พระราชวังเดิม
พระราชวังเดิม

"พระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระยาตากในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ พ.ศ.2310 เห็นว่าเหลือกำลังจะต้านทานกองทัพพม่าได้ จึงนำกำลังตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา  กรุงศรีอยุธยาก็ล่มสลายถูกพม่าตีแตก บ้านเมืองถูกเผาทำลาย พินาศ  พระยาตากนำกำลังกอบกู้อิสระภาพ ขับไล่พม่า ปราบปรามหัวเมืองต่างๆ สร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานี  ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ออกรบ ต่อสู้ขับไล่ข้าศึกและกอบกู้บ้านเมือง  ทรงทำสงครามเกือบตลอดพระชนม์ชีพจนถึง พ.ศ.2325 ไม่มีเวลาที่จะทรงพระเกษมสำราญ  แม้พระราชวังที่ประทับก็มิได้จัดสร้างอย่างใหญ่โต กลับเป็นพระราชวังที่เรียบง่าย แต่สวยงาม  บัดนี้พระราชวังของพระเจ้าตากสินมหาราช กลายเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์  กษัตริย์นักรบผู้อุทิศพระชนชีพกอบกู้ประเทศไทย ทรงมีพระราชวังที่เรียบง่าย ควรที่อนุชนจะได้ศึกษาหาความรู้  ราชวังนั้นก็คือ พระราชวังเดิม"



        พระราชวังเดิมเป็นพระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
        สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดให้สร้างพระราชวังนี้ขึ้น ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยเมื่อปีพุทธศักราช 2310 เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังหลวงนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีป้อมปราการที่มั่นคงสามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญด้วย
        อาณาเขตของพระราชวังเดิมในสมัยของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น มีพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) โดยรวมวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวัง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า พระราชวังเดิม ตั้งแต่บัดนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิมโดยให้วัดทั้งสองที่กล่าวแล้วอยู่ภายนอกพระราชวัง และเนื่องจากพระราชวังธนบุรีมีความสำคัญในทำเลที่ตั้ง จึงทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับ พระราชดำรินี้ได้สืบทอดมาทุกรัชกาลจนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ




ตึกวังหลัง


        พระราชวงศ์ชั้นสูงที่เคยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้มาประทับที่พระราชวังเดิมเรียงตามรัชกาลตั้งแต่รัชกาลที่ 1 มีดังนี้

รัชกาลที่ 1     -  เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศร์บดินทร์ ระหว่างพุทธศักราช 2325-2328
                         - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ระหว่างปีพุทธศักราช 2328-2352

รัชกาลที่ 2     - สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ระหว่างปีพุทธศักราช 2354-2365
   
                - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ระหว่างปีพุทธศักราช 2366-2367

รัชกาลที่ 3     - สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศเรศรังสรรค์ ระหว่างปีพุทธศักราช 2364-2394

รัชกาลที่ 4     - พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ระหว่างปีพุทธศักราช 2384-2413

รัชกาลที่ 5     - สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ระหว่างปีพุทธศักราช 2424-2443



        อนึ่งพระราชวังเดิมนี้ได้เคยเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2347 และวันที่ 4 กันยายน พุทธศักราช 2351 ตามลำดับ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรและประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม
        ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือ ตั้งแต่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2443 โดยทรงขอให้รักษาซ่อมแซมของที่ปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิม ได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนักของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และศาลศีรษะปลาวาฬ
   
   กองทัพเรือในสมัยเมื่อยังมีฐานะเป็นกรมทหารเรือ ได้ซ่อมแซมดัดแปลงและต่อเติมตำหนักและเรือนพัก เป็นกองบังคับการโรงเรียนนายเรือ อาคารเรียนและอาคารนอนของนักเรียน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449 (ซึ่งในเวลาต่อมากองทัพเรือได้กำหนดวันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันกองทัพเรือ) และได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือดังนี้
   
   "วันที่ 20 พฤศจิกายน รศ 125 เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า"
   
    โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ที่พระราชวังเดิมตลอดมาจนกระทั่งในปี 2487 ได้ย้ายไปอยู่ที่สัตหีบชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาในปี 2489 ได้ย้ายไปอยู่ที่เกล็ดแก้ว ก่อนจะย้ายมาตั้งที่สมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ. 2495
        กองทัพเรือได้ดัดแปลงแก้ไขอาคารเดิมโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิมเป็นแบบทรงไทย ใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ และกรมการเงินทหารเรือมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2492 ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นที่ทำงานของผู้บัญชาการทหารเรือ และสำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ นอกจากนั้นหน่วยงานอื่นที่เข้ามาใช้อาคารเดิมหรือสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณพระราชวังเดิมเป็นที่ทำการ ได้แก่ โรงเรียนนายทหารเรือในปีพุทธศักราช 2468 กรมเสนาธิการทหารเรือปีพุทธศักราช 2481 กรมยุทธศึกษาทหารเรือในปีพุทธศักราช 2486 (ปัจจุบันเป็นกรมสารบรรณทหารเรือ) กรมเสนาธิการทหารเรือถูกยุบเลิกในปีพุทธศักราช 2498 และในปัจจุบันกรมสื่อสารทหารเรือได้ใช้อาคารของกรมเสนาธิการทหารเรือเดิมเป็นที่ทำงาน 




วังเดิม

             
        โบราณสถานที่ยังปรากฎอยู่ในพระราชวังเดิมในปัจจุบันนี้ ได้แก่ ท้องพระโรง พระตำหนัก เก๋งคู่ พระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ป้อมวิไชยประสิทธิ์และเรือนเขียวหรืออาคารโรงพยาบาลเดิม ซึ่งจะแยกกล่าวในแต่ละอาคารดังนี้

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

อาคารท้องพระโรง

อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่

อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก

อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

อาคารเรือนเขียว

ศาลศีรษะปลาวาฬ

 




ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



          ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาคารเก๋งคู่ และตั้งประชิดกำแพงพระราชวังทางด้านทิศตะวันออกศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หลังปัจจุบันนี้ สร้างขึ้นสมัยราชกาลที่ 5 เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมในระหว่างปีพุทธศักราช 2424-2443 ได้มีพระดำริให้สร้างศาลหลังปัจจุบันขึ้นแทนศาลหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทั้งนี้ไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าศาลหลังที่มีมาแต่เดิมนั้นสร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์การใช้งานอย่างใด
   
     รูปแบบของศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เป็นอาคารทรงไทยที่มีการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกในบางส่วน หลังคาอาคารเป็นทรงไทยมีมุขลดสามด้าน มุงด้วยกระเบื้องดินเผาสีส้มอมเหลือง หน้าจั่วประดับด้วยช่อฟ้า, ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้ง ทำด้วยไม้สักทาสีแดง ผนังหน้าบันเป็นฝาก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ไม่ปรากฎลวดลายตกแต่ง ตัวอาคารยกพื้นสูง มีใต้ถุนด้านล่าง จากหลักฐานการสำรวจทางสถาปัตยกรรมและโบราณคดี เมื่อปีพุทธศักราช 2540 พบว่า ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หลังปัจจุบันสร้างซ้อนทับลงบนฐานของอาคารอีกหลังหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาลหลังเดิม     
        ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับยืน และทรงพระแสงดาบ ขนาดประมาณเท่าครึ่งของพระองค์จริง




Top


อาคารท้องพระโรง

        อาคารท้องพระโรงเป็นอาคารทรงไทย ผังอาคารรูปตรีมุข วัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผาสีส้มชนิดหางเหลี่ยงไม่เคลือบสี ด้านจั่วประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และนาคสะดุ้ง สร้างขึ้นในราวปีพุทธศักราช 2310 พร้อมกับการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาคารท้องพระโรงประกอบด้วยพระที่นั่งสององค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่



          สำหรับพระที่นั่งขวางสันนิษฐานว่ารูปแบบดั้งเดิม ไม่แตกต่างจากสภาพปัจจุบันมากนัก กล่าวคือ ภายในอาคารประกอบด้วยห้องโถงกลางขนาดใหญ่ยกพื้นสูง มีฝาก่ออิฐถือปูน 4 ด้าน เจาะช่องพระทวาร พระบัญชรโดยรอบ
   
     สำหรับในด้านการใช้งานของอาคารท้องพระโรงนั้น ภายหลังจากที่ได้รับพระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่จัดตั้งโรงเรียนนายเรือ ได้มีการปรับปรุงอาคารท้องพระโรงเพื่อใช้เป็นห้องฝึกสอนนักเรียนและที่ชุมนุมอาจารย์ ในปัจจุบันกองทัพเรือได้ใช้โถงท้องพระโรงภายในพระที่นั่งองค์ทิศเหนือเป็นสถานที่จัดงานและประกอบพิธีสำคัญเป็นประจำ ส่วนพระที่นั่งองค์ขวางได้ใช้เป็นห้องรับรองบุคคลสำคัญและห้องประชุมในบางโอกาส

ห้องบรรทมและท้องพระโรง

ด้านหน้าท้องพระโรง


Top

 

อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่

        อาคารหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมในระหว่างปีพุทธศักราช 2367-2394 โดยคงจะมีพระดำริให้สร้างขึ้นพร้อมกับการปรับปรุงอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กที่มีมาแต่เดิม
        อาคารนี้เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีนและแบบไทย ตัวอาคารในปัจจุบันเป็นตึกก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวยกพื้น หลังคาทรงจั่วแบบจีน ตั้งขนานกับอาคารเก๋งคู่หลังเล็กซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ ภายในอาคารมีพระทวารและพระแกลแบบไทย พระแกลทางส่วนผนังด้านทิศตะวันตกตกแต่งด้วยลายจำหลักไม้ที่บริเวณหย่อง เป็นรูปดอกพุดตาน ส่วนที่กรอบเช็ดหน้าที่การจำหลักลวดลายตกแต่งเป็นรูปฐานเท้าสิงห์ในตอนล่าง ซึ่งลายนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้บ่งบอกฐานานุศักดิ์ของอาคารอันเป็นที่ประทับของเจ้านายเท่านั้น ส่วนการตกแต่งซุ้มพระทวารของอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ ปรากฎมีไม้จำหลักลายประดับอยู่กรอบละ 2 ชิ้น ด้านหน้าเป็นรูปที่เหลี่ยมจัตุรัสมีตัวอักขระจีนโบราณอยู่ตรงกลางซึ่งมีความหมายในทางสิริมงคล
        สำหรับส่วนหลังคาในการสำรวจก่อนการบูรณะครั้งปัจจุบันมีร่องรอยการเขียนสีตกแต่งแบบปูนเปียก (Fresco) เป็นลวดลายแบบจีนที่บริเวณหน้าจั่วและคอสองโดยรอบอาคาร ลวดลายการเขียนสีนี้ส่วนใหญ่ได้เสื่อมสภาพไปเนื่องจากมีการซ่อมบูรณะที่ผิดวิธีและตามกาลเวลาที่ผ่านไป ซึ่งลวดลายนี้ได้รับการเขียนขึ้นใหม่ตามรูปแบบเดิมในการบูรณะครั้งนี้
        การใช้งานอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่นั้น คงมีเพียงหลักฐานทางเอกสารในช่วงเวลาหลังจากที่กองทัพเรือได้เข้ามาใช้พื้นที่แล้ว โดยในระหว่างปีพุทธศักราช 2447-2465 ได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของกองรักษาการณ์โรงเรียนนายเรือ รวมทั้งเป็นคลังการเรือ ในปีพุทธศักราช 2513 ได้ใช้เป็นที่ทำการกองเครื่องช่วยการศึกษา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ หลังจากนั้นได้ใช้งานเป็นกราบทหารและท้ายสุดในปีพุทธศักราช 2538 ก่อนการซ่อมบูรณะตามโครงการไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด




 Top

 

อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก

        ตามหลักฐานที่พบจากการสำรวจทางสถาปัตยกรรมและโบราณคดีในช่วงที่บูรณะครั้งปัจจุบันทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาคารหลังนี้คงจะสร้างขึ้นในช่วงเวลาระหว่างสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ 1-2 ทั้งนี้เนื่องจากฐานรากของอาคารอยู่ในระดับชั้นดินของยุคดังกล่าว รวมทั้งรูปแบบโครงสร้างและโบราณวัตถุที่พบในบริเวณนั้นก็สอดคล้องกับยุคสมัยของการสร้าง
        รูปแบบของอาคารตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงโดยเฉพาะประตูหน้าต่างเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศในสมัยหลัง สันนิษฐานว่าในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิม ในระหว่างปีพุทธศักราช 2367-2394 ได้โปรดฯให้ซ่อมแซมดัดแปลงอาคารหลังนี้ พร้อมกับให้สร้างพระตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่ในรูปแบบที่คล้องจองกับรูปแบบของอาคารพระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กนี้
        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทางพระราชวังเดิมให้เป็นที่จัดตั้งโรงเรียนนายเรือ พระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กได้ถูกใช้งานในลักษณะคลังเก็บของเรื่อยมาจนถึงปีพุทธศักราช 2538




วังแบบเก๋งจีน


Top

 

อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

         อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมในระหว่างปีพุทธศักราช 2367-2394
 
     อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบตะวันตกหรือเรียกว่า “ตึกแบบอเมริกัน” และหากพิจารณาทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอาจถือได้ว่าอาคารนี้เป็นตำหนักแบบตะวันตกหลังแรกที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
 
     รูปแบบโดยทั่วไปของอาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นฯ เป็นตึกกออิฐถือปูน 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าจั่วปีกนก 2 ด้าน บริเวณชั้นบนของตำหนักเป็นส่วนที่ประทับ กั้นเป็นห้องต่าง ๆ ด้วยผนังไม้ พื้นที่ชั้นล่างสันนิษฐานว่าคงจะใช้เป็นที่อยู่ของคนรับใช้รวมทั้งเป็นส่วนเตรียมงานถวายรับใช้ในบางกรณี
 
     ในตอนแรกสร้างอาคาร ผนังภายในและภายนอกก่ออิฐฉาบด้วยปูนตำขัดขาวแบบโบราณ ส่วนผนัง เพดาน พระแกล และพระทวาร รวมทั้งส่วนประกอบตกแต่งอาคารอื่น ๆ ที่เป็นไม้ทาด้วยสีเขียวแก่ทั้งหมด สีเขียวนี้เป็นที่นิยมใช้สำหรับตำหนักหรืออาคารในสมัยนั้น
 
     จากข้อมูลการสำรวจทางสถาปัตยกรรมและโบราณคดี รวมทั้งหลักฐานทางเอกสารที่ยังปรากฎในปัจจุบัน สันนิษฐานได้ว่าอาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นฯ ได้รับการซ่อมปรับปรุงในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมในระหว่างปีพุทธศักราช 2428-2448 ได้มีการก่อสร้างบันได ทางขึ้นอาคารทางทิศใต้ขึ้นใหม่เป็นบันไดก่ออิฐถือปูน ส่วนพื้นชานพักรองรับด้วยคานไม้ และจัดทำพนักลูกกรงแก้วขึ้นใหม่ทั้งหมด เป็นรูปแบบร่วมสมัยกับการต่อเติมส่วนเฉลียงภายนอกด้านทิศใต้ของอาคารท้องพระโรงและมีการต่อเติมส่วนกันสาดโดยรอบอาคารชั้นบน ในปีพุทธศักราช 2485 ได้มีการซ่อมแซมใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากหลังคารั่วและเกิดความอับชื้นมาก ทำให้อาคารทรุดโทรมลง ในการปรับปรุงคราวนี้ทำให้รูปแบบอาคารถูกเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะรูปแบบของพระแกลและพระทวาร
 
     หลังจากที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับบวรราชาภิเษก ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ พระบวรราชวัง พระตำหนักหลังนี้ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และต่อมาหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชวังเดิมให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนทหารเรือ ได้มีการปรับปรุงอาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกรมยุทธศึกษาและกองแผนที่ทะเล ระหว่างปีพุทธศักราช 2445-2449 หลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงการใช้งานเป็นคลังแผนกประวัติศาสตร์ กรมเสนาธิการทหารเรือ กองบังคับการโรงเรียนนายเรือ ห้องทำงานผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือและสำนักงานนายทหารเรือหญิงผู้ใหญ่เป็นต้น




 
Top

 

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

          ป้อมนี้เดิมชื่อ ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมบางกอก สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กราบบังคมทูลแนะนำให้สร้างขึ้นพร้อมกับป้อมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณระหว่างวัดพระเชตุพนกับปากคลองตลาด แล้วให้ขึงสายโซ่อันใหญ่ขวางลำน้ำตลอดถึงกันทั้งสองฟากลำน้ำ เพื่อป้องกันข้าศึกที่มาทางทะเล สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเห็นชอบด้วยและได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นแม่กองก่อป้อมจนแล้วเสร็จในระหว่างปีพุทธศักราช 2199-2231 การขึงโซ่กั้นเรือได้ถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์กบฎมักกะสันซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
   
     ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เนื่องจากทางไทยต้องการขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศไทย ในการรบครั้งนี้ป้อมทางฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายมากจึงโปรดให้รื้อลง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เอกราชให้ชาติไทยและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีได้ทรงสร้างพระราชวังหลวงในบริเวณป้อมวิไชยเยนทร์ พร้อมกับทรงปรับปรุงป้อมนี้และพระราชทานนามใหม่ว่าป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปี พ.ศ.2314
   
     ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปัจจุบันเป็นป้อมก่ออิฐฉาบปูน มีกำแพง 2 ชั้นขนาดกันก่อเป็นรูปแปดเหลี่ยม เฉพาะกำแพงชั้นในมีหอคอยกลมทรงสอบสองหลังนั่งบนกำแพงตรงมุมด้านทิศเหนือและทิศใต้
   
     หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานวังเดิมให้กองทัพเรือในปีพ.ศ.2443 ป้อมวิไชยประสิทธิ์จึงอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทางกองทัพเรือได้ติดตั้งปืนใหญ่โบราณสมัยรัชกาลที่ 1 จำนวน 12 กระบอก ตรงบริเวณเชิงเทินของกำแพงชั้นนอกซึ่งไม่ปรากฎว่าติดตั้งมาแต่สมัยใด บริเวณเดียวกันทางด้านตะวันออกมีปืนใหญ่ 4 กระบอก ติดตั้งเพื่อยิงสลุตในพิธีสำคัญต่าง ๆ ทางทิศใต้ประดิษฐานศาลเจ้าพ่อหนู บริเวณทางเข้าป้อมทางทิศตะวันตกตรงกำแพงชั้นในติดตั้งเสาธงเพื่อชักธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ




ป้อมปืนวิไชยประสิทธิ์


 
Top

 

อาคารเรือนเขียว

          อาคารเรือนเขียวคือ อาคารโรงพยาบาลเดิม (โรงพระยาบาลนักเรียน) เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงจำนวน 2 หลังตั้งอยู่บริเวณ "เขาดิน" ซึ่งเป็นเนินดินตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ภายในเขตกำแพงในพระราชวังเดิม
   
     อาคารเรือนเขียวนี้ได้รับการก่อสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่มีการปรับปรุงพระราชวังเดิม เพื่อใช้เป็นโรงเรียนนายเรือ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นสถานที่รักษาพยาบาลนักเรียนนายเรือซึ่งเกิดการเจ็บป่วยขึ้น
   
     อาคารโรงพยาบาลของนักเรียนนี้ได้ใช้งานมาตลอดช่วงที่โรงเรียนนายเรือตั้งอยู่ ณ พระราชวังเดิม โดยคงจะมีการสร้างเรือนไม้ชั้นเดียวเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยสองหลังเพื่อใช้เป็นห้องผสมยาและห้องแพทย์ ทางด้านทิศใต้ของอาคารหลังใหญ่ โดยมีสะพานไม้เป็นทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้งสามหลัง ในปัจจุบันคงเหลือแต่เพียงเรือนไม้เฉพาะที่เป็นห้องผสมยาและสะพานไม้เท่านั้น
   
     หลังจากที่โรงเรียนนายเรือย้ายออกไปจากพระราชวังเดิม ในปีพุทธศักราช 2485 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานของอาคารหลังนี้มาตลอด เช่นในปีพุทธศักราช 2513 บางส่วนของอาคารใช้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกรมสื่อสารทหารเรือ ส่วนในปีพุทธศักราช 2514 ใช้เป็นอาคารสโมสรเป็นต้น
   
     ในปัจจุบัน (พุทธศักราช 2541) อาคารโรงพยาบาลหรือเรือนเขียวอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมสื่อสารทหารเรือ โดยตัวอาคารหลังใหญ่ถูกใช้เป็นห้องประชุม ห้องอาหาร ห้องออกกำลังกายและเก็บหนังสือ ส่วนใต้ถุนเป็นที่เก็บของ สำหรับอาคารหลังเล็ก (ห้องผสมยา) ใช้งานเป็นสถานีสื่อสารดาวเทียมวังเดิม และเป็นที่พักของนายทหาร นอกจากนี้ในบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของอาคารติดกับมุมกำแพงพระราชวังเดิมยังปรากฎอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวอีก 2 หลัง ได้แก่อาคารห้องน้ำชายหญิงและอาคารเรือนครัว ซึ่งมีการสร้างขึ้นภายหลังและในบริเวณดังกล่าวนี้ยังเป็นที่ตั้งหอติดตั้งจานดาวเทียมของสถานีสื่อสารอีกด้วย


Top

 

ศาลศีรษะปลาวาฬ

          ในการขุดสำรวจพื้นที่ระหว่างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระตำหนักเก๋งคู่หลังเล็กระหว่างการบูรณะครั้งปัจจุบัน ได้พบฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 4.5 เมตร ยาวประมาณ 9 เมตร ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางเอกสารประกอบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นอาคารศาลศีรษะปลาวาฬซึ่งบันทึกไว้ว่า เป็นเก๋งจีนชั้นเดียวคล้ายศาลเจ้าจีน ภายในเก๋งมีกระดูกปลาวาฬ ศาลนี้ได้พังลงมาในวันที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2443 แล้วไม่มีการสร้างขึ้นมาใหม่อีก แต่ได้นำกระดูกปลาวาฬมาเก็บรวมไว้ที่ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินเท่านั้น
   
     ไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่าศาลนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยใด เมื่อกองทัพเรือได้ใช้พระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือได้รื้อซากศาลลงแล้วปรับระดับดินในพื้นที่ให้สูงขึ้น เพื่อการใช้งานใหม่โดยนำดินจากบริเวณอื่นมากลบทับจนหมด ดังนั้นในการขุดแต่งจึงพบหลักฐานน้อยมาก




 
Top

 

    
หัวเรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์ และหัวเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ
ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งเดิมเรียกว่า "อู่เรือพระราชพิธี" 
สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อใช้เป็นที่เก็บเรือพระที่นั่งและเรือรบ

 


หนังสืออ้างอิง

มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม. พระราชวังเดิม พ.ศ. 2541 กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์, 2539.

อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | เพลงไทย | สรรพลี้หวน | ประวัติวังหน้า | คนภาคเหนือ | เมขลา-รามสูร | ปริศนาคำทาย| เก่งเกินครู | พระราชวังเดิม | วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา | บั้งไฟพญานาค | เพลงไทยเดิม | นิทาน | นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ฮวงจุ้ย | พิษหอยมรณะ | โจรสลัดแห่งตะรุเตา| ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม | นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
หน้าหลัก หน้าหลัก