ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน

  ความหมายของนิทาน
  ลักษณะของนิทานพื้นบ้าน
  ความสำคัญของนิทานพื้นบ้าน
  การแบ่งประเภทของนิทานพื้นบ้าน
  องค์ประกอบการเล่านิทาน

การแบ่งประเภทนิทานพื้นบ้าน



     การแบ่งนิทานมีวิธีการแบ่งและใช้คำแตกต่างกันไปบ้าง ในที่นี้จะได้จัดจำแนกประเภทนิทานตามรูปแบบของนิทานออกเป็น 14 ประเภท ดังนี้

ปลาบู่ทอง

ปลาบู่ทอง (ภาพจาก http://www.bangkokbookclub.com/shop/b/bangkokbookclub/img-lib/spd_20050411223730_b.jpg)



1. นิทานปรัมปราหรือนิทานทรงเครื่อง (fairy tale) ลักษณะที่เห็นเด่นชัด คือเป็นเรื่องค่อนข้างยาว มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดขัดแย้งประกอบอยู่หลายเหตุการณ์ หรือหลายอนุภาค เนื้อเรื่องจะประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆซึ่งพ้นวิสัยมนุษย์ สถานที่เกิดเหตุ ไม่แน่ชัดว่ามีอยู่ที่ใด ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น มีบุญบารมี มีของวิเศษที่สามารถต่อสู้อุปสรรคขวากหนามทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ไปในที่สุด และจบลงด้วยความสุข เช่น เรื่องโสนน้อยเรือนงาม ปลาบู่ทอง นางสิบสอง สังข์ทอง เป็นต้น (กุหลาบ มัลลิกะมาส, 2518, หน้า 106) เนื้อหาของนิทานประเภทนี้สนุกสนานตื่นเต้น การดำเนินเรื่องอยู่ในโลกของจินตนาการ มีความมหัศจรรย์จากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของตัวละครที่เป็นอมนุษย์ เช่น ยักษ์ เทวดา หรือพญานาค เข้ามาเกี่ยวข้องในบางแห่งจึงเรียกนิทานประเภทนี้ว่า “นิทานมหัศจรรย์” และ ด้วยเนื้อเรื่องสนุกสนานดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีผู้นำมาดัดแปลงสำหรับใช้แสดงลิเก ละคร ภาพยนตร์ และการแสดงอื่นๆ



2. นิทานท้องถิ่นหรือนิทานประจำท้องถิ่น (legend) นิทานประเภทนี้ผู้เล่าจะเล่าด้วยความเชื่อว่า เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงและมักมีหลักฐาน อ้างอิงประกอบเรื่อง มีตัวบุคคลจริงๆมีสถานที่จริงๆกำหนดไว้แน่นอนกว่าในนิทานปรัมปรา เช่น พระร่วง เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ท้าวแสนปม เมืองลับแล พระยากง พระยาพาน เป็นต้น



3. นิทานประเภทอธิบายหรือนิทานอธิบายเหตุ (explanatory tale) เป็นเรื่องที่ตอบคำถามว่าทำไม เพื่ออธิบายความเป็นมาของบุคคล สัตว์ ปรากฏการณ์ต่างๆของธรรมชาติอธิบายชื่อสถานที่ต่างๆสาเหตุของความเชื่อบางประการ รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับสมบัติที่ฝังไว้ นิทานประเภทนี้ของไทยได้แก่ เหตุใดกาจึงมีสีดำ ทำไมมดตะนอยจึงเอวคอด ทำไมจึงห้ามนำน้ำส้มสายชูเข้าเมืองลพบุรี ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ นิทานที่พบมากคือ เรื่องเกี่ยวกับสถานที่ เช่น เกาะหนู เกาะแมว ในจังหวัดสงขลา ถ้ำผานางคอย จังหวัดแพร่ เขาตาม่องล่าย เป็นต้น




เกาะหนู เกาะแมว จ.สงขลา

ภาพจาก http://www.photohobby.net/webboard/post_photo/647a8.jpg)



4. นิทานชีวิต (novella or romantic tales) เป็นเรื่องค่อนข้างยาว ประกอบด้วยหลายอนุภาค หลายตอน (กิ่งแก้ว อัตถากร, 2519, หน้า 15) เนื้อหาของนิทานคล้ายชีวิตจริงมากขึ้น ตัวละครในนิทานประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นคนธรรมดาสามัญมากกว่า ท้าวพระยามหากษัตริย์ มีบทบาท การใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แก่นของเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความโกรธ ความหลง ความกลัว การผจญภัย สะเทือนอารมณ์มากกว่านิทานปรัมปรา ตัวเอกของเรื่องต้องใช้ภูมิปัญญา และความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆซึ่งเป็นอุปสรรคของชีวิต แสดงความกล้าหาญ อดทน อดกลั้น เอาชนะอุปสรรค ศัตรู จนบรรลุจุดหมายไว้ ฉากและบรรยากาศของนิทานชนิดนี้มีลักษณะสมจริงมากขึ้น นิทานชีวิตของไทยที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ เรื่องขุนช้างขุนแผน พระลอ ไกรทอง ของตะวันตก ได้แก่ นิทานชุดเดคาเมรอน ของตะวันออก ได้แก่ นิทานอาหรับราตรี



ขุนช้างขุนแผน

ขุนข้างขุนแผน (ภาพจาก http://www.dokya.co.uk/images/big/B00856.jpg)

5. นิทานเรื่องผี (ghost tales) เป็นนิทานที่มีตัวละครเป็นผี วิญญาณ มีเหตุการณ์เกี่ยวกับผี ผีหลอก ผีสิง เนื้อเรื่องตื่นเต้นเขย่าขวัญ ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังค่อนข้างเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง นิทานเรื่องผีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนไทยในเรื่องวิญญาณ และภูติผีต่างๆ อย่างชัดเจน ผีหรือวิญญาณในนิทานจะมาปรากฏร่างหรือการกระทำก็เพื่อให้ความ ช่วยเหลือ เพื่อแก้แค้นและเพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์



6. นิทานวีรบุรุษ (hero tale) เป็นนิทานที่กล่าวถึงคุณธรรม ความสามารถ ฉลาดเฉลียว ความกล้าหาญของบุคคล ส่วนมากเป็นวีรบุรุษของชาติหรือบ้านเมือง นิทานประเภทนี้คล้ายคลึงกับนิทานปรัมปรา คือ ตัวเอกเป็นวีรบุรุษเหมือนกัน แต่มีข้อแตกต่างกันคือ นิทานวีรบุรุษมักกำหนดสถานที่ และเวลาในเรื่องแน่ชัดขึ้น แก่นเรื่องของนิทานวีรบุรุษเป็นเรื่อง วีรกรรมของตัวเอกซึ่งเกิดจากการต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ การผจญภัยต่างๆที่เก่งกล้าเกินกว่า คนทั่วไป นิทานวีรบุรุษของภาคตะวันตก เช่น โรบินฮู้ด เฮอร์คิวลิส ของไทย เช่น ไกรทอง เจ้าสายน้ำผึ้ง พระร่วงวาจาสิทธิ์ เป็นต้น ชื่อบุคคล ชื่อบ้านเมือง เหตุการณ์หรือเค้าเรื่องมีส่วนที่เป็นความจริงอยู่ด้วย แต่เล่าตกแต่งเพิ่มเติมเสริมขึ้นจนเป็นรูปนิทานไป



เฮอร์คิวลิส
เฮอร์คิวลิส / Hercules (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Hercules)



7. นิทานคติสอนใจหรือนิทานประเภทคำสอน (fable) เป็นเรื่องสั้นๆไม่ สมจริง มีเนื้อหาในเชิงสอนใจ ให้แนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องทำนองคลองธรรม บางเรื่องสอนโดยวิธีบอกตรงๆ บางเรื่องให้เป็นแนวเปรียบเทียบเป็นอุทาหรณ์ ในบางแห่งจึงเรียกนิทานประเภทนี้ว่า นิทานอุทาหรณ์บ้าง หรือนิทานสุภาษิตบ้าง ตัวละครในเรื่องอาจจะเป็นคน สัตว์ หรือเทพยดา เป็นตัวดำเนินเรื่อง สมมติว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น เรื่องหนู กัดเหล็ก นิทานอีสป นิทานจากปัญจตันตระ เป็นต้น

นิทานอีสป

นิทานอีสป "กระต่ายกับเต่า (ภาพจาก http://www.igetweb.com/www/iteen/private_folder/tour/esob1.jpg)

8. นิทานศาสนา (religious tale) เป็นนิทานเกี่ยวกับศาสนา พระเจ้า นักบวชต่างๆ มีประวัติอภินิหารหรืออิทธิฤทธิ์ เรื่องลักษณะนี้ของชาวตะวันตกมีมาก เช่น เรื่องพระเยซู และนักบุญต่างๆ ของไทยก็มีบ้างที่เกี่ยวกับอภินิหารของนักบวชที่เจริญภาวนามีฌาณแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์พิเศษ เช่น เรื่องหลวงพ่อทวด สมเด็จเจ้าแตงโม เป็นต้น



9. นิทานชาดก (jataka tales) ชาดก หมายถึง เรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อนๆ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546, หน้า 359) เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงประวัติและพระจริยวัตร ของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติในภพภูมิต่างๆ เป็นคนบ้าง เป็น สัตว์บ้าง ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะไปเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม จะมีคุณสมบัติ แตกต่างจากผู้อื่นที่เห็นได้ชัดอยู่ 2 ประการ คือ รูปสมบัติ จะมีร่างกายสมบูรณ์ ถ้าเป็นสัตว์จะเป็นเพศผู้ ถ้าเป็นคนจะเป็นเพศบุรุษ มีความสง่างามเป็นที่ประทับตาประทับใจแก่ผู้พบเห็น และมีน้ำเสียงไพเราะ และธรรมสมบัติ คือ จะมีคุณธรรมสูง โดยเฉพาะทศบารมี (พิสิฐ เจริญสุข, 2539, หน้า 3-4) ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมม์ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา แทรกคติธรรมคำสอนไว้ในเนื้อเรื่อง ท้ายเรื่องของนิทานชาดกมักจะบอกการกลับชาติมาเกิดของตัวละครสำคัญในเรื่อง นิทานชาดกที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ ทศชาดก โดยเฉพาะชาดกเรื่องสุดท้ายคือ พระเวสสันดร

พระเวสสันดรชาดก 
				กัณฑ์กุมาร

พระเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร (ภาพจาก http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/mahachat/chadok_08.html)



10. ตำนานหรือเทพนิยาย (myth) เป็นนิทานที่มีตัวละครสำคัญเป็น เทพยดา นางฟ้า หรือบุคคลในเรื่องต้องมีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา และพิธีกรรมต่างๆที่มนุษย์ปฏิบัติอยู่ เช่น เรื่องท้าวมหาสงกรานต์ เรื่องเกี่ยวกับพระอินทร์ เป็นต้น



11. นิทานสัตว์ (animal tale) เป็นนิทานที่มีตัวเอกเป็นสัตว์ แต่สมมติให้มี ความนึกคิด การกระทำและพูดได้เหมือนคน มีทั้งที่เป็นสัตว์ป่า และสัตว์บ้าน บางทีก็เป็นเรื่องที่มีคนเกี่ยวข้องด้วยและพูดโต้ตอบ ปฏิบัติต่อกันเสมือนเป็นคนด้วยกัน บางเรื่องก็แสดงถึงความเฉลียวฉลาด หรือความโง่เขลาของสัตว์ บางทีก็เป็นเรื่องของสัตว์ที่มีลักษณะเป็น ตัวโกงคอย กลั่นแกล้งสัตว์อื่น แล้วก็ได้รับความเดือดร้อนเอง นิทานสัตว์ถ้าเล่าโดยเจตนาจะสั่งสอนคติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างชัดเจน ก็จัดเป็นนิทานคติสอนใจ



12. นิทานตลก (jest) ส่วนใหญ่เป็นนิทานสั้นๆซึ่งจุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่พฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ต่างๆ อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับความโง่ การแสดงไหวพริบปฏิภาณ การแก้เผ็ดแก้ลำ การพนันขันต่อ การเดินทางผจญภัยที่ก่อเรื่องผิดปกติในแง่ขบขันต่างๆ ตัวเอกของเรื่องอาจจะเป็นคนที่โง่เขลาที่สุด และทำเรื่องผิดปกติวิสัยมนุษย์ที่มีสติปัญญาธรรมดาเขาทำกัน เช่น เรื่องศรีธนญชัย หัวล้านนอกครู เป็นต้น



ศรีธนญชัย

ศรีธนญชัย (ภาพจาก http://shopping.sanook.com/buy/buy_detail.php?nitemID=996986)



นอกจากนี้ ยังพบว่ามีนิทานตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งมักจะมีลักษณะหยาบโลน มักเล่ากันเฉพาะกลุ่มและบางโอกาสเท่านั้น แต่มีข้อน่าสังเกตอยู่ประการหนึ่ง คือ นิทานลักษณะนี้ของไทยมักจะใช้กลวิธีทางภาษา คือ การผวนคำมาเป็นข้อขบขัน ถ้าผู้ฟังผวนคำไม่ได้หรือไม่เป็นก็จะกลายเป็นตัวตลกเสียเอง เรื่องตลกเกี่ยวกับเพศของไทยมักจะให้ตัวละครเป็นพระ ชี ซึ่งโดยปกติต้องประพฤติอยู่ในพรหมจรรย์ แต่กลับประพฤติผิดศีล ข้อห้าม หรือให้เป็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมระหว่างพี่เขยกับน้องเมีย ลูกเขยกับแม่ยาย เป็นต้น



13. นิทานเข้าแบบ (formula tale) เป็นนิทานที่มีแบบแผนในการเล่าเป็นพิเศษแตกต่างจากนิทานประเภทอื่นๆ เช่น ที่เล่าซ้ำต่อเนื่องกันไป หรือมีตัวละครหลายๆตัว พฤติกรรมเกี่ยวข้องกันไปเป็นทอดๆ นิทานประเภทนี้แบ่งได้เป็น 4 ชนิด (วิมล ดำศรี, 2539, หน้า 48-49) คือ


         13.1 นิทานไม่รู้จบ เป็นนิทานที่มีความยาวไม่จำกัด เล่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดจบ จนกว่าผู้ฟังจะเบื่อหน่าย มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนับ หรือการกระทำซ้ำๆ นิทานลักษณะนี้เหมาะกับความสนใจของเด็ก


         13.2 นิทานไม่จบเรื่อง เป็นนิทานที่ผู้เล่าเล่าหยอกเย้าผู้ฟังให้เกิดความสนุกสนาน ผู้เล่ามักจะเริ่มต้นจากเรื่องที่น่าสนใจในท้องถิ่น แล้วก็จะหาทางให้เรื่องจบลงอย่างกระทันหัน ทั้งๆที่ไม่น่าจะจบ


         13.3 นิทานหลอกผู้ฟัง เป็นนิทานที่ผู้เล่ามีเจตนาให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเล่านิทานอาจจะมีคำถามให้ตอบ ผู้ฟังคาดว่าคำตอบน่าจะถูกต้อง แต่เมื่อเฉลยแล้วจะเป็นคำตอบที่น่าขันและไม่มีเหตุผล


         13.4 นิทานลูกโซ่ เป็นนิทานที่มีเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างเดียว แต่มี ตัวละครหลายตัวและมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องเป็นทอดๆพฤติกรรมนั้นอาจจะไม่สัมพันธ์กับ ตัวละครเดิมก็ได้ นิทานลูกโซ่ของไทยซึ่งที่รู้จักกันทั่วไป คือ เรื่องยายกะตาปลูกถั่วปลูกงา ให้หลานเฝ้า



14. นิทานปริศนา (riddle tale) เป็นนิทานที่มีการผูกถ้อยคำเป็นเงื่อนงำให้ทายหรือให้คิดไว้ในเนื้อเรื่อง อาจไว้ท้ายเรื่อง หรือตอนสำคัญๆของเนื้อเรื่องก็ได้เพื่อผู้ฟังได้มีส่วนร่วมแสดงความรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับนิทานที่ได้ฟังหรืออ่าน นิทานปริศนาที่พบมากในไทยได้แก่ นิทานปริศนาธรรม นิทานเวตาลที่เรารับเข้ามาก็จัดเป็นนิทานปริศนา อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่รู้จักคือเรื่องสงกรานต์

เวตาล
นิทานเวตาล (ภาพจาก http://www.thainame.net/project/704/two.html)



          การแบ่งนิทานพื้นบ้านดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นแนวทางในการแบ่งอย่างกว้างๆที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป แต่มิใช่เป็นหลักตายตัว นิทานบางเรื่องอาจจะมีลักษณะเนื้อหาคาบเกี่ยวกันบ้าง ผู้ศึกษาควรพิจารณาวัตถุประสงค์และทัศนคติของผู้เล่าประกอบกับลักษณะและเนื้อเรื่องของนิทานว่ามีลักษณะใดที่เห็นเด่นชัดแล้วจึงจัดจำแนกเข้าหมวดหมู่
 

<< ย้อนกลับ   | ขึ้นข้างบน   | หน้าถัดไป >>


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดตำนานไทยหมวดตำนานไทย

เก่งเกินครู |

คนภาคเหนือ |

โจรสลัดแห่งตะรุเตา|

นางนากพระโขนง | นิทานภาคใต้ | นิทาน |

นิทาน-นิทานตลกหยาบโลน ว่าด้วยเรื่องนิทานพื้นบ้าน | นิทานพื้นบ้าน-กระต่ายกับหอยขม |

นิทานพื้นบ้าน-กำเนิดปลาโลมา | นิทานพื้นบ้านไทยทรงดำ-มะหุดแสนเปากับท้าวแสนปม |

บั้งไฟพญานาค |

ประวัติวังหน้า | ปริศนาคำทาย|

เพลงไทย | เพลงไทยเดิม | พระราชวังเดิม |

พิษหอยมรณะ |

เมขลา-รามสูร |

วรรณกรรมใหม่-ตราบจนสิ้นกรรม |

สรรพลี้หวน | สังเขป ประวัติกรุงศรีอยุธยา

| ฮวงจุ้ย |
หน้าหลัก หน้าหลัก