เมขลากับรามสูร
mekla in english language

เมขลา  รามสูร

ตำนาน ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า

เมขลา    รามสูร

คนทางประเทศตะวันออก เช่น ประเทศอินเดีย จีน ประเทศในแหลมอินโดจีน รวมทั้งคนไทยมีความเชื่อกันว่า เมื่อใดที่ฝนตกฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ เป็นประกายเจิดจ้า ตามด้วยเสียงฟ้าร้อง สะเทือนไปทั้งแผ่นดิน และบางครั้งฟ้าก็ผ่าลงมาดังสนั่นหวั่นไหว ถูกอะไรก็พังพินาศ ไหม้เป็นจุล ไม่ว่าคนหรือสัตว์ โดนฟ้าผ่าก็ตายทันที ปรากฏการที่กล่าวมานี้ คนชาวอาเซียเชื่อกันว่า เกิดจากอำนาจ แก้ววิเศษของนางฟ้าเมขลา และขวานวิเศษของอสูรเทพรามสูร ดังรายละเอียดของเรื่องว่าไว้ดังนี้


เมขลา  เมขลา  เมขลา

     เมขลา เป็นเทพธิดาผู้รักษาน่านน้ำ และนางผู้ถือดวงแก้วล่อให้รามสูรขว้างขวานทำให้เกิดฟ้าแลบและฟ้าร้อง (ดูรามสูร) นิยายพื้นบ้านของไทยยกเรื่องฟ้าคะนองขึ้นมาเล่าว่า นางเมขลาหรือมณีเมขลามีดวงแก้วประจำตัว รามสูร พอใจในดวงแก้วและความงามของเมขลา จึงเที่ยววิ่งไล่จับนาง เมื่อจับไม่ทันก็ใช้ขวานขว้าง แต่ไม่ถูก เพราะเมขลาใช้แก้วล่อจนเป็นฟ้าแลบ แสงแก้วทำให้ตารามสูรมัวจึงขว้างขวานไม่ถูก


เมขลา

            เรื่องเมขลารามสูรนี้ในวรรณคดีเก่า ๆ เช่น เฉลิมไตรภพ ว่า มีพระยามังกรการตนหนึ่งอมแก้วไว้เสมอ จะไปไหนก็เอาดวงแก้วทูนศีรษะไว้ มังกรการได้แปลงเป็นเทวดาไปสมสู่กับนางฟ้ามีบุตรีชื่อ เมขลา เมื่อเจริญวัยขึ้นมีความงามยิ่ง มังกรการได้นำบุตรีและดวงแก้วไปมอบแก่พระอิศวร ครั้งหนึ่งเมขลาได้ขโมยดวงแก้ววิเศษนั้นไป ราหูผู้มีครึ่งตัวเพราะถูกจักรพระนารายณ์เมื่อครั้งแปลงเป็นเทวดาไปดื่มน้ำอมฤต ได้อาสาไปจับเมขลา และได้ชวนรามสูรผู้เพื่อนไปด้วย รามสูรได้ขว้างขวานจนกลายเป็นฟ้าลั่น


เมขลาช่วยพระชนก
เมขลาช่วยพระชนก

          เรื่องรามสูรเมขลาในวรรณคดีสันสกฤตไม่มี แต่ในรามเกียรติ์กล่าวถึงรามสูร (เพี้ยนมาจากปรศุราม) ว่าเป็นอสูรเทพบุตร มีขวานเพชร ในเทศกาลวสันต์ เทวดาและอัปสรเล่นจับระบำกัน รามสูรเจ้าไปไขว่คว้านางอัปสร และไล่ตามนางเมขลาไปพบพระอรชุน ได้ท้ารบกัน รามสูรจับอรชุนสองขาฟาดเหลี่ยมพระสุเมรุตาย นางเมขลาฝ่ายบาลีนั้นว่ามีหน้าที่รักษาน่านน้ำมหาสมุทร คอยช่วยเหลือผู้มีบุญที่ตกน้ำ เช่น ช่วยพระชนกและพระสมุทรโฆษ เมขลาของอินเดียมีคำว่ามณีอยู่ด้วยรวมเป็นมณีเมขลา จึงรวมเป็นองค์เดียวกับเมขลาที่ถือแก้วในนิยายพื้นบ้านไทย


            เรื่องฟ้าคะนองนี้มีอีกว่า เป็นเพราะรามสูร เมขลา และพระประชุนมาชุมนุมรื่นเริงกัน พระประชุนคือพระอินทร์ในสมัยพระเวทที่มีหน้าที่ทำให้เกิดพายุฝน พระอินทร์ในหน้าที่นี้เรียกว่า ปรรชันยะ หรือ ปรรชัยนวาต ไทยเรียกเป็นพระประชุน เมื่อมีการชุมนุมรื่นเริงกันของเทพแห่งฝน เมขลาผู้มีดวงแก้วและรามสูรผู้มีขวานจึงทำให้เกิด ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เป็นเรื่องเอานิยายไทยมาปนกับอินเดีย



        เมขลาของจีนมีชื่อว่า เง็กนิ้ง แปลว่า นางหยก บางทีก็ชื่อ เตียนบ๊อ แปลว่าเจ้าแห่งสายฟ้า แต่ไม่ได้ถือดวงแก้ว หากถือธงหรือกระจกเงาทำให้เกิดแสงแวบวับ (อุทัย สินธุสาร 2520:3500-3501)

รามสูร   รามสูร  รามสูร

     รามสูร เป็นยักษ์ถือขวานเป็นอาวุธ เป็นผู้ทำให้ฟ้าร้อง เรื่องรามสูรมักมีคู่กับเมขลา (ดูเมขลา) บางแห่งว่า รามสูร เลือนมาจากปรศุราม ในนารายณ์สิบปาง ปางที่ 6 กล่าวว่าปรศุรามเป็นพราหมณ์ ลูกฤษีชมทัศนีกับนางเรณุกา มีขวานเป็นอาวุธ ปรศุรามได้บำเพ็ญตบะจนบรรลุอริยผลหลายชั้นเหลือแต่ชั้นสูงสุดคือ ปรพรหม ปรศุรามโทโสร้ายจึงมีฉายาว่า “นยักษ์” แปลว่า ต่ำ เมื่อพบกับพระรามก็ท้ารบแล้วรบแพ้พระราม ๆ ไม่ฆ่าด้วยเห็นว่าเป็นพราหมณ์ แต่ให้เลือกว่าจะให้แผลงศรไปทำลายมรรค (ทางดำเนินสู่อริยภูมิ) หรือ ผล (อริยภูมิที่จะบรรลุด้วยบำเพ็ญตบะ) ปรศุรามเลือกให้ทำลายผล


รามสูร ถวายศร
รามสูร ถวายศร

ในรามเกียรติ์ว่า รามสูรเป็นอสูรเทพบุตร มีขวานเพชรเป็นอาวุธมีฤทธิ์มาก ในเทศกาลวสันต์ เทวดาและอัปสรเล่นนักษัตรฤกษ์จับระบำกัน รามสูรเข้าไปไล่จับนางเมขลาพบพระอรชุน เกิดรบกัน รามสูรจับสองขาอรชุนฟาดเหลี่ยมเขาพระสุเมรุตาย คราวหนึ่งได้พบพระรามที่กลับจากอภิเษกสมรส จะไปกรุงอโยธยาเกิดรบกับพระราม แต่ยอมแพ้เมื่อรู้ว่าเป็นพระนารายณ์ แล้วถวายศรที่พระอิศวรประทานแก่ยักษ์ตรีเมฆผู้เป็นอัยกาตน



        นิยายชาวบ้านว่า รามสูรเป็นยักษ์ถือขวานเพชรเป็นอาวุธ เป็นเพื่อนกับพระราหู เมื่อพระราหูไปดื่มน้ำอมฤตที่พระนารายณ์ชักชวนไปกวน แล้วถูกพระนายรายณ์เอาจักรขว้างตัดร่างขาดครึ่งตัวแต่ไม่ตายเพราะดื่มน้ำทิพย์ รามสูรก็คิดจะขอพรพระอินทร์ให้พระราหูกลับมีร่างดังเดิม บังเอิญนางเมขลาไปลักดวงแก้วพระอินทร์จึงจะจับนางไปถวายเพื่อได้ความชอบก่อน แต่เมขลาก็หลบหลีกโยนแก้วล่อหลอกรามสูร รามสูรจึงขว้างขวานเพชรไป แต่อำนาจดวงแก้ววิเศษคุ้มครองนางเมขลาไว้ ต่างวนเวียนไล่ล่อกันจนเกิดเป็นฟ้าแลบเพราะแสงแก้วของเมขลา และมีเสียงฟ้าร้องเพราะรามสูรขว้างขวาน

รามสูร



        รามสูรจีนชื่อ ลุ่ยกง หน้าตาน่าเกลียดหัวมีผมพนมขึ้นไปเหมือนลิง หน้าเหมือนครุฑ ผิวเนื้อดำหรือเขียว มีปีกอย่างค้างคาว ที่ตีนมีเล็บอย่างเหยี่ยว เอากลองมาร้อยกันสวมคอเป็นสร้อยสังวาลย์ เสียงฟ้าร้องนั้นเกิดจากลุ่ยกงรัวกลอง บ้างว่ามือหนึ่งของลุ่ยกงถือสิ่ว อีกมือหนึ่งถือขวานและฆ้อน ลุ่ยกงมีหน้าที่ลงโทษผู้มีใจชั่วโดยให้ฟ้าผ่า ครั้งหนึ่งไปผ่าคนผิดโดยผ่าชายคนหนึ่งซึ่งโยนเปลือกแตงโมทิ้ง โดยเข้าใจว่าโยนข้าวที่มีประโยชน์แก่มนุษย์ทิ้ง เรื่องรู้ถึงลุ่ยโจ๊วหัวหน้าใหญ่จึงบัญชาให้เง็กนิ้ง (แปลว่านางหยก) หรือบางทีเรียกว่าเตียนบ๊อ ซึ่งเป็นนางเมขลาของจีนนำกระจกมาคอยฉาย และคอยโบกธงให้ลุ่ยกงรู้ก่อนว่าผู้ใดมีใจชั่วควรลงโทษ คราวหนึ่งลุ่ยกงทำให้ฟ้าผ่าถูกลูกชาวนาตาย พ่อเด็กจึงทำพิธีบวงสรวงลุ่ยกงเพราะเชื่อว่าลูกตนไม่มีความผิด ลุ่ยกงพิจารณาแล้วเห็นว่าเด็กไม่ผิดจึงทำให้ฟ้าผ่าอีกครั้ง ให้เด็กนั้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ และอีกครั้งหนึ่งลุ่ยกงทำงานพลาดแล้วตนเองไปติดอยู่ในง่ามไม้ที่ตนให้ฟ้าผ่า ถูกไม้หนีบออกไม่ได้ ต้องขอให้คนตัดฟืนช่วย คนตัดฟืนต้องเอาหินทำเป็นลิ่มตอกตรงรอยแยกให้ไม้ถ่างช่วยลุ่ยกงออกมาได้ ลุ่ยกงจึงมอบตำราศักดิ์สิทธิ์เรียกฝน และรักษาโรคภัยความเดือดร้อนต่าง ๆ ได้ คนตัดฟืนได้อาศัยตำรานั้นช่วยผู้คนจนร่ำรวย วันหนึ่งคนตัดฟืนกินเหล้าเมาไปนอนในศาลเจ้า เจ้าเมืองจับตัวไป ชายนั้นก็ขอให้ลุ่ยกงช่วย ลุ่ยกงจึงบันดาลให้ฟ้าผ่า เจ้าเมืองจึงต้องปล่อยตัวไป (อุทัย สินธุสาร 2520:3500-3501)




เมขลา-รามสูร

อุทัย สินธุสาร. สารานุกรมไทย. กรุงเทพฯ:อาศรมแห่งศิลป์และศาสตร์,2520.

ภาพจากพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระมหาชนก"

    พิทักษ์ สายัณห์. ลายไทย. กรุงเทพฯ:อักษรวัฒนา.

นำลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | เพลงไทย | สรรพลี้หวน | ประวัติวังหน้า | คนภาคเหนือ | เมขลา-รามสูร | ปริศนาคำทาย| เก่งเกินครู | พระราชวังเดิม | วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา | บั้งไฟพญานาค | เพลงไทยเดิม | นิทาน | นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ฮวงจุ้ย | พิษหอยมรณะ | โจรสลัดแห่งตะรุเตา| ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม | นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |
หน้าหลัก หน้าหลัก