเรื่องการบรรเลงมาก เพราะถ้าบรรเลงไม่ครบถ้วนกระบวนเพลงแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความอัปมงคลแก่ตัวเอง ภาษาโบราณก็ว่า "อัปรีย์" ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการต่อท่ารำเพลงครูในโอกาสนี้ จึงถือเป็นการได้รับมอบความรู้ในกระบวนการรำชั้นสูง การรำเพลงหน้าพาทย์ก็เพื่อให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายได้สืบทอด และอนุรักษ์ศิลปะวัฒนะธรรมไทยให้รุ่งเรืองตลอดไป
เพลงหน้าพาทย์ที่จะต่อให้แก่ศิษย์ในพิธีไหว้ครู ได้แก่ เพลงตระนิมิต เพลงตระบองกัน เพลงชำนาญ เพลงคุกพาทย์ เพลงรัวสามลา เพลงเสมอลา และยังมีอีกมากมาย เพลงตระนิมิต ชำนาญ ตระบองกัน หมายถึงการแปลงกายของตัวละครตัวหนึ่งไปอีกรูปแบบหนึ่ง ใช้ในการแสดง เช่น มารีศแปลงเป็นกวาง ทศกัณฐ์แปลงเป็นฤษีแดง เพลงคุกพาทย์ หมายถึง การแสดงอิทธิฤทธิ์ของสุครีพ หนุมาน เพลงรัวสามลา ใช้บรรเลงประกอบการแสดงโขน เช่น ตอนสุครีพเปิดอุโมงค์ หนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือน และเพลงเสมอลามลายังใช้ในโอกาส องค์กษัตริย์และอนุชาออกจากท้องพระโรงไปยังจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
38. เพลงพราหมณ์ออก
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงพราหมณ์ออก ประธานผู้ประกอบพิธีหันหน้าออกจากมณฑลเดินไปจนสุดปลายผ้าขาว รำจำนวน 3 ท่า เชิญพระภรตฤษีออกจากพิธี
39. เพลงพระเจ้าลอยถาด
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงพระเจ้าลอยถาด ถือว่าเสร็จพิธีไปด้วยดี40. เพลงโปรยข้าวตอก
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงรำนำโปรยข้าวตอก ดอกไม้ อาจารย์และศิษย์โปรยข้าวตอก หน้าที่ตั้งศีรษะบรรดาครูทั้งหลาย เพื่อขอขมาและขอบคุณที่บรรดาครูอาจารย์ได้ช่วยให้พิธีกรรมดำเนินไปด้วยดีไม่มีอุปสรรค
41. เพลงกราวรำ
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงกราวรำ เพื่อให้ศิษย์รำถวายมือส่งครูกลับ
42. เพลงเชิด (ส่งครู)
ครูผู้ประกอบพิธีเรียกเพลงเชิด อัญเชิญครูกลับไปยังที่ประทับ
ตารางแสดงลำดับการเรียกเพลงหน้าพาทย์และ ความหมายของเพลงหน้าพาทย์ในพระตำราไหว้ครูโขนละครของคุณครูทองสุข ทองหลิม
ลำดับ
|
ชื่อเพลงหน้าพาทย์
|
ความหมาย
|
1
|
พราหมณ์เข้า
|
หมายถึงครูผู้ประกอบพิธีไหว้ครู สมมุติตนเป็นพราหมณ์ผู้ทรงศีลเข้าสู่มณฑลพิธิ แล้วขออนุญาติให้บริเวณนั้นเป็นสถานที่ประกอบพิธิ |
2
|
มหาฤกษ์ | เป็นมหาฤกษ์มงคลในขณะจุดเทียนเงิน เทียนทอง และเทียนชัย |
3
|
สาธุการ | เป็นการบูชาพระรัตนตรัย |
4
|
ตระเทวาประสิทธิ์ | เป็นการขอประทานพรจากเทพเจ้า เป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เสด็จลงมาในพิธีแล้วขอ |
5
|
โหมโรง | ประทานความศักดิ์สิทธิ์ลงในน้ำมนต์ เป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ |
6
|
สาธุการกลอง | อัญเชิญพระอิศวร |
7
|
ตระเชิญ | อัญเชิญพระนารายณ์ |
8
|
ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ | อัญเชิญพระพรหม |
9
|
กลม | อัญเชิญพระคเณศ |
10
|
ตระพระคเณศ หรือ คุกพาทย์ หรือ ตระบองกัน หรือ ชำนาญ | |
11
|
ตระพระปรคนธรรพ | อัญเชิญพระปรคนธรรพ |
12
|
เสมอสามลา | อัญเชิญพระวิศวกรรม |
13
|
เหาะ | อัญเชิญพระปัญจสิงขร |
14
|
โคมเวียน | อัญเชิญเทพบุตร เทพธิดาทั้งหลาย |
15
|
เพลงช้า-เพลงเร็ว | อัญเชิญครูโขนละคร พระ-นาง |
16
|
แผละ | อัญเชิญครูที่อยู่ในอากาศ |
17
|
โล้ | อัญเชิญครูที่อยู่ในน้ำ |
18
|
ดำเนินพราหมณ์ | อัญเชิญครูฤาษี นักบวชต่างๆ |
19
|
กราวนอก | อัญเชิญครูวานร |
20
|
บาทสกุณี | อัญเชิญครูพระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุด |
21
|
รุกร้น | อัญเชิญครู พระ ลิง มนุษย์ |
22
|
เสมอข้ามสมุทร | อัญเชิญครู พระ ลิง มนุษย์ มาเป็นหมวดหม |
23
|
กราวใน | อัญเชิญครูฝ่ายอสูร |
24
|
เสมอมาร | อัญเชิญครูทศกัณฐ์ พญามารทั้งหลาย |
25
|
เสมอผี | อัญเชิญครูผีทั้งหลาย |
26
|
พระพิราพเต็มองค์ | อัญเชิญพระพิราพ |
27
|
ตระสันนิบาต | อัญเชิญครูที่เสด็จมาร่วมประชุมทุกพระองค์ |
28
|
เสมอเถร | อัญเชิญพระภรตฤาษี เสด็จมาในมณฑลพิธี |
29
|
ลงสรง | อัญเชิญพระเทวกรรม พระไสยศาสตร์ มาสักการะด้วยการสรงน้ำ |
30
|
เสมอเข้าที่ | อัญเชิญครูทั้งหลายเข้าประทับตามที่ ที่ได้จัดเตรียมไว |
31
|
เชิด (ถวายเครื่องสังเวย) | ครูรำนำศิษย์ถวายเครื่องสังเวย กระยาบวช |
32
|
รำดาบเชือดหมู | การถวายเครื่องสังเวย |
33
|
นั่งกิน | ครูทั้งหลายเสวยเครื่องสังเวย |
34
|
เซ่นเหล้า | ครูทั้งหลายดื่มสุรา น้ำฯ |
35
|
เสมอสามลา | พระภรตฤาษีมาประกอบพิธีครอบและรับมอบให้กับสานุศิษย์ |
36
|
มหาฤกษ์-มหาชัย | เกิดความสวัสดิมงคลในพิธีครอบและรับมอบ |
37
|
เพลงช้า เพลงเร็ว และเพลงหน้าพาทย์อื่นๆ | เป็นการรำถวายมือ แสดงฝีมือให้ครูได้ตรวจสอบทวน |
38
|
พราหมณ์ออก | การเสด็จกลับของพระภรตฤาษี หลังเสร็จสิ้นพิธีครอบ |
39
|
พระเจ้าลอยถาด | เป็นการอธิฐานจิตอุทิศผลแห่งความที่ได้เกิดขึ้นในครั้งนี้ ให้กับครูทุกๆ ท่าน |
40
|
โปรยข้าวตอก | เป็นการสักการะครูด้วยข้าวตอกดอกไม้ |
41
|
กราวรำ | ครูรำนำศิษย์ รำส่งครูกลับทิพยวิมาน |
42
|
เชิด | เทพยดา ครูอาจารย์กลับสู่ทิพยวิมาน |
4. ท่ารำเพลงหน้าพาทย์การรำของครูผู้ประกอบพิธีในพิธีไหว้ครูโขน-ละคร
พิธีไหว้ครูโขน-ละคร ครูผู้ประกอบพิธีมีความสำคัญสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบพิธีไหว้ครู ด้วยการอ่านโองการบูชาครู เชิญครูลงมาสิงสถิตในมณฑลพิธี และถวายเครื่องสังเวยกระยาบวช เป็นการพลีกรรมให้กับครูที่เป็นเทพเจ้า มนุษย์ อสูรและวานร ตลอดจนภูตผีปีศาจทั้งสิ้น ในขณะประกอบพิธีผู้ประกอบพิธีจะต้องรำเพลงหน้าพาทย์สำคัญหลายเพลง ทั้งนี้เป็นการรำที่เป็นบทบาทเฉพาะตัวและรำนำศิษย์ หน้าพาทย์ต่างๆ นั้น มีความหมาย 2 ประการคือ
1. ความหมายที่เป็นการแสดงความคารวะบูชาของศิษย์ที่มีต่อครู ได้แก่ หน้าพาทย์เชิด (ถวายเครื่อง) ซึ่งเป็นการถวายเครื่องพลีกรรม หน้าพาทย์โปรยข้าวตอก เป็นการสมโภชบูชาด้วยข้าวตอก ดอกไม้ และหน้าพาทย์กราวรำ (รำส่งครู) เป็นการแสดงความยินดีที่การประกอบพิธีไหว้ครู สำเร็จลุลวงด้วยดี บทบาทการรำในตอนนี้ กล่าวได้ว่าเป็นบทบาทของผู้ประกอบพิธีซึ่งในขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะศิษย์
2. ความหมายที่เป็นการแสดงบทบาทพระภรตฤาษี ที่เสด็จมาประกอบพิธี เช่น หน้าพาทย์พราหมณ์เข้า เป็นการเข้ามาสู่มณฑลพิธีของพระภรตฤาษี (ปัจจุบันมีความหมายถึงการสมมุติเป็นพราหมณ์ผู้ทรงศีลเข้ามาสู่มณฑลพิธี) หน้าพาทย์เสมอเถร เสมอสามลา เป็นการเข้ามาเพื่อประกอบพิธีครอบ หน้าพาทย์พราหมณ์ออกเป็นการกลับไปสู่ทิพวิมาน บทบาทการรำในตอนนี้เป็นบทบาทของพระถรตฤาษี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการรำในบทบาทของเทพเจ้า มิใช่เป็นการรำที่มีความหมายถึงผู้ประกอบพิธี
ความสำคัญของการรำในขณะประกอบพิธี มิใช่เพียงองค์ประกอบในการไหว้ครูโขนละครเท่านั้น แต่เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของการประกอบพิธี เป็นการสร้างบรรยากาศให้การประกอบพิธีมีความสมจริง ความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ของการประกอบพิธี คือการแสดงความกตัญญูด้วยการบวงสรวงบูชา
ในบทนี้จะเป็นการวิเคราะห์ กระบวนท่ารำและความหมายเพลงหน้าพาทย์ที่ครูผู้ประกอบพิธีร่ายรำในการประกอบพิธีไหว้ครู โดยการสัมภาษณ์ อ. ประเมษฐ์ บุณยะชัย (2545) การสังเกตในพิธีไหว้ครู และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ท่ารำเพลงหน้าพาทย์ที่ปรากฎอยู่ในพระตำราไหว้ครูโขนละครของคุณครูทองสุข ทองหลิม ประกอบด้วย 7 เพลง หน้าพาทย์ คือ
1. เพลงหน้าพาทย์พราหมณ์เข้า
2. เพลงหน้าพาทย์พราหมณ์ออก
3. เพลงหน้าพาทย์เสมอเถร
4. เพลงหน้าพาทย์เสมอสามลา
5. เพลงหน้าพาทย์เชิด (ถวายเครื่องสังเวย)
6. เพลงหน้าพาทย์โปรยข้าวตอก
7. เพลงหน้าพาทย์กราวรำ
(วีรพล ดิษเกษม 2545 : 71-80)
หนังสืออ้างอิง
วีรพล ดิษเกษม. "พระตำราไหว้ครูโขนละคร
: มรดกทางวัฒนธรรมและการสืบทอด
กรณีศึกษาพระตำราไหว้ครูโขนละคร ของ คุณครูทองสุข ทองหลิม"
ภาคนิพนธ์สาขาไทยศึกษา. หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันราชภัฏธนบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2545.
นำลงวันที่ 24 ต.ค 2545
อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทย
เก่งเกินครู |
คนภาคเหนือ |
โจรสลัดแห่งตะรุเตา|
นางนากพระโขนง |
นิทานภาคใต้ |
นิทาน |
นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน
ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน |
นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |
นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา |
นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
บั้งไฟพญานาค |
ประวัติวังหน้า |
ปริศนาคำทาย|
เพลงไทย |
เพลงไทยเดิม |
พระราชวังเดิม |
พิษหอยมรณะ |
เมขลา-รามสูร |
วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |
สรรพลี้หวน |
สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา
|
ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก