กระต่ายกับหอยขม

เรียบเรียงโดย เรไร  ไพรวรรณ

ในบรรดานิทานสัตว์ที่มีกระต่ายเป็นตัวละครเอกที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้น เรื่องหนึ่งคือนิทานอีสป เรื่อง กระต่ายกับเต่า ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว กระต่ายเห็นเต่าตัวหนึ่งเดินต้วมเตี้ยมผ่านมาก็หัวเราะเยาะที่เต่าเดินช้า
“เดินช้าอย่างนี้เมื่อไหร่จะถึงบ้านล่ะ”
สัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นก็พากันหัวเราะเยาะเต่า เจ้ากระต่ายว่า
“ฮ่าๆ ฮ่าๆ เจ้าขาสั้น ไปต่อขาสิจะได้เดินเร็วขึ้น”
“อย่างข้านี่ กระโดดทีเดียวเท่ากับเจ้าเดิน 20 ก้าวแล้ว”  หมาจิ้งจอกคุยโว
“จริงด้วย” เจ้ากระรอกเสริม
“ดูถูกกันจริง” เต่าพูดด้วยความโกรธ “มาแข่งกันไหมล่ะ”
“หา !  พูดใหม่อีกทีซิ” บรรดาสัตว์ทั้งหลายร้องอย่างไม่เชื่อหูตัวเอง
“ฉันท้าพวกแกให้มาวิ่งแข่งกับฉัน” เจ้าเต่ายืนยันทันใดนั้นเสียงหัวเราะขบขันก็ดังก้องป่า
“แกจะวิ่งแข่งกับใครดีล่ะ” เจ้ากระต่ายถาม


“วิ่งแข่งกับเจ้าน่ะแหละ” เจ้าเต่าท้า
สัตว์อื่นๆ ก็พากันหัวเราะ แต่เมื่อเต่ายืนยันเช่นนั้น การแข่งขันจึงเริ่มขึ้น เจ้ากระต่ายวิ่งนำเต่าออกไปจนลับตา
“เฮอะ ! หลับเอาแรงสักงีบก็ยังได้”  เจ้ากระต่ายพูดกับตัวเองด้วยความประมาทแล้วก็หลบไปนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้
เจ้าเต่าคลานช้าๆ ด้วยความมุ่งมั่นในที่สุดมันก็ไปถึงเส้นชัย เจ้ากระต่ายตกใจตื่นมันรีบวิ่งไปทันที แต่ช้าไปเสียแล้ว
“เจ้าแพ้แล้ว” เจ้าเต่าพูดอย่างภาคภูมิใจ


นิทานที่มีเนื้อหาลักษณะนี้ได้อ่านพบในนิทานพื้นบ้านเขมร ซึ่ง รองศาสตราจารย์ประยูร   ทรงศิลป์ (2540 : 197 – 198), แปลไว้เป็นนิทานยาว เรื่อง “กระต่ายเจ้าปัญญา” มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงกระต่ายท้าพนันวิ่งแข่งกับหอยขม เรื่องมีอยู่ว่า
กระต่ายตัวหนึ่งลงไปที่หนองน้ำพยายามจะดื่มน้ำขณะนั้นมีหอยขมในหนองน้ำนั้นห้ามว่า
“ไอ้กระต่าย ทำไมเอ็งมาดื่มน้ำของข้า”
กระต่ายตอบว่า


“ทำไมข้าจะดื่มน้ำไม่ได้ น้ำของพ่อแม่ใคร”
หอยขมว่า
“เออ น้ำของข้า”
กระต่ายตอบว่า
“ถ้าอย่างนั้นเอ็งจะมาพนันกับข้าไหม ข้าจะวิ่งบนบก เอ็งว่ายในน้ำ ถ้าเอ็งว่ายเร็วกว่าข้าๆ จะไม่ดื่มน้ำหนองน้ำนี้ ถ้าข้าวิ่งเร็วกว่าเอ็ง ข้าก็ดื่มน้ำในหนองน้ำนี้ได้”
หอยพร้อมที่จะพนัน พวกมันคิดกันว่าจะอยู่กันให้รอบในสระนี้ ถ้ากระต่ายมันร้องถามอย่าให้หอยที่อยู่ข้างหลังตอบ ให้แต่ตัวที่อยู่ข้างหน้านั้นตอบขึ้น คิดกันเสร็จแล้วร้องบอกกระต่ายไปว่า


“กระต่ายวิ่งไปเถอะ”
กระต่ายวิ่งไปๆ แล้วร้องเรียกหอย หอยตัวหน้านั้นตอบว่า
“กู๊ก”
กระต่ายว่า
“แหม เอ็งนี่ว่ายได้เร็วไปไกลมาก”
กระต่ายวิ่งไปแล้วร้องถามอีก หอยตัวหน้าก็ตอบขึ้นอีก วิ่งเท่าไรก็ไม่ทันเลย กระต่ายจึงยอมแพ้ไม่กล้าดื่มน้ำในสระ บึง บัว ที่ไหนเลย ดื่มแต่น้ำค้างตั้งแต่นั้นมา


ในนิทานพื้นเมืองของลาว 2 เรื่อง คือ  เรื่องลิงและหอย และเรื่องเสือกับหอย ซึ่ง จารุวรรณ  เชาว์นวม รวบรวมไว้ (2542 : 115 – 116) ก็มีเนื้อหาลักษณะเดียวกัน เรื่องลิงและหอยมีว่า
ลิงเห็นว่าหอยเป็นสัตว์ที่เชื่องช้าจึงท้าหอยแข่งวิ่ง ในการแข่งตกลงกันว่า ลิงจะไปทางบก หอยไปทางน้ำ ถ้าต้องการรู้ว่าอีกฝ่ายไปถึงไหนแล้วให้ตะโกนถามและขานตอบ ลิงไม่รู้ว่าหอยทั้งป่าร่วมมือกัน  ถ้าลิงเรียกหาเมือใดให้หอยตัวที่อยู่ข้างหน้าลิงส่งเสียงขานตอบ เมื่อลิงเรียกหอยครั้งใดก็ได้ยินเสียงขานของหอยอยู่ข้างหน้าทุกครั้ง จึงเร่งฝีเท้าจนเหนื่อยวิ่งไม่ไหวอีกต่อไปและแพ้ในที่สุด ตั้งแต่นั้นมาลิงก็ไม่กล้าหมิ่นประมาทหอยอีกเลย


ส่วนเรื่องเสือกับหอยนั้น เล่าว่า เสือตัวหนึ่งจะกินหอย แต่หอยขอแข่งวิ่งจากหนองน้ำนี้ไปยังอีกหนองน้ำหนึ่ง ถ้าเสือชนะมันจึงจะยอมให้กิน  เสือรีบวิ่งไปอย่างรวดเร็ว ระหว่างทางมันอยากกรู้ว่าหอยไปถึงไหนแล้วจึงตะโกนเรียก แต่หอยตัวอื่นที่อยู่ข้างหน้าเสือเป็นผู้ขานรับ ทุกครั้งไป เสือคิดว่าหอยวิ่งเร็วกว่าตนจึงต้องยอมปล่อยหอยตามสัญญา
ในนิทานของชาวจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่ง วีระวัชร์ ปิ่นเขียน (2527 : 152) รวบรวมไว้นิทานมีเนื้อหาเช่นเดียวกันเพียงแต่ตัวละครเป็นหอยโข่ง ชื่อเรื่องกระต่ายกับเต่าและหอยโข่ง เรื่องมีอยู่ว่า
กระต่ายอวดเก่งไปท้าแข่งกับเต่า แต่เต่าไม่สู้เพราะว่าตนขาสั้น กระต่ายไปลองท้าหอยโข่งดู  หอยโข่งยอมรับคำท้าถึงแม้ตัวเองจะไม่มีขาก็ตาม หอยโข่งจึงไปนัดกับพวกตามหนองน้ำว่า


ถ้าได้ยินเสียงกู่ของกระต่ายให้พวกหอยโข่งช่วยกับกู่ร้อง หอยโข่งก็ไปนัดไว้ทุกหนองน้ำ ตั้งแต่เริ่มต้นถึงเส้นชัย เมื่อถึงวันแข่งกระต่ายก็ลงวิ่งแข่ง พอถึงหนองนั้นก็กู่ เมื่อหอยโข่งกู่ตอบ กระต่ายก็วิ่งไปอีก พอถึงหนองน้ำก็กู่อีก หอยโข่งก็ไปกู่อยู่ข้างหน้าแล้ว ทุกครั้งไป จนถึงเส้นชัย ก็แสดงว่า หอยโข่งก็ชนะแล้ว กระต่ายจึงยอมแพ้ ต่อไปกระต่ายเลยไม่ยอมลงกินน้ำอีกเลย เพราะกลัวโข่ง
นิทานดังที่กล่าวข้างต้นนอกจากจะสอนการดำรงตนด้วยความไม่ประมาทแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึง ความสามัคคีกันของเหล่าสัตว์ รวมถึงการใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาด้วย



เอกสารอ้างอิง

จารุวรรณ  เชาว์นาม.  (2545).  นิทานพื้นเมืองลาว. กรุงเทพ ฯ : คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประยูร  ทรงศิลป์.  (2540).  ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร.  กรุงเทพฯ :สถาบันราชภัฏธนบุรี.

วีระวัชร์  ปิ่นเขียน.  (2527).  วรรณกรรมของชาวบ้านจอมบึงจังหวัดราชบุรี.  ราชบุรี : ภาควิชาภาษาไทย  คณะวิชามนุศาสตร์และสังคมศาสตร์  วิทยาลัยครูหมู่บ้าน จอมบึง  ราชบุรี.

นำลงวันที่ 15 เม.ย 2553

อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

เก่งเกินครู |

คนภาคเหนือ |

โจรสลัดแห่งตะรุเตา|

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | นิทาน |

นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |

นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |

บั้งไฟพญานาค |

ประวัติวังหน้า | ปริศนาคำทาย|

เพลงไทย | เพลงไทยเดิม | พระราชวังเดิม |

พิษหอยมรณะ |

เมขลา-รามสูร |

วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |

สรรพลี้หวน | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา

| ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก หน้าหลัก