มะหุดแสนเปา กับ ท้าวแสนปม

โดย เรไร ไพรวรรณ

เรื่องมะหุดแสนเปา เป็นนิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

ซึ่งเรไร สืบสุข และคณะได้เก็บรวบรวมและพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2523 ผู้เล่านิทานคือ นางสาวแดง แย้มมูลในที่จะเสนอตามถ้อยคำสำเนียงของผู้เล่า เรื่องมีอยู่ว่า



    มะหุดแสนเปานี้ คือว่ามันนั้นมะหุดแสนเปาได้เอ็ดให้อีนางผมหอมกินมะเดื่อแล้วมานบ่ฮูจักมานกะพ่อเพา ที่นี้เอาะลุะมาเป็นปอจาย ฮานี้เป็นลุะเจาเมืองเรย ไฮก็บักเป่ากนชาวบ้านเสามา เด็กน้อยอีมักก็เอาะมาเหม็ดตุ้กอย่างละบ้อ ถ้าเด็กน้อยกานขึ้นปกบ่พเพาก็เป็นลุะผู้นั้นเจนละบ้อมันจานไปจานมาบ่ขึ้นปกบ่เพา บ้อคนนั่งอ้อมอยู่เลย เอแต่ยังบ่ได้เบอะไอ้มะหูดแสนเปากนเดียว เอ จะเป็นลุะมะหูดสะมั้ง มะหูดเอาจะเป็นลุะกูได้ชือเร้ย กูบ่กือเสาวัน มะหูดก็มาก๋ำ แต่หย่วยมะเขื่อเหรียงเดียว มันมานั้นมาไฮก็มามะเขื่อเหรียงนั้นเราะ มันก็มาเหยเด็กน้อย เด็กน้อยก็จานขึ้นปกไอ้มะหูดแสนเปา โอแม่นไอ้มะหูดนี่น่ะ อ้ายเอมเลยไล่ลุะหญิงซะ ตืงมะหูดแสนเปาเอาะเนอะบ้านเนอะเมือง ที่นี้ก็มาฟันไม่ฟันไฮ่กันอยู่ เอ้ดไฮ่เอ็ดไร๋ สู่ลุะสู่เมียกิน มาพันไอนั้นเราะไอ้ตัวลิงเจ้ากรรมนั้นเราะกำมันมาเป็นฝูง มานั่งกอยกันเจอรา ตัวลิงว่าไม้ล้มไม้ลุกไม่ตุกไม้ตื่น ไม่ล้มไม่ลุกไม่ตุกไม่ตื่น ไม้นั้นโงขึ้น โงขึ้น (หัวเราะ) กูก็ฟังไฮ่นาฟันเจิงนี้นา เจิงนี้กูก็พันนา มันเป็นซื่อเรย มื้อหลังเลยมันซอมกำมามันเลยซอมบ่มาเฮือนเห็นโตลิงมาเป็นฝูงนั่งกอนกันซะหัวหน้าเสนานะ เบาะไม้ล้มไม้ลุกไม้ตุกไม้ตื่น เพราะลิงตัวนั้นแนก่อนเน้อเมื่อปุกก่อนเน้อ จะเอาคีมเก้ามามันว่า เจ้นฮันมาเลยต๋าวมาเฮือนเสีย ไฮมื้อหลังเมือมันก็มาฟันใหม่ มันก็มาซอมไฮ่นี้นา ม่นั่งแกมโตลิงกอยก้นนั่นเราะ ลิงโทนก็มานั่งกอยก้นแก่นหัวโอ้งโอ้อยู่เลย ฮานี้ก่ำมันมามันก็นั่งอยู่ชั่นเราะ ตีฆ้องนั่นเราะมันเลยเอาคีมเก้ากอยปิ้นเสียบเสาเจิงแก่นหำหนีบบอเรย ฮานี้โตลิงมันฮ้องแฮะแอะ ลุะน้องมันเลยหนีเหม็ด ฮาจะฆ่าลิงโตนั้นซาเราะ โตลิงโตนั้นก็สอ อย่าฆ่าอย่าตายก้อนเราสอเข็ดนี้กูจะมีของดีให้มึงกูจะตีมะหูดให้ตกลงให้เหม็ด มันก็ตีมะหูดให้ตกแล้วมันก็ดีให้ติดใหม



    ก่ำมาเฮือน มาเฮือนมาเอิ้นให้เมียไขตู เมียก็เอาะมาเบิ่ง เอ มะฮังแม่นผัวกูเรยอีนา ผัวกูเป็นมะหูดนา มะเจ้นเมียก็บ่ยอมไขตูให้ สูบ่เจื้อฮา เป็นเจ้นเป็นจี้อีนา ฮาจับโตลิงได้นา ลิงโตนั้นมันตีมะหูดฮามันตีฆ้องมันได้เรย มันเลยตีมะหูดให้ตก เมียเลยตีมะหูดให้ติด เมียจึงฮาเจือ จึงฮาเจื่อว่าเจ้น ไฮมันมีก้องมันเลยตีเอาบ้านเอาเมืองตีเอาผู้เอากน เอาบ่าวเอาไพร่ ตีไร่เหม็ดมันเลยฮัง”ฮนี้



    ส่วนเรื่องท้าวแสนปมเป็นตำนานเกี่ยวกับเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่เมืองแปบเดิมอันเป็นเมืองเก่าร้าง อยู่คนละฟากกับเมืองกำแพงเพชรปัจจุบัน เรื่องมีปรากฏอยู่ในจุลยุทธการวงศ์ในประชุมพงศาวดาร เรื่องโดยสรุปมีดังนี้



 ในกาลอดีตมีชายผู้หนึ่งร่างกายมีปมเปาหูดต่อมทั้งตัว อาศัยอยู่ใต้เมืองไตรตรึงษ์ ทำไร่ปลูกผักฟักแฟงแตงน้ำเต้า ขายแลกเลี้ยงชีวิต มีมะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้บันไดเรือน ชายนั้นลงไปเบาที่ต้นมะเขือนั้นเป็นประจำ ลูกมะเขือนั้นใหญ่งามกว่าทุกต้นในไร่ ครั้งนั้นมีพระราชธิดาแห่งพญาเมืองไตรตรึงษ์พระองค์หนึ่งมีรูปโฉมงามพร้อมบริบูรณ์ด้วยเบญจกัลยาณี จึงได้ชื่อว่านางแก้วกัลยาณี มีอายุได้ 17-18 ปี คิดอยากเสวยมะเขือยิ่งนัก จึงให้ทาสาทาสีไปเที่ยวหาซื้อมะเขือ ทาสาทาสีนั้นไปเที่ยวหาซื้อมะเขือที่ตลาด เหนือตลาดใต้หลายแห่งไม่ได้มะเขือ จึงสืบเสาะไปถึงไร่ของแสนปม ซื้อมะเขือลูกใหญ่งามนั้นได้ จึงนำไปถวายแก่พระราชธิดา เมื่อพระราชธิดาเสวยมะเขือนั้นแล้ว ด้วยบุญที่เคยกระทำมาด้วยกันแต่ปางก่อนทำให้นางแก้วกัลยาณีตั้งครรภ์ขึ้น ฝ่ายพระญาติวงศ์เห็นนางตั้งครรภ์ก็ซักถาม นางก็เล่าความตามจริง ด้วยบุญแห่งพระองค์นั้นทำให้พระญาติวงศ์ทั้งหลายไม่กริ้วโกรธช่วยกันดูแลจนนางคลอดพระราชบุตรที่พระรูปโฉมงดงามประกอบด้วยลักษณะอันบริบูรณ์ พระญาติวงศ์ก็ช่วยกันเลี้ยงรักษาด้วยความรักและเมตตา



 ฝ่ายสมเด็จพระอัยกามีพระทัยประรถนาจะเสี่ยงทายพระนัดดาเพื่อจะได้รู้ว่าชายใดเป็นบิดา จึงสั่งให้เที่ยวประกาศแก่ชายทั้งหลายในกรุงและนอกกรุง ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป 3 วัน ให้บรรดาชายทั้งหลายเข้ามาในพระราชวัง และให้ถือขนมหรือผลไม้ต่างๆ ที่มีมาด้วยสิ่งละน้อย



 ราชบุรุษทั้งหลายก็ไปเที่ยวตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วทุกทิศ บุรุษทั้งหลายรู้ข่าวก็ถือขนม กล้วย อ้อยเผือกนั้นที่มีเข้ามาในพระราชวัง

 สมเด็จพระอัยกาให้แต่งกายพระนัดดาด้วยเครื่องอาภรณ์อันงดงามแล้วให้นั่งเหนือราชอาสน์ที่ ตกแต่งไว้อย่างดีในพระราชฐาน แล้วอธิษฐานว่า



 “บุรุษผู้ใดเป็นบิดาของพระราชกุมารแท้จริงไซร้ ก็ให้พระราชกุมารนี้จงถือข้าวของ วัตถุของบุรุษผู้นั้น ถ้ามิใช่บิดาอย่าให้พระราชกุมารถือข้าวของวัตถุของบุรุษผู้นั้นเลย ”

 ครั้นอธิษฐานแล้วก็ให้พระราชกุมารเข้าไปเลือกดูว่าจะรับของจากบุรุษใด แล้วก็เรียกให้บุรุษถือขนมของกินผลไม้ที่มีเข้ามาทีละคน ชายแสนปมมีแต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง พระราชกุมารก็เข้ากอดคอแล้วรับเอาก้อนข้าวเย็นมาเสวย คนทั้งหลายเห็นก็พากันตำหนิติเตียนต่าง ๆ นานา พระเจ้าไตรตรึงษ์ได้รับความอัปยศอดสูใจ จึงพระราชทานพระราชธิดาและพระราชนัดดาให้แก่ชายแสนปม ให้ใส่แพลอยไปถึงไร่มะเขือ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพระนครระยะทางวันหนึ่ง



 ชายแสนปมก็พาบุตรภรรยาขึ้นสู่ไร่ ด้วยเดชะบุญของคนทั้ง 3 บันดาลให้พระอินทร์เนรมิตกายเป็นวานรเอากลองทิพย์มาส่งให้ชายแสนปมแล้วบอกว่า

 “ท่านจะปรารถนาสิ่งใด จงตีกลองนี้จะสำเร็จความปรารถนาได้ทั้งสิ้น”



 ชายแสนปมตีกลองทิพย์นั้นอธิษฐานขอให้มีรูปงาม ปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานสูญหายไป รูปกายก็งามบริสุทธิ์ เสร็จแล้วก็นำกลองทิพย์กลับมาที่อยู่บอกแก่ภรรยา นางก็มีความยินดี จึงตีกลองทิพย์นิรมิตทองให้ช่างตีอู่ทองให้พระโอรสบรรทม พระราชกุมารนั้นจึงได้นามว่า"เจ้าอู่ทอง" แต่นั้นมา จุลศักราช 681 ปีมะแม เอกศก บิดาเจ้าอู่ทองจึงตีกลองทิพย์นิมิตเป็นพระนครขึ้นที่นั้นให้ชื่อว่า "เทพมหานคร" (ในบางแห่งใช้ว่า "เทพนคร") คนทั้งหลายก็ชักชวนกันมาอาศัยอยู่ ณ เมืองนั้นเป็นอันมาก พระองค์ก็ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า "พระเจ้าศิริไชยเชียงแสน" (ต้นฉบับในสมุดไทยดำใช้ว่า "สีวิไชยเชียงแสน") ลุปีจุลศักราช 706 ปีวอก ฉอศก พระองค์เสด็จสวรรคตแล้วกลองทิพย์ก็อันตรธานหายไป สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรสได้เสวยราชสมบัติแทน



 ถ้าดูโดยรวมแล้วจะเห็นว่าทั้งสองเรื่องมีลักษณะโครงเรื่องคล้ายกันจะแตกต่างกันในรายละเอียดบางตอน เช่น เรื่องของวิเศษในเรื่องมะหุดแสนเปาว่าเป็นฆ้อง แต่ในเรื่องท้าวแสนปมของวิเศษเป็นกลองความวิเศษมีเหมือนกัน คือใช้อธิษฐานขอพรให้มีรูปงาม ขอที่อยู่และผู้คน เพียงแต่ในเรื่องท้าวแสนปมมีเรื่องการอธิษฐานขอทองให้ช่างมาทำอู่ให้พระโอรส แต่ในมะหุดแสนเปามิได้กล่าวถึง



 นอกจากนิทานสองเรื่องนี้แล้วผู้เขียนอ่านนิทานพื้นบ้านของเกาหลีเรื่อง เจ้าบ่าวคางคก ซึ่ง เกสร เจริญรักษ์ แปลจากงานเขียนของ ซูซาน คราวเดอร์ ฮัน (ม.ป.ป. : 338-342) ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายๆ กัน เรื่องมีอยู่ว่า

 นานมาแล้วมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชาวประมงชราอาศัยอยู่ วันหนึ่งเมื่อเขามาถึงทะเลสาบซึ่งเคยมาหาปลาเป็นประจำ เขาแปลกใจที่เห็นน้ำในทะเลสาบลดลงมากกว่าที่เคยเป็นทุกวัน เขาตกปลาตามปกติ แต่พอถึงเวลาที่จะต้องเอาปลาไปขายที่ตลาด เขาก็ต้องผิดหวังที่วันนี้จับปลาได้น้อยกว่าปกติ



 วันต่อ ๆ มา น้ำก็ลดลง ลดลงเรื่อย ๆ เขาก็จับปลาได้น้อยลงทุกที จนในที่สุด เมื่อเขามาที่ ทะเลสาบก็พบว่า ไม่มีปลาเหลืออยู่อีกเลย คงมีแต่คางคกตัวใหญ่ตัวเดียว ชาวประมงแช่งด่าคางคก พลางทุ่มตัวลงบนพื้น เอามือปิดหน้า



 คางคกกระโดดมาใกล้ ๆ ชาวประมงแล้วพูดว่า “อย่าด่าข้าเลย ข้าไม่ได้กินปลาในทะสาบหรอกนะ แต่ข้าเห็นใจในความโชคร้ายของท่าน ท่านดูซิ ข้าเองก็ลำบาก ไม่มีที่อยู่ให้ข้าไปอยู่กับท่านเถอะนะ เอาข้ากลับไปบ้านด้วยเถอะ แล้วข้าจะนำโชคมาให้ท่าน”

ชาวประมงสั่นหัวไปมา แล้วรวบรวมเครื่องมือหาปลาเดินกลับบ้าน



 เย็นวันนั้น คางคกก็กระโดดมาที่บ้านของชาวประมงอ้อนวอนขออยู่ด้วย ครั้งแรกชาวประมงปฏิเสธ แต่ในที่สุดก็ใจอ่อน ยอมให้อยู่ด้วยเพราะภรรยาของเขาขอร้อง นางจัดหาที่ตรงมุมหนึ่งในครัวให้คางคกอยู่ หาหนอนและข้าวในคางคกกิน




 คางคกเจริญเติบโตตัวใหญ่เท่าเด็กชาย สองสามีภรรยารักและพูดกับคางคกเหมือนกับลูกซึ่งเขาทั้งสองไม่มีลูก

 จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้ยินคำขอที่เขานึกไม่ถึงว่าจะได้ยิน

 "ข้าอยากจะแต่งงาน ท่านจะไปขอลูกสาวของเพื่อนบ้านมาแต่งงานกับข้าสักคนได้ไหม ข้าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ข้าจะมีภรรยา"



 ชาวประมงและภรรยาตกตะลึงอ้าปากค้าง ในที่สุดชาวประมงพูดขึ้นว่า

 "ฟังนะ เราทั้งสองรักเจ้าเหมือนลูกชายก็จริง แต่เจ้าไม่ใช่มนุษย์ หรือถึงเจ้าจะเป็น แต่คนจน ๆ อย่างข้าจะมีปัญญาไปขอลูกสาวเศรษฐีคนไหนได้เล่า มันเป็นเรื่องเหลวไหลน่าหัวเราะสิ้นด"



 พ่อกับแม่อาจจะมองเป็นเรื่องเหลวไหล แต่อาจจะมีลูกสาวของบ้านไหนสักบ้านที่คิดไม่เหมือนใครและยอมรับก็ได้ พ่อยังไม่ได้ไปขอเลย ลองดูซิขอรับ ข้าขอเพียงแค่นี้เอง" คางคกอ้อนวอน

 ดังนั้นชาวประมงและภรรยาจึงไปที่บ้านเศรษฐีคนหนึ่งแล้วขอลูกสาวของเขาด้วยความประหม่าเศรษฐีโกรธมาก จึงได้ทำร้ายชาวประมง แล้วให้คนใช้จับชาวประมงและภรรยาเหวี่ยงออกนอกบริเวณบ้าน



 เขากลับบ้านอย่างกะปลกกะเปลี้ยมาเล่าให้คางคกฟัง

 "ข้าเสียใจที่เขาทำกับท่านเกินไป" คางคกพูด "แต่ไม่ต้องเป็นห่วง ข้าแน่ใจว่าจะมีสิ่งที่ดี ๆ ตามมา คอย ดูก็แล้วกัน"



 ตอนดึกคืนวันนั้น คางคกคลานออกนอกบ้าน พร้อมกับเชือก และโคมไฟ มันผูกตะเกียงติดกับขาของเหยี่ยวซึ่งมันจับได้แล้วให้เหยี่ยวแอบบินเข้าไปในบริเวณบ้านของเศรษฐี มันปีนขึ้นไปบนต้นลูกพลับข้างประตู จุดตะเกียงแล้วให้เหยี่ยวบินขึ้นไปจนสุดเชือก แล้วคางคกก็ร้องเสียงดัง



 เจ้าของบ้านซึ่งปฏิเสธการขอแต่งงานในวันนี้ ให้คิดและตัดสินใจใหม่มิฉะนั้นความวิบัติจะมาเยือนครอบครัวและลูกหลานของท่าน” มันร้องซ้ำเล่า จนเจ้าของบ้านออกมาที่สนามหญ้า แล้วโค้งคำนับแสงสว่าง คางคกเห็นดังนั้น จึงแก้เชือกออกจากขาเหยี่ยว มันจึงบินจากพร้อมกับแสงตะเกียงจนลับตา เศรษฐีคิดว่าคงจะเป็นข่าวจากสวรรค์ เขาสวดภาวนาขอโทษตลอดทั้งคืน พอรุ่งเช้าเขาขอให้ลูกสาวคนโตยินยอมแต่งงานกับคางคก แต่นางปฏิเสธอย่างเด็ดขาด ทำให้เขาต้องยอมแพ้ เขาจึงมาขอร้องลูกสาวคนที่สองให้แต่งงานกับคางคก แต่นางก็ยืนกรานปฏิเสธอีก ในที่สุดเขาได้ขอร้องลูกสาวคนสุดท้องให้แต่งงานกับคางคก ซึ่งนางยินยอมโดยดี




 เศรษฐีจึงมาที่บ้านของชาวประมง ขอโทษที่ทำกิริยาไม่สุภาพต่อชาวประมงและภรรยาเขายินดีรับข้อเสนอของชาวประมง ที่จะยกลูกสาวคนหนึ่งของเขาให้แต่งงานกับคางคก แล้วทั้งสองก็ร่วมปรึกษาหารือเตรียมจัดงานแต่งงานขึ้นในเร็ววัน



 งานแต่งงานได้จัดขึ้นท่ามกลางฝูงชนมากมาย เพราะข่าวการแต่งงานได้แพร่สะพัดไปอย่าง รวดเร็วทั่วหุบเขา เจ้าสาวรู้สึกกลัวที่ต้องมาแต่งงานกับคางคก แต่นางก็เข้าพิธีแต่งงานและปฏิบัติเหมือน เจ้าสาวทั่ว ๆ ไป แม้กระทั่งในงานกินเลี้ยงหลังพิธีแต่งงานในตอนเย็นนางทำหูทวนลมกับคำชุบชิบนินทาของแขกที่มาในงาน



 ในที่สุดก็ถึงเวลาส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าเรือนหอ เจ้าสาวนั่งนิ่งเงียบที่มุมห้อง และพยายามไม่มองไปยังสามีของนาง นัยน์ตาของนางมีน้ำตากลบตา

 "โปรดอย่ากลัวข้าเลย ข้าไม่ทำอะไรเจ้าหรอก" คางคกพูด"ไม่ต้องวิตกไปหรอก เจ้าได้พิสูจน์แล้วว่าเจ้าเป็นคนน่ารักและมีคุณธรรม ทุกสิ่งจะดีเอง จงหยุดร้องไห้ และทำตามที่ข้าบอก เอามีดมาตัดหนังที่หลังข้าออก"




 ตอนแรกหญิงสาวปฏิเสธ แต่คางคกยืนกรานที่จะให้เธอทำ ในที่สุดเธอก็กัดฟัน และตัดหนังจาก หลังคางคกออก ทันใดนั้น เจ้าชายผู้งามสง่าก็ปรากฏร่างก้าวออกมา

 เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าชายก็กลับเข้าไปในร่างคางคกเหมือนเดิม เจ้าชายคางคกและเจ้าสาวออกมาเคารพพ่อแม่และแขกที่มาในงาน ทุกคนต่างแปลกที่เจ้าสาวดูผ่องใสมาก



 เจ้าสาวยิ่งสดชื่นแจ่มใสยิ่งขึ้นเจ้าชายได้สละคราบคางคก และกลายเป็นเจ้าชายผู้งามสง่า พระองค์ทรงพาเจ้าสาวและพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงของพระองค์เสด็จไปประทับในพระราชวังที่สวยงามของพระองค์อย่างมีความสุขสืบมา

 นิทานทั้งสามเรื่องซึ่งมีที่มาจากแหล่งต่างกันแต่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่เหมือนกัน คือไม่ควร ตัดสินคนที่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะ "เปลือก" ที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอกนั้นมิใช่ความดีที่แท้จริง




หนังสืออ้างอิง

เอกสาร เจริญรักษ์ ม.ป.ป. นิทานพื้นบ้านของเกาหลี. มปท.
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 2542 จุล
ยุทธการวงศ์ในประชุมพงศาวดารฉบับกาญนาภิเษก. กรุงเทพฯ : กอง
วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
เรไร สืบสุขและคณะ 2523 วรรณกรรมพื้นบ้านไทยทรงดำ อำเภอเขาด้อย จังหวัดเพชรบุรี :ภาควิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูเพชรบุรี


นำลงวันที่ 19 ก.ย 2554


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

เก่งเกินครู |

คนภาคเหนือ |

โจรสลัดแห่งตะรุเตา|

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | นิทาน |

นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |

นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |

บั้งไฟพญานาค |

ประวัติวังหน้า | ปริศนาคำทาย|

เพลงไทย | เพลงไทยเดิม | พระราชวังเดิม |

พิษหอยมรณะ |

เมขลา-รามสูร |

วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |

สรรพลี้หวน | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา

| ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก หน้าหลัก