เรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ไพรถ เลิศพิริยกมล
เมื่อสมัยเป็นนักเรียน
ครูให้เราอ่านวรรณคดีเรื่องสามก๊กฉบับพระยาพระคลัง (หน) เรารู้สึกตื่นเต้นกับการทำสงครามระหว่างเล่าปี่
ซุนกวนและโจโฉ ครั้นเราติดใจในรสวรรณคดีเรื่องนี้ก็เผลออ่านจนตลอดเล่ม คนที่เรายกย่องในใจคือ
ขงเบ้ง หรืออาจารย์ฮกหลงผู้หยั่งรู้ ดินฟ้าแห่งเขาโงลังกั๋ง
กว่าจะได้ตัวขงเบ้งมา
เล่าปี่เจ้าเมืองซินเอี๋ยต้องอดทนความอาย ทนต่อความโกรธและสบประมาทของน้องร่วมสาบาน
คือ กวนอูและเตียวหุย ต้องไปเชิญถึงบ้านถึง 3 ครั้ง จึงได้ตัวขงเบ้งมา ในการไปเชิญขงเบ้งครั้งแรกวรรณคดีสามก๊กพรรณนาไว้
ดังนี้
"ครั้นเวลาเช้าเล่าปี่จึงพากวนอูเตียวหุยออกจากเมืองซินเอี๋ย
จะไปหาขงเบ้ง ณ เขาโงลังกั๋ง ไปพบคนห้าคนทำไร่อยู่ที่เชิงเขาแห่งหนึ่ง เล่าปี่จึงถามว่า
มีอาจารย์คนหนึ่งชื่อว่าฮกหลงอยู่ตำบลใดท่านรู้บ้างหรือ ชาวไร่นั้นจึงบอกว่า อาจารย์ฮกหลงอยู่เงื้อมเขาข้าง
ทิศใต้มีพุ่มไม้เป็นสำคัญอยู่หน้าเรือน เล่าปี่ได้ฟังเช่นนั้นก็มีความยินดี พากวนอูเตียวหุย
รีบอ้อมเขาไปทางประมาณสามสิบเส้นถึงพุ่มไม้ตรงหน้าเรือนขงเบ้ง ฝ่ายขงเบ้งรู้ว่าเล่าปี่จะมาหาก็คิดในใจว่า
เขาเล่าลืออยู่ว่าเล่าปี่มีสติปัญญาประกอบด้วยอัธยาศัยและความเพียรเป็นอันมากนั้นจะจริงหรือประการใด
ครั้นจะอยู่ให้พบตัวบัดนี้ก็จะไม่แจ้งว่าเล่าปี่ มีความเพียรและหาเพียรไม่ ซึ่งเราจะไปอยู่ด้วยนั้นใหญ่หลวงนัก
ยังเป็นประโยชน์หรือ มิเป็นประโยชน์จะลองดูให้รู้น้ำใจเล่าปี่ก่อน แล้วสั่งเด็กไว้ว่า
ถ้าผู้ใดมาหาเราจงบอกว่า เราไม่อยู่ สั่งแล้วขงเบ้งก็เข้าไปซ่อนตัวอยู่ที่ข้างใน
ฝ่ายเล่าปี่กวนอูเตียวหุย
ก็ลงจากม้าเดินเข้าไปถึงประตูบ้าน เล่าปี่จึงพิเคราะห์ดู ภูมิฐานบ้านเรือนเห็นสะอาดสะอ้านชอบมาพากล
แม้เทศกาลร้อนก็มิได้ร้อน เพราะลมพัดมาได้ เมื่อถึงฤดูฝนก็เป็นที่ร่มปิดหยาดฝนมิได้ถูกต้อง
หน้าฤดูหนาวเล่าก็มิได้เย็นด้วยละอองน้ำค้าง สมควรเป็นที่อยู่ผู้มีสติปัญญาจริง"
(กรมศิลปากร 2506 : 675-676)
ที่นำเรื่องสามก๊กมากล่าวไว้นี้เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตว่า
บ้านขงเบ้งนอกจากจะอยู่เงื้อมเขาแสดงว่าบ้านตั้งอยู่ใกล้ภูเขาและน่าจะเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา
หรือหุบเขา ชัยภูมิที่ตั้งบ้านอาศัยเงื้อมเขาเป็นปราการธรรมชาติป้องกันลมหนาว ยิ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงการพิจารณาของเล่าปี่ที่บอกถึงสถานที่ตั้งของบ้านขงเบ้ง
รวมทั้งวิธีการสร้างบ้าน ตลอดจนทิศทางลม รวมทั้งฤดูกาล แล้วเล่าปี่สรุปว่า
"สมควรเป็นที่อยู่ของผู้มีสติปัญญาจริง"
การวิเคราะห์ลักษณะบ้าน สถานที่ตั้งบ้าน ตลอดจนฤดูกาลและทิศทางลมของเล่าปี่ นอกจากจะแสดงถึงความรู้ความสามารถของเล่าปี่เหมาะที่จะเป็นผู้นำ ผู้กอบกู้บ้านเมืองแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่า เล่าปี่กำลังกล่าวถึงศาสตร์หรือความรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คนจีนร่ำเรียนและ ยึดถือปฏิบัติสืบต่อตกทอดกันมาเป็น 1,000 ปี จนถึงปัจจุบัน นั้นก็คือ วิชา "ฮวงจุ้ย" นั่นเอง
ฮวงจุ้ย
เป็นศาสตร์แห่งการพยากรณ์ของชาวจีนในการเลือกสรรทำเลที่ตั้งของ สถานที่ทั้งสำหรับคนเป็นและคนตาย
โดยยึดหลักแห่งความสมดุลของสภาพแวดล้อมให้มี ความกลมกลืนกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่คนในครอบครัวและลูกหลาน
(ณัฐธิดา สุขมนัส 2539=108)
ฮวงจุ้ย
ถ้าจะกล่าวถึงความหมาย ต้องแยกอธิบายออกเป็นคำก่อน ดังนี้
ฮวง
เป็นภาษาแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียง เฟิง เขียนเป็นภาษาจีนคือ
แปลว่า ลม
จุ้ย
เป็นภาษาแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียง สุ่ย เขียนเป็นภาษาจีนคือ
แปลว่า น้ำ
เมื่อนำคำ 2 คำ มารวมกันจึงออกเสียงเป็น ฮวงจุ้ย ในภาษาแต้จิ๋ว และเฟิงสุ่ย
ในภาษาจีนกลางซึ่งเมื่อแปลตามตัวหนังสือจีนก็คือ ลม-น้ำ แต่ท่านผู้รู้วิชาฮวงจุ้ยอธิบายว่า
ฮวงจุ้ยเสมือนลมที่พัดผวนเกินความเข้าใจ และเสมือนน้ำที่ไม่อาจหยิบฉวยไว้ได้ ทั้งกระแสลมและกระแสน้ำที่ไหลวนตามธรรมชาติล้วนมีอิทธิพลในการแปรเปลี่ยนภูมิประเทศ
ซึ่งสภาพ แวดล้อมต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญและความอุดมสมบูรณ์
ดังนั้น ฮวงจุ้ย
จึงเป็นศาสตร์ของชาวจีนอันเป็นความรู้สืบทอดและ ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สาขาต่างๆ
ดังนี้
1. เป็นโหราศาสตร์เกี่ยวกับภูมิลักษณ์
หรือ ภูมิพยากรณ์
2. เป็นปรัชญาของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
3. เป็นองค์รวมของความรู้ด้าน
วิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และปรัชญา
4. เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย
เพื่อให้เกิดความสมดุลและทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น
5. เป็นศาสตร์ในการเลือกสถานที่
ทำเล สิ่งก่อสร้าง หรือ โครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ฮวงจุ้ย จึงเป็นความเชื่ออันยิ่งใหญ่ของชาวจีน ซึ่งเป็นทั้งความรู้อันยิ่งใหญ่
เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่มีการจดบันทึกและร่ำเรียน ยึดถือปฏิบัติสืบต่อ กันมาอย่างไม่ขาดหาย
ไม่ว่าคนจีนจะอยู่ที่ไหน ความเชื่อเรื่อง ฮวงจุ้ย ก็ซึมอยู่ในวิถีชีวิตและมีการปฏิบัติสืบต่อกัน
รวมทั้งคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และผสมกลมกลืนกับ คนไทยจนเป็นพลเมืองไทยเชื้อสายจีน
ฮวงจุ้ยก็ยังเป็นความเชื่อและเป็นวิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบ ต่อกันอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบันอย่างน่าพิศวง
ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า
ฮวงจุ้ย นี้เป็นศาสตร์แห่งการพยากรณ์ ในการเลือกสรรทำเลที่ตั้งของสถานที่ ทั้งสำหรับคนเป็นและคนตาย
คนจีนนั้น คนเป็นและคนตาย มิได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง ยังมีความผูกพันและปฏิบัติต่อกัน
คนเป็นยังเคารพกราบไหว้ และนับถือ คนตาย ยังปฏิบัติคนตายอย่างสม่ำเสมอ เพราะคนตายเป็นบรรพบุรุษ
เป็นตระกูล เป็นเชื้อสาย ที่คนเป็นต้องแสดงความกตัญญู เคารพ กราบไหว้ เซ่นสรวง
มีการไหว้เจ้า มีการเซ่นไหว้ บรรพบุรุษ เช่น ตรุษจีน หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นต้น
ส่วนคำที่ใช้เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง
ฮวงจุ้ย ในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทย ทั่วไปก็คือ ถ้าเกี่ยวกับคนตายมักใช้คำว่า
"ฮวงซุ้ย" ซึ่งหมายถึงที่ฝังศพ และมักจะฝังอยู่บริเวณใกล้ๆกัน อย่างที่เข้าใจ
และเรียกกันว่า ป่าช้าจีน เช่นที่จังหวัดชลบุรี สระบุรี หรือที่วัดดอน ส่วนคำว่า
ฮวงจุ้ย ใช้กับคนเป็น ซึ่งเป็นความรู้ หรือศาสตร์แห่งการพยากรณ์เกี่ยวกับสถานที่
ทำเล ที่อาศัย (ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ฮวงจุ้ย สำหรับคนเป็น ส่วนฮวงซุ้ยสำหรับ
คนตายจะกล่าวเฉพาะจำเป็นเพราะมีรายละเอียดมาก)
ความเป็นมาของฮวงจุ้ย
ชาวจีนมีปรัชญาหรือการมองโลกและชีวิต
คือ ทุกสิ่งทุกอย่างรวมตัวกันเป็นหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นตรงต่อสิ่งอื่นทั้งหมด
ดังนั้นจักรวาลและธรรมชาติมีส่วนในการกำหนด ชะตาชีวิตของมนุษย์ จักรวาลบันดาลธรรมชาติ
ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงลึกลับและซ้อนเร้น พลังเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า "ชี่"
การศึกษาฮวงจุ้ยจึงเป็นการศึกษาธรรมชาติ เป็นการค้นหา พลังชี่มาก่อให้เกิดประโยชน์ใกล้ชิดกับมนุษย์
ความเชื่อเรื่องจักรวาลเป็นศูนย์กลางสรรพสิ่งนี้พัฒนามาเป็นศาสตร์ทางด้านฮวงจุ้ยที่สำคัญ
ต่อมาแม้การสร้างเมืองหลวงของจีนก็ถือว่าเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ที่ประทับและมหาราชวังจึงต้องตั้ง
ณ ที่ตำแหน่งศูนย์กลาง จักพรรดิ์เป็นโอรสสวรรค์ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ แม้ชื่อ
จงกั๋ว (ภาษาจีน) อันเป็นชื่อเดิมของจีน ก็หมายถึงศูนย์กลางแห่งอำนาจ
ความเชื่อเรื่องจักรวาล
เรื่องอำนาจการเปลี่ยนแปลง เรื่องธรรมชาติบันดาลให้เกิดความสุข ความเจริญรุ่งเรืองนี้
เป็นศาสตร์ของฮวงจุ้ยที่มีความลึกซึ้งและสะสมสืบทอดกันมา ในเรื่องสถานที่อยู่ สถานที่ตั้งจึงต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามฮวงจุ้ย
โดยเฉพาะพระราชวัง ของจักรพรรดิ์
ตัวอย่างของการเลือกที่ตั้งเมืองของจีนที่เลือกสถานที่ตั้งตามฮวงจุ้ยที่เด่นชัดที่สุด
คือ เมืองลั่วหยาง ที่สร้างในสมัยเว่ย (ค.ศ.220-265) เมืองนี้ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งดี
คือ มีภูเขา อี้มั่งอยู่ทางทิศเหนือ มีแม่น้ำลั่วสุ่ยอยู่ทางทิศใต้ ส่วนพระราชวังตั้งอยู่ทางด้านเหนือตรงบริเวณแนวแกนกลางของเมือง
มีกำแพงล้อมรอบตัวเมือง เขตพระราชฐานมีกำแพงชั้นใน และมีคูน้ำล้อมรอบ ทางเข้าพระราชวังออกแบบพิเศษตามลักษณะฮวงจุ้ยที่ดี
โดยสร้างให้มีธารน้ำไหลผ่าน มีประตูซ้อนกันสามประตูเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความสำเร็จของ
พระราชตระกูล ตรงแนวกึ่งกลางหลังประตูทางเข้าที่สองด้านซ้ายมือมีศาลบูชาบรรพบุรุษ
(ณัฐธิดา สุขมนัส 2539:111)
ถ้าใครเคยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
ได้ไปชมจตุรัสเทียนอันเหมิน พระราชวัง ต้องห้ามและได้ชมพระราชวังฤดูร้อน ของพระนางชูสีไทเฮา
ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ สวยงามจนยากที่จะอธิบายได้ ที่สำคัญเป็นฝีมือของมนุษย์
เป็นภูมิปัญญาที่ฉลาด เหนือสิ่ง อื่นใด คือ เป็นไปตามฮวงจุ้ยอย่างละเอียด ลึกซึ้งทุกขั้นตอน
ที่ประทับส่วนพระองค์ (บ้าน) นอกจากจะไม่ใหญ่โตแล้วยังมีความประณีตงดงาม สงบ ร่มเย็น
ชัยภูมิที่ตั้งถูกต้องตามฮวงจุ้ย ดังผังจำลองง่ายๆ ดังนี้
ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องความเชื่อ
เรื่องจักรวาล ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงที่ลึกลับและพลังชี่ ที่ให้คุณและโทษ คนจีนได้ศึกษาธรรมชาติสัมพันธ์กับชัยภูมิในการตั้งถิ่นฐาน
ที่อยู่อาศัย ซึ่งเกี่ยวพันกับทิศ ภูเขา ต้นไม้ น้ำ ฤดูกาล อากาศ ในแง่นี้จะเห็นว่า
ฮวงจุ้ย เป็นความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่สัมพันธ์กับมนุษย์
รวมไปถึงพลังแห่งจักรวาล (ชี่) ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์
ที่ประทับ (บ้าน)
ที่วังฤดูร้อนของพระนางชูสีไทเฮาถูกต้องตามฮวงจุ้ยอย่างไร จะกล่าวพอเป็นสังเขปดังนี้
คือ
ทำเลที่ตั้งเหมาะเป็นที่อยู่อาศัย
มีความมั่นคงมีโชคลาภ เจริญรุ่งเรือง จะต้องมีสภาพแวดล้อมแห่ง เสือขาว
มังกรเขียว เต่าดำ
และ หงส์แดง ถือเป็นทำเลอุดมคติของฮวงจุ้ย
ซึ่งอธิบายใจความออกมาเป็นสภาพภูมิประเทศ ดังนี้
ทิศเหนือ คือ
เต่าดำ หมายถึง ภูเขาซึ่งจะเป็นกำแพงธรรมชาติป้องกันลมหนาว อันทารุณจากไซบีเรีย
ทิศตะวันออก คือ
มังกรเขียว หมายถึงทิวเขา เนิน ป่าที่มีต้นไม้ใหญ่
ทิศตะวันตก คือ เสือขาว
หมายถึง เนิน หรือป่าที่มีต้นไม้ใหญ่
ทั้งมังกรเขียวและเสือขาวถือเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีหางทอดไปจรดเต่าดำ (ภูเขาทางทิศเหนือ)
บ้านหรือเมืองจะอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ มีความมั่นคง อบอุ่นในฤดูหนาวและเย็นสบายในฤดูร้อน
(ทิวเขาด้านตะวันตกคือ หยิน ด้านตะวันออกคือ หยาง (ซึ่งจะกล่าว ต่อไป)
ทิศใต้ คือ หงส์แดง
หมายถึง น้ำ สายน้ำ และมีพื้นที่โล่งเหมาะแก่การเพาะปลูก ทิศใต้นี้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
(น้ำ) ความอบอุ่น ความสุข ความรุ่งเรือง
เมื่อทำความเข้าใจเรื่อง
เสือขาว มังกรเขียว เต่าดำ และหงส์แดงแล้วลองกลับไปพิจารณาที่ประทับของพระนางชูซีไทเฮา
ที่อยู่ในวังฤดูร้อน จะเห็นว่าเป็นไปตามฮวงจุ้ย ทุกประการด้านตะวันออกและด้านทิศตะวันตก
แม้ไม่มีภูเขาก็มีต้นไม้ใหญ่สวยงามทดแทน โดยเฉพาะอุทยานด้านทิศตะวันตกขุดเป็นลำธารคดเคี้ยว
พายเรือชมสวน ซึ่งประกอบด้วย ไม้ประดับและดอกไม้นานาพันธุ์ สวยงามเกินบรรยาย ยิ่งเมื่อหันหน้าออกสู่ทะเลสาบทางทิศใต้ขณะพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าและพระอาทิตย์ตกยามเย็น
เป็นธรรมชาติที่สวยสงบหาที่เปรียบ ได้ยาก
ที่นี้จะอธิบายคร่าวๆถึงที่ประทับ
(บ้าน) ซึ่งเป็นไปตามฮวงจุ้ยเช่นเดียวกัน บ้านคนจีนจะไม่นิยมปลูกหลายชั้น เพราะยิ่งสูงยิ่งลมหนาว
บ้านจะอยู่ในบริเวณกำแพงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะหันหน้าไปทางทิศใต้
ตัวอาคารประธานจะอยู่ทางทิศเหนือหันด้านหลังอาคารไปทางทิศเหนือ จะมีอาคารรองออกมาทั้งด้านซ้ายและขวาหักมุมตามแนวกำแพง
ส่วนกำแพงด้านทิศใต้ จะไม่นิยมทำเป็นอาคารจะขวางทางระบายอากาศ ตรงกลางของกำแพงด้านทิศใต้คือประตูใหญ่เป็นทางเข้าบ้าน
ดูภาพพื้นที่ตรงนี้มักทำซุ้มประตูสวยงามตรงกลางของบริเวณบ้านที่เป็นลานโล่ง หากเป็นคหบดีบริเวณก็จะกว้างจัดเป็นสวนหรือที่พักผ่อนหย่อนใจของสมาชิกในครอบครัว
ที่ประทับของพระนางชูสีไทเฮาก็มีลักษณะดังกล่าว มีการจัดสวนไว้ ณ บริเวณกลางที่ประทับ
ซึ่งแน่นอนย่อมมีความวิจิตรสวยงามอย่างยิ่ง
การสร้างบ้านของคนจีนจะเห็นได้ว่า
ได้ศึกษาธรรมชาติ ทิศ ฤดูกาลและทำเลที่ตั้งอย่างลึกซึ้ง ฤดูหนาวบ้านก็อุ่นป้องกันลมหนาวได้
ครั้นถึงฤดูร้อน ฤดูฝน ก็อยู่ได้สบายเช่นเดียวกันลักษณะบ้านเช่นนี้ชาวจีนรุ่นแรกๆที่อพยพเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณถนนเยาวราช
ราชวงศ์ เจริญกรุง เมื่อสร้างฐานะมั่นคงก็นิยมสร้างบ้านตามแบบของบ้านในประเทศจีน
หรือตามฮวงจุ้ยอันเป็นความเชื่อและวิถีชีวิตที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
ฮวงจุ้ยกับความเชื่อของชาวจีน
ฮวงจุ้ย นอกจากจะเป็นองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว
ฮวงจุ้ยยังเป็นองค์ความรู้ด้านปรัชญาและความเชื่อของคนจีนที่เกี่ยวกับจักรวาล พลังที่เร้นลับเหนือธรรมชาติที่สามารถเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งได้
คนก็อยู่ใต้อิทธิพลของพลังอำนาจดังกล่าว ความเชื่อนี้มีพื้นฐาน ที่มาคือ
1. พื้นฐานแนวความคิดจากลัทธิเต๋า
เต๋าเป็นลัทธิที่ถือว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเสมอมาอย่างเป็นวัฎจักร เป็นกระบวนการที่เกิดจากสิ่งที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกัน
ให้กำเนิดซึ่งกันและกัน องค์รวมของทั้งหมดเกิดจากเอกภาพที่สมดุล จากความเชื่อนี้ฮวงจุ้ย
ก็คือ ความรู้ในการแสวงหาความสมดุล จงทำให้เกิดดุลภาพให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติการศึกษาเรื่อง
หยิน-หยาง และชี่ เพื่อแนะนำมนุษย์ให้กระทำสิ่งใดๆให้กลมกลืนกับธรรมชาติ
2. พื้นฐานแนวความคิดจากกฎของหยินและหยาง
จักรพรรดิ์จีนโบราณ
ชื่อ ฝู-ซี เป็นผู้กล่าวถึง หยิน และ หยาง ไว้ในคัมภีร์อี้จิง กล่าวถึงจักรวาล
ธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หยินและหยางเป็นต้นเหตุแห่งสรรพสิ่ง
ฮวงจุ้ย ถือว่า พลังหยินและหยาง เป็นพลังตรงข้ามที่คู่กัน สลับการ เปลี่ยนแปลง
ส่งเสริมซึ่งกันและกัน หยิน มักแทนด้วยความมืด สีดำ ความตาย ความไม่ดี หญิง (ฮวงจุ้ย
หมายถึง เสือขาว) ส่วน หยาง แทนด้วย ความสว่าง พระอาทิตย์ ชาย (ฮวงจุ้ย หมายถึง
มังกรเขียว)
3.
พื้นฐานแนวคิด เรื่อง ชี่ พลังแห่งชีวิต
เมื่อสรรพสิ่งรวมอยู่ในเต๋า
หยินและหยางรวมกันเป็นเต๋า ชี่เป็นพลังจักรวาล ชี่ เป็นพลังที่กระจายอยู่กับสภาพทุกสรรพสิ่ง
เปรียบดังพลังชีวิต (ลมหายใจแห่งมังกร) ชี่จึงมีความหมายเป็น 2 นัย คือ
3.1
หมายถึงจักรวาล ประกอบด้วย ลม แก๊ส พลังงาน
3.2
หมายถึง ชี่ของมนุษย์ คือ ลมหายใจ รัศมีภายในบุคคล กิริยามารยาทและพลังงาน ทำให้มนุษย์เคลื่อนไหว
ชี่
ในมนุษย์ ถ้าไหลเวียนคล่อง หมายถึง สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตดี
ชี่
ในธรรมชาติ ทางฮวงจุ้ยจะพิจารณาทำเล ที่ตั้ง หากพลังชี่ที่ดีสะสมมากขึ้นพลังจักรวาล
ชี่ ก็จะก่อให้เกิดความสุข ความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย มีเกียรติยศ ชื่อเสียง
4. พื้นฐานแนวความคิดเกี่ยวกับธาตุทั้ง
5 และดวงดาว
เรื่องธาตุทั้ง 5 ชาวจีนมีความเชื่อว่าธาตุทั้ง 5 เป็นส่วนประกอบของ สรรพสิ่ง คือ
ดิน น้ำ ไฟ ทอง และไม้ ส่วนดาวมี 9 ดวง ดาวจะสัมพันธ์กับธาตุทั้ง 5 ดาวจึงมีอิทธิพลทั้งด้านส่งเสริมและทำลายธาตุทั้ง
5 ได้ด้วย เรื่องของดาว ธาตุทั้ง 5 นี้สัมพันธ์กับชะตาชีวิตของคน สัมพันธ์กับทิศ
ฤดู ซึ่งกลายเป็นวิชาโหราศาสตร์ ในทางฮวงจุ้ย ถือว่าเป็น ภูมิโหราศาสตร์เลยทีเดียว
เพราะในการหาที่ตั้งทำเลที่อยู่อาศัยหรือที่ทำธุรกิจ จะต้องนำ ดวงชะตาชีวิตมาเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทำเลหรือสถานที่ประกอบกัน
5. พื้นฐานแนวความคิดเรื่องทิศทั้ง
8
แนวความคิดเรื่องทิศทั้ง
8 นี้มาจากความเชื่อเรื่องจักรวาล เรื่องเทพวัตถุบนฟ้าว่าเคลื่อนที่ตามกฎหรือตัวเลขที่แน่นอน
สวรรค์ โลก มนุษย์ ธรรมชาติย่อมมีความ เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เชื่อกันว่าธรรมชาติกำหนดทิศ
ฟ้าดินกำหนดคุณสมบัติของทิศ ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหยินและหยาง และเขียนออกเป็นสัญลักษณ์
คือ หยางแทนด้วยเส้นเต็มเส้นหนึ่ง (---- ) หยินแทนด้วยเส้นประ (- -) สองเส้นเมื่อนำมาประกบกัน
(หยินและหยาง) จะกลายเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมชาติกำเนิดทิศ ฟ้าดินกำหนดคุณสมบัติของทิศ
ดังที่แสดงทิศทั้ง 8 ไว้ดังนี้ (ละเอียด ศิลาน้อย 2530:32)
เส้นเต็มและเส้นประแสดงทิศทั้ง 8
(เฉียน) ทิศใต้ หมายถึง สวรรค์ |
|
(คุน) ทิศเหนือ หมายถึง โลก (ดิน) | |
(หลี) ทิศตะวันออก หมายถึง ไฟ | |
(ข่าน) ทิศตะวันตก หมายถึง น้ำ | |
(เจิ้น) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึง เสียงฟ้าร้อง | |
(เตว่ย) ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง ไอน้ำ หรือ มหาสมุทร | |
(เกิ้น) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงภูเขา | |
(ซวิ่น) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ หมายถึง ลม |
เมื่อทำเส้น ------ และเส้น - - อันหมายถึงหยินและหยางแสดง ทิศทั้ง 8 รวมถึงความเกี่ยวพันกับธรรมชาติและชะตาชีวิตของคน เป็นการเชื่อมโยงจักรวาล เข้ากับชะตาชีวิตของมนุษย์ แสดงถึงเครื่องหมายแห่งพลังอำนาจอันเข้มแข็ง ต่อมามีการนำมา ดัดแปลงกลายเป็นรูป 8 เหลี่ยม เป็นเครื่องรางป้องกันอิทธิพล เสนียดจัญไรและความชั่วร้ายต่างๆ เรียกว่า ยันต์ปากัว (สำเนียงแต้จิ๋วออกเสียง โป๊ยข่วย) สัญลักษณ์หรือยันต์นี้เกี่ยวข้องกับฮวงจุ้ยซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้
ยันต์ปากัว
|
(ลายละเอียด ศิลาน้อย 2530:120)
|
6.
พื้นฐานแนวคิดบูชาบรรพบุรุษ
ความเชื่อเรื่องวิญญาณและการบูชาบรรพบุรุษของชาวจีนมีมาก่อนลัทธิเต๋าและศาสนาขงจื้อ
ชาวจีนเชื่อว่าคนตายไปแล้วแต่วิญญาณคงอยู่ วิญญาณมี 3 ดวง ดวงที่ 1 อยู่กับร่างที่หลุมฝังศพ
(ซัวจึง) ดวงที่ 2 อยู่ที่แผ่นป้ายบรรพชนที่บูชาที่บ้าน ดวงที่ 3 (หุน) อยู่อีกโลกหนึ่งอาจอยู่บนสวรรค์
การบูชาบรรพบุรุษเกิดจากความเชื่อที่ว่าเมื่อปฏิบัติต่อบรรพบุรุษดีและถูกต้องสม่ำเสมอ
บรรพบุรุษก็จะคุ้มครอง ช่วยเหลือทำให้ร่ำรวยมีความสุข เรื่องบูชาบรรพบุรุษและ หาทำเลที่สร้างที่ฝังศพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่เรียกว่า
ฮวงจุ้ยคนตาย หรือ ฮวงซุ้ย ซึ่งไม่กล่าวไว้ ณ ที่นี้
นำลงวันที่ 30 ม.ค 2547
อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทย
เก่งเกินครู |
คนภาคเหนือ |
โจรสลัดแห่งตะรุเตา|
นางนากพระโขนง |
นิทานภาคใต้ |
นิทาน |
นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน
ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน |
นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |
นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา |
นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
บั้งไฟพญานาค |
ประวัติวังหน้า |
ปริศนาคำทาย|
เพลงไทย |
เพลงไทยเดิม |
พระราชวังเดิม |
พิษหอยมรณะ |
เมขลา-รามสูร |
วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |
สรรพลี้หวน |
สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา
|
ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก