คนภาคเหนือ

ภาคเหนือ

ภาคเหนือ

เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า จีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทางด้านการปกครอง ภาคเหนือประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ 15 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และแม่ฮ่องสอน (สนิท สมัครการ 2520:2)

ทั้ง 15 จังหวัดนี้แม้จะรวมกันเรียกว่าภาคเหนือ ก็ยังมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกันอยู่บ้าง เช่น กลุ่มพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร มักเรียกว่าภาคกลางตอนบน เพราะวัฒนธรรมมีส่วนคล้ายกับภาคกลาง จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นกลุ่มไทยใหญ่ผสมกับพม่า เพชรบูรณ์ ลักษณะโน้มไปทางภาคอีสาน



ที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมภาคเหนือจริง ๆ คือ จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่เชียงราย พะเยา กลุ่มจังหวัดดังกล่าวนี้เรียกว่า คนเมือง หรือ ยวน หรือ ไทยยวนซึ่งหมายถึงโยนก ส่วนจังหวัดแพร่ และน่าน ก็มีลักษณะของตัวเองเช่นเดียวกัน

การแต่งกาย คนภาคเหนือ
ภาคเหนือ ในด้านประวัติศาสตร์
คนภาคเหนือ กับศิลปและดนตรี
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาว ล้านนา คนภาคเหนือ และอุปนิสัย
อาหาร คนภาคเหนือ
ศาสนาและความเชื่อ
สรุป
อาชีพของ คนภาคเหนือ
ภาคเหนือ ในด้านประวัติศาสตร์
เดิมคนไทยแยกกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ กระจัดกระจายอยู่ในแหลมอินโดจีน ชาวไทยที่อยู่ทางภาคเหนือจะตั้งบ้านเรือนอยู่พื้นที่ราบระหว่างเขา เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คนไทยที่อยู่ทางเหนือมีการสร้างบ้านแปงเมือง มีกษัตริย์ปกครองสืบมา ที่ปรากฏชัดเจนคือ อาณาจักรน่านเจ้าอยู่บริเวณแคว้นยูนนานของจีน อาณาจักรนี้ถูกจีนตีแตกเมื่อ พ.ศ. 1796 (กองวัฒนธรรม 2539:41) หลังจากนั้นอาณาจักรเชียงแสนซึ่งเริ่มตั้งเมืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ก็เริ่มขยายเป็นอาณาจักรขึ้นแทน ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ 18 คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดก็รวมตัวกันตั้งบ้านเมืองแยกเป็น 3 อาณาจักรชัดเจน คือ อาณาจักรเชียงแสนอยู่ทางภาคเหนือ อาณาจักรสุโขทัยอยู่ภาคกลางและภาคใต้ อาณาจักรล้านช้างคือดินแดนฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง ปัจจุบันคือประเทศลาวและภาคอีสานของไทย


พญามังรายผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา

     พญามังรายเป็นโอรสของพญาลาวเมง และนางอั้วมิ่งจอมเมือง (นางเทพคำข่ายหรือคำขยาย) ธิดาท้าวรุ่งแก่นชายเมืองเชียงรุ่ง พญามังรายครองเมืองเงินยาง พ.ศ.1804 ต่อมาขยายอาณาเขตและยึดเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูน) ได้ราว พ.ศ. 1835 สร้างเวียงกุมกามราว พ.ศ. 1837 แต่พื้นที่ตั้งเมืองเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วม จึงสร้างเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1839 เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา (สรัสวดี อ๋องสกุล 2539:101-107)

อาณาจักรล้านนา มีวิวัฒนาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

    1. สมัยสร้างอาณาจักร (พ.ศ.1839-1898) เริ่มจากพญามังรายสร้างเมือง รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในแอ่งเชียงรายและขยายอำนาจลงสู่แอ่งเชียงใหม่ ลำพูน โดยรวบรวมเมืองสำคัญไว้ ได้แก่ เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และมีการส่งราชบุตรไปครองเมืองเชียงตุง เมืองนาย เป็นต้น มีกษัตริย์ปกครองต่อกัน 5 พระองค์ จนถึงสมัยพญาผายู


    2. สมัยอาณาจักรล้านนารุ่งเรือง (พ.ศ.1898-2068) เริ่มตั้งแต่สมัยพญากือนาจนถึงสมัยพญาแก้ว เป็นระยะเวลา 170 ปี ความเจริญสูงสุด คือ สมัยของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) สมัยนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นยุคทองแห่งล้านนาไทย ได้ขยายอาณาเขตถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน แผ่อิทธิผลถึงรัฐฉาน และเมืองหลวงพระบางด้วย ด้านพุธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง มีการสังฆายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 8 ของโลก
    3. สมัยอาณาจักรล้านนาเสื่อมและสลาย (พ.ศ.2068-2101) เริ่มตั้งแต่สมัยพญาเกศเชษฐราชจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลา 33 ปี ครั้น พ.ศ. 2101 สมัยท้าวแม่กุ บุเรนองก็ยึดเชียงใหม่ จากนั้นล้านนาก็ตกอยู่ใต้อำนายพม่าถึง 200 ปีเศษ จนถึง พ.ศ.2317 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เชียงใหม่จึงเป็นเมืองประเทศราชของไทย ต่อมาหัวเมืองทางภาคเหนือก็เป็นจังหวัดต่าง ๆของราชอาณาจักรไทย และมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนถึงปัจจุบัน


ลำดับกษัตริย์แห่งล้านนา

1. พญามังราย
ครองราชสมบัติ

พ.ศ. 1804-1854

2. พญาไชยสงคราม
พ.ศ. 1854-1868
3. พญาแสนพ
พ.ศ. 1868-1877
4. พญาคำฟู
พ.ศ. 1877-1879
5. พญาผายู
พ.ศ. 1879-1898
6. พญากือนา
พ.ศ.1898-1928
7. พญาแสนเมืองมา
พ.ศ.1928-1944
8. พญาสามฝั่งแกน
พ.ศ.1945-1984
9. พระเจ้าติโลกราช
พ.ศ. 1984-2030
10. พญายอดเชียงราย
พ.ศ. 2030-2038
11. พญาแก้ว
พ.ศ.2038-2068


หลังจากพญาแก้ว อาณาจักรล้านนาก็ตกอยู่ในอำนาจของพม่า

เจ้าเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชของไทย

1. พระจ้ากาวิละ
ครองราชสมบัติ
พ.ศ. 2325-2356
2. พระยาธรรมลังกา
พ.ศ. 2358-2364
3. พระยาคำฟั่น

พ.ศ. 2366-2368

4. พระยาพุทธวงศ์
พ.ศ. 2369-2389
5. พระเจ้ามโหตรประเทศ
พ.ศ. 2390-2397
6. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์
พ.ศ. 2399-2413
7. พระเจ้าอินทวิชยายนนท์
พ.ศ. 2416-2439
8. พระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์
พ.ศ. 2444-2452
9. พลตรีเจ้าแก้วเนาวรัฐ
พ.ศ.2454-2482


อาณาจักรล้านนาแบ่งการปกครองออกได้ ดังนี้

    1. บริเวณเมืองราชธานี ได้แก่เมืองเชียงใหม่ ลำพูน อำนาจสิทธิขาดเป็นของพระมหา
    2. กษัตริย์ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ

    3. เมืองที่ปกครองโดยข้าหลวง หรือเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับเมือง
    4. หลวงอย่างใกล้ชิด แต่เจ้าเมืองก็มีสิทธิ์และเป็นอิสระในการจัดการปกครองบ้านเมือง

    5. เมืองประเทศราช เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกล เจ้าเมืองยอมรับความด้อยกว่า โดยส่งบรรณาการมาให้เมืองใหญ่ แสดงความผูกพันซึ่งกันและกัน


     ส่วนการปกครองบังคับบัญชาแบ่งยศชั้นเป็นพันนา ซึ่งหมายถึง การแบ่งผืนดินเป็นเมืองต่าง ๆ เช่น เชียงราย 32 พันนา พะเยา 36 พันนา ฝาง 5 พันนา ผู้ครองพันนามียศเป็น หมื่นนาล่ามนา พันนาหลัง และแสนนา ส่วนพื้นที่ปกครองที่เล็กกว่า คือ ปากนา ปากนาหนึ่งมีคน 500 หลังคาเรือน (สรัสวดี อ๋องสกุล 2538:154-159) การควบคุมแบบพันนานี้จะควบคุมใน 2 ลักษณะ คือ ควบคุมให้มีการส่งส่วยแก่เมืองที่สังกัด และควบคุมการเกณฑ์แรงงาน “เมือง” จะเกณฑ์ได้ทั้งในยามปรกติและในยามสงคราม ดังนั้นการควบคุมจึงหมายถึงให้ผู้มีตำแหน่งดูแลควบคุมไพร่ด้วย

หน้าแรก



วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวล้านนา

     คนไทยในอาณาจักรล้านนามีชีวิตและความเป็นอยู่โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา หุบเขา มีพื้นที่ราบจำนวนน้อย คือ ประมาณ1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวบ้านทำนาแบบนาทดน้ำ พื้นที่สูงปลูกข้าวไร่ พื้นที่ที่ราบในแอ่งเขาอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว และพืชอื่น ๆ ได้ดี คือ พื้นที่ราบแอ่งเชียงใหม่ ลำพูน และแอ่งเชียงราย ส่วนลำปาง แพร่ น่าน ผลิตข้าวได้น้อย ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อให้พออยู่พอกิน การติดต่อค้าขายระหว่างกันก็จะเป็นประเภทวัวต่าง สินค้ามีของป่า เกลือ ผ้า อัญมณี เป็นต้น ส่วนการค้าขายในหมู่บ้านก็จะมี “กาดมั่ว” ใครมีของอะไรก็นำมาวางขายได้



     คนไทยภาคเหนือนิยมปลูกบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน หากพื้นที่ใดอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำนา มีแม่น้ำไหลผ่าน ก็จะมีหมู่บ้านตั้งเป็นระยะ ๆ เรื่อยไปตามแม่น้ำ ลักษณะบ้านจะเป็นบ้านไม้ยกสูง มีใต้ถุนโล่ง เป็นที่เก็บของเครื่องมือทำเกษตร และเป็นที่ทำงานหรือพักผ่อนยามว่างได้ด้วย บ้านของชาวเหนือนิยมมุงกระเบื้องหรือชาวบ้านเรียกว่าดินขอ หรือบางครั้งก็มุงด้วยแผ่นไม้สักซึ่งทำเป็นแผ่นเล็ก ๆ แต่โตกว่าแผ่นกระเบื้อง แผ่นไม้สักนี้จะทนแดดทนฝน ถ้าคัดเลือกไม้อย่างดีจะอยู่ได้เกิน 50 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว



     ถัดจากบ้านก็จะเป็นยุ้งข้าวขนาดใหญ่เล็กตามฐานะ นอกจากนั้นก็จะมีสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ เป็ด วัว ควาย ม้า ถัดบ้านก็เป็นสวนผลไม้ซึ่งรวมถึงพืชผักที่ใช้ประกอบอาหารด้วย

     ชาวล้านนามีลักษณะเหมือนคนไทยทั่วไป แต่เป็นเชื้อสายไทยยวน หรือโยนก คนล้านนาเองเรียกคนกลุ่มเดียวกันว่า “คนเมือง” ลักษณะเด่นกว่าคนไทยกลุ่มอื่นคือ ผิวค่อนข้างขาว รูปร่างสันทัดไม่สูง ไม่เตี้ยเกินไป ส่วนใหญ่รูปร่างผอมบาง มีภาษาที่เป็นภาษาถิ่นของตัวเอง หรือที่เข้าใจกันว่า “คำเมือง” ภาษาไทยเหนือมีระบบตัวอักษรบันทึกที่เรียกว่า “อักษรล้านนา” บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา คัมภีร์ต่าง ๆ ตลอดจนกฎหมายและความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน อักษรล้านนานี้ดัดแปลงมาจากอักษรมอญเดิม มีอายุรุ่นเดียวกับอักษรพ่อขุนรามคำแหง หรืออาจเก่ากว่านั้นอีก

หน้าแรก


อาชีพ คนภาคเหนือ

     ชาวเหนือส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ การทำนาส่วนใหญ่จะเป็นนาดำ ที่ลุ่มมาก ๆ จึงทำนาหว่าน คนเหนือปลูกข้าวเหนียวกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะบริโภคข้าวเหนียว ข้าวเหนียวภาคเหนือถือเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี นึ่งสุกแล้วขาวสะอาด อ่อนและนิ่มน่ารับประทาน ข้าวพันธ์ที่มีชื่อเสียง คือ ข้าวสันป่าตอง นอกจากทำนาแล้วยังปลูกพืชไร่อื่น ๆ เช่น หอม กระเทียม ถั่ว ยาสูบ เป็นต้น นอกจากปลูกข้าวแล้ว อาชีพทำสวนก็เป็นที่นิยมกัน โดยเฉพาะทำสวนลำไย และลิ้นจี่ นอกจากจะขายให้คนไทยได้รับประทานแล้ว ยังส่งขายต่างประเทศอีกด้วย



     ยังมีอาชีพอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวเหนือ คือ การทำเมี่ยง ชาวเหนือชอบกินหมากและอมเมี่ยง โดยเอาใบเมียงที่เป็นส่วนใบอ่อนมาหมักให้มีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อหมักนานได้ที่ เวลาจะเอาใบเมี่ยงมาอม ก็ผสมเกลือเม็ดหรือของกินอย่างอื่นแล้วแต่ชอบ

     นอกจากการอมเมี่ยง คนล้านนาทั้งหญิงและชายจะสูบบุหรี่ที่มวนด้วยใบตองกล้วย มวนหนึ่งขนาดเท่านิ้วมือ และยาวเกือบคืบ ชาวบ้านเรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า “ขี้โย” หรือ “บุหรี่ขี้โย” ที่นิยมสูบกันมากอาจเนื่องมาจากอากาศหนาวเย็น การสูบบุหรี่คงทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น

     นอกจากอาชีพเกษตรกรรม ชาวเหนือยังประกอบอาชีพอื่น อาจเรียกได้ว่าเป็นหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนก็ได้ คือ ผู้หญิงจะทอผ้าเมื่อเสร็จจากการทำนา นอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน และการทำเครื่องเหล็ก เป็นต้น


การทำพัดและร่ม บ่อสร้าง คนภาคเหนือ
การทำร่ม รูปภาพการทำพัดและร่มที่บ่อสร้าง

การแกะสลัก บ้านถวาย ภาคเหนือ
การแกะสลัก รูปภาพเพิ่มเติมที่บ้านถวาย

หน้าแรก



การแต่งกาย

     การแต่งกายของคนภาคเหนือที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ชายจะนุ่งกางเกงขายาวลักษณะแบบกางเกงขายาวแบบ 3 ส่วน เรียกติดปากว่า “เตี่ยว” หรือ เตี่ยวสะดอ ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมสีน้ำเงินหรือสีดำ ส่วนเสื้อก็นิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม แขนสั้น แบบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด สีน้ำเงินหรือสีดำ เช่นเดียวกัน เรียกว่า เสื้อม่อฮ่อม ชุดนี้ใส่เวลาทำงาน



     สำหรับหญิงชาวเหนือจะนุ่งผ้าซิ่น(ผ้าถุง)ยาวเกือบถึงตาตุ่ม นิยมนุ่งทั้งสาวและคนแก่ ผ้าถุงจะมีความประณีต งดงาม ตีนซิ่นจะมีลวดลายงดงาม ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อคอกลม มีสีสัน ลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน เรื่องการแต่งกายนี้ หญิงชาวเหนือจะแต่งตัวให้สวยงามอยู่เสมอ ชาวเหนือถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จนถึงกับมีคำสุภาษิตของชาวเหนือสั่งสอนสืบต่อกันมาเลยว่า

ตุ๊กบ่ได้กิน		บ่มีไผตามไฟส่องต้อง
ตุ๊กบ่ได้นุ่งได้ย่อง	ปี้น้องดูแควน

     ทุกข์(จน)ไม่มีจะกิน (อิ่มหรือหิว) คนไม่รู้ (ไม่มีใครเอาไฟมาส่องดูในท้องได้) ทุกข์(จน)เพราะไม่มีอะไรมาแต่งตัว (คนเห็น) ญาติพี่น้องดูถูกเอาได้

หน้าแรก

     คนไทยภาคเหนือเป็นคนรักสงบ มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่สำคัญคือ ให้การต้อนรับทุกคนเป็นอย่างดี หากใครเดินผ่าน เขาจะทักทายปราศรัย พูดคุย หากใครไปที่บ้านก็จะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสตรีชาวเหนือ หากใครทักทายก็จะทักทายพูดคุยด้วยไมตรีเสมอวัฒนธรรมเช่นนี้บางครั้งอาจทำให้คนต่างถิ่นเกิดความเข้าใจผิดได้

หน้าแรก



ศาสนาและความเชื่อ คนภาคเหนือ

     คนภาคเหนือก็เหมือนกับคนไทยส่วนใหญ่ ความเชื่อแต่เดิมก็เชื่อเรืองผีเช่นเดียวกัน แต่ละบ้าน แต่ละตระกูลก็จะมีผีประจำบ้าน ประจำตระกูล ดังนั้น แต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละบ้านก็มีประเพณีเลี้ยงผี เช่น ผีปู่ย่า ผีมด ผีเมง ผีเสื้อเมือง เป็นต้น เมื่อพุทธศาสนาแพร่มายังภาคเหนือ คนไทยภาคเหนือก็รับเอาพุทธศาสนาเป็นสรณะ ชาวเหนือเป็นพุทธมามกะที่ดีและปฏิบัติศาสนกิจเคร่งครัดมาก แทบทุกหมู่บ้านจะมีวัดประจำหมู่บ้าน พ่อแม่ที่มีลูกชายจะนิยมให้ลูกชายบวชเรียน และนิยมให้ลูกชายบวชเณร ที่แม่ฮ่องสอน เรียกว่า ประเพณีบวชลูกแก้ว



      เมื่อลูกชายย่างเข้า 9 ปี พ่อแม่ถือลูกชายยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง เหมาะที่จะบวช จึงทำพิธีบวชลูกแก้ว พิธีนี้จัดกันอย่างใหญ่โต แต่ละครอบครัวที่มีลูกชายวัยเดียวกันมักจะนัดมาบวชพร้อมกัน มีการแต่งตัวให้นาคอย่างงดงามเหมือนเครื่องทรงกษัตริย์ เมื่อเข้าขบวนแห่ก็ให้ขึ้นหลังม้ากางสัปทน (ร่ม) จัดขบวนแห่อย่างสวยงามไปบวชที่วัด เมื่อบวชเป็นเณรก็เรียนหนังสือศึกษาพุทธศาสนาที่วัด พออายุได้ประมาณ 19 ปีก็ลาสิกขา แล้วจะมีคำนำหน้าว่า “น้อย” เช่น น้อยไชยา ส่วนผู้ที่บวชเป็นพระต่อถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็จะมีคำนำหน้าว่า “หนาน เช่น หนานโฮะ หนานอินตา เป็นต้น




ประเพณีบวชลูกแก้ว คนภาคเหนือ

ประเพณีบวชลูกแก้ว


วัดจองกลาง

วัดจองกลาง


พระธาตุดอยสุเทพ

พระธาตุดอยสุเทพ


รูป จาก Thailand Executive Diary 1997

หน้าแรก

ศิลปและดนตรี

     คนภาคเหนือมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติจึงมีจิตใจอ่อนโยน เป็นคนมีนิสัยรักความงาม รักศิลปะและดนตรี ด้านศิลปะนับว่ามีความชำนาญเป็นเยี่ยม ชายชาวเหนือมีฝีมือด้านช่างเป็นเยี่ยม งานศิลปะเด่น ๆ เช่น งานปูนปั้น งานแกะสลักไม้ การทำเครื่องเงิน เครื่องเขิน ล้วนแสดงให้เห็นถึงฝีมือทางด้านศิลปะที่งดงามยิ่ง

     ทางด้านดนตรีและการละเล่นก็จะมีวงดนตรีที่เรียกว่า วงสะล้อ ซอ ซึง ส่วนการฟ้อนก็จะมีฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน การละเล่นพื้นบ้านก็มีการจ้อย การซอ (ลักษณะคล้ายหมอลำทางภาคอีสาน) ซึ่งแสดงเป็นเรื่องราว แสดงการขับเกี้ยวพาราสีกัน การแสดงซอพื้นเมืองจะปรากฏให้เห็นตามงานเทศกาลทั่วไป ปัจจุบันแม้จะลดน้อยลงไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่

หน้าแรก


อาหาร คนภาคเหนือ

     คนไทยทางภาคเหนือนิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นหลักทั้ง 3 มื้อ ส่วนกับข้าวก็จะเป็นพวกเนื้อสัตว์ (เนื้อวัว เนื้อควาย หมู ไก่ ปลา) อาหารทะเลมีน้อยมาก และยังมีความเชื่อว่าถ้ากินอาหารทะเลจะผิดผญาด คือ เป็นโรคผิดสำแดง หรือ แสลง ผักต่าง ๆ ถั่วต่าง ๆ ลักษณะการประกอบอาหารก็จะมีทั้งชนิดแห้งและน้ำ เช่น ลาบ ลู่ ไส้อั่ว ชิ้นหมู เอาะ แกงฮังเล แกงอ่อม แกง โฮะ แกงผักกาดจอ เป็นต้น



     มีอาหารชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านต้องมีไว้ประจำครัวเรือน เรียกว่า “ถั่วเน่า” คือ ถั่วเหลืองที่นำไปหมักแล้วนำมาทำเป็นแผ่นบาง ๆ แบน และทำเป็นแผ่นกลม ๆ พอนำไปตากแดดแห้งแล้วจะนำมาร้อยเป็นพวงด้วยตอกไม้ไผ่ นำไปเก็บไว้ในครัว ถั่วเน่าจะนำไปผสมลงในแกงหรืออาหารอย่างอื่นได้หลายอย่าง

     ที่จริงการใช้ถั่วเหลืองมาประกอบอาหารกินเป็นประจำนั้นถือว่าถูกต้องและเป็นความฉลาดของคนภาคเหนือ เพราะถั่วเหลืองนอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วยังให้พลังงานสูงด้วย

     

ยังมีอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ควรกล่าวไว้ คือ ลู่ ซึ่งเป็นประเภทอาหารคาวและยังดิบ ๆ อยู่



     

ลู่ คือลาบทางภาคเหนือแต่มีเลือดผสมด้วย

ลู่ทำจากเนื้อหมู วัว ควาย นำมาสับให้ละเอียด ผสมด้วยเครื่องเทศ มีเครื่องในสัตว์หั่นเป็นชิ้น ๆ ผสมลงไปด้วยก็ได้ รสจะเปรี้ยว เค็ม เผ็ด รสร้อนแรง นิยมกินกับเหล้า และมีผักต่าง ๆ มาแกล้ม ทางภาคอีสานลักษณะคล้ายกัน เรียกว่า ลาบเลือด แต่มีลักษณะเหลว ไม่ข้นเหมือนลู่ทางภาคเหนือ (สนิท สมัครการ :20-77)



หน้าแรก

     

คนภาคเหนือ

ถ้ารวมทุกจังหวัดทางภาคเหนือ มีประชากรไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน คนเหนือมีลักษณะผิวขาว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร คนเหนือส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนา ชอบทำบุญและรักษาประเพณีอันดีงาม ชาวเหนือเป็นคนจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี และยินดีต้อนรับเมื่อมีแขกมาเยือน ชาวเหนือส่วนใหญ่ก็เหมือนคนไทยทั่วไป ชอบอยู่กับธรรมชาติ ชอบอยู่อย่างสงบ มีฐานะพอมีพอกิน และมีจำนวนไม่น้อยที่ฐานะยากจน มีสตรีจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปประกอบอาชีพหญิงขายบริการ เนื่องจากปัญหาความยากจน ซึ่งรัฐบาลก็กำลังแก้ไขอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการให้การศึกษาและการพัฒนาให้คนมีงานทำ ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดลงไปตามลำดับ เหนือสิ่งอื่นใด คนไทยไม่ว่าภาคใด ๆ รวมทั้งคนเผ่าไทยที่อยู่นอกประเทศไทย ล้วนเป็นเชื้อสายเดียวกัน ย่อมมีความรัก ความผูกพันซึ่งกันและกัน ทั้งโดยสายเลือด และรากเง่าแห่งวัฒนธรรมเดียวกัน

สนิท สมัครการ สังคมและวัฒนธรรมเชียงใหม่ภาคเหนือ. กรุงเทพฯ:สภาสังคมศาตร์,2521

การศาสนา,กรม กองวัฒนธรรม เรื่องวัฒนธรรม.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์การศาสนา,ม.ป.ป

สรัสวดี อ๋องสกุล: ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2539.

หน้าแรก

นำลงวันที่ 18 มิถุนายน 2543



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | เพลงไทย | สรรพลี้หวน | ประวัติวังหน้า | คนภาคเหนือ | เมขลา-รามสูร | ปริศนาคำทาย| เก่งเกินครู | พระราชวังเดิม | วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา | บั้งไฟพญานาค | เพลงไทยเดิม | นิทาน | นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ฮวงจุ้ย | พิษหอยมรณะ | โจรสลัดแห่งตะรุเตา| ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม | นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
หน้าหลัก หน้าหลัก