เลี้ยงหอยแมลงภู่


     อาชีพเลี้ยงหอยแมลงภู่ มีผู้นิยมทำกันมากตามแถบจังหวัดที่อยู่ติดกับทะเล ที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ก็มีผู้ประกอบอาชีพฟาร์มหอยแมลงภู่จำนวนมากเช่นกัน โดยมีผู้ประกอบอาชีพนี้ประมาณ 300 ราย เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่ติดทะเล

     คุณอร่าม หงษ์ทอง ชาวตำบลบ้านแหลมเล่าว่า เขามีพื้นที่เลี้ยงหอยแมลงภู่อยู่ 18 ไร่ ยึดอาชีพเลี้ยงหอยแมลงภู่มา 4 ปีแล้ว เดิมเป็นชาวประมง ออกหาปลาตามชายฝั่งทะเล แต่เปลี่ยนอาชีพเพราะน้ำมันแพงและหาปลาได้น้อยลง

     การเลี้ยงหอยแมลงภู่ของคุณอร่าม หงษ์ทอง ได้พัฒนาจากวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิมที่ชาวบ้านเลี้ยงสืบต่อกันมานาน คือ ในปีหนึ่งจะเลี้ยงหอย 2 ครั้งต่อรุ่น

     วิธีการเลี้ยง จะใช้ไม้ไผ่ปักในทะเลประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ลูกหอยแมลงภู่มาเกาะ เมื่อได้ลูกหอยแมลงภู่มาจะนำมาแบ่งเลี้ยงบนไม้ไผ่อีกหลาย ๆ ลำ โดยเอาอวนมาหุ้มเพื่อป้องกันหอยร่วง เลี้ยงไปประมาณ 7-8 เดือนก็จะได้หอยที่มีขนาด 20 ตัวต่อกิโลกรัม นำมาขายได้กิโลกรัมละ 4 บาท ถ้าขูดเพรียงทำความสะอาดจะขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท ปีหนึ่งทำเงินได้ประมาณ 150,000 บาท ซึ่งก็ดีกว่าการทำประมง เพราะเป็นอาชีพที่รายได้แน่นอน ตลาดมีความต้องการสม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาเรื่องราคา

     ขั้นตอนการเลี้ยง คือ นำไม้ไผ่รวกมาตัดขนาดต่างกัน ตั้งแต่ 2.50,3.50 และ 4 เมตร ไม้ไผ่ซื้อจากเมืองกาญจน์ มีคนกลางนำมาขายให้ราคาเมตรละ 1 บาท ต่อมาก็เป็นเชือก และอวน

     อวนซื้อเป็นพับใหญ่ ๆ พับหนึ่งหนักราว 3.8 กิโลกรัม ราคา 195 บาท เอามาตัดให้แต่ละชิ้นให้มีความยาวขนาด 17-20 ตาอวน หน้ากว้าง 1 เมตร จะได้อวนแผ่นเล็กพอดีหุ้มไม้ไผ่ได้ 500 ลำ

     ในการเลี้ยงหอยแมลงภู่ ครั้งแรกนำไม้ไผ่ไปปักในทะเลใช้เวลา 3-4 เดือน เมื่อได้ลูกหอยติดลำไม้ไผ่ขึ้นมา ก็จะนำมาแบ่งใส่ลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ให้ขนาดลูกหอยมีจำนวนพอเหมาะ ในการปักล่อลูกหอยครั้งแรก ปักไม้ลึกประมาณ 1 เมตร ห่างกันประมาณ 30-50 เซนติเมตร ระหว่างแถวห่างประมาณ 1.5-2 เมตร เมื่อครบกำหนด กู้ไม้ไผ่ขึ้นมาก็จะมีลูกหอยมาเกาะไม้ไผ่เป็นกลุ่ม หรือเรียงกันเป็นจำนวนมาก

     พอกู้มาก็เตรียมคน อวน เชือก ไม้ไผ่รอที่ศาลา ยกหอยลงจากเรือใช้เท้าเหยียบให้ลูกหอยหลุดจากไม้ไผ่ นำไปใส่ลงในอวน เอาลำไม้ไผ่มาวาง เอาเชือกร้อยปิดปากอวนไม่ให้หอยหลุด ส่วนลูกหอยที่ติดกันเป็นก้อนก็นำพวงหอยมาผูกติดไม้ไผ่ได้เลย ห่างกันพวงละ 5-6 นิ้ว ร้อยอวนคลุมไว้ จากนั้นก็นำลำไม้ไผ่ที่มีลูกหอยกลับไปปักไว้ในทะเลที่เดิมอีกครั้ง คราวนี้จะปักไม้ไผ่เป็นวงกลมลักษณะเหมือนกระโจม เพื่อป้องกันคลื่นหรือพายุพัดทำลาย กระโจมหนึ่งปักไม้ไผ่ประมาณ 6 ลำปักลึกลงไปในดินประมาณ 1 เมตร ปักเป็นวงกลมให้ปลายไม้ไผ่มารวมกันใช้เชือกไนล่อนผูกปลายรวมกันไว้ แต่ละกระโจมห่างกันประมาณ 1.50 เมตร จะทำให้มีอาหารพอ หอยโตเร็ว


     หลังจากปักไม้ไผ่ลูกหอยแบบกระโจมสัก 3-4 วัน ก็จะเอามีดกรีดอวนที่คลุมตัวหอยให้ขาด ไม่ให้อวนรัดตัวหอย มิฉะนั้นหอยที่โตจะอัดกันแน่นและตายในที่สุด ในตอนนี้หอยจะเติบโตเอง ต้องขยันดูแล มิฉะนั้นคนจะมาขโมย หรือมีปัญหาอื่นต้องดูแล เช่นเชือกที่ผูกหอยรวมกันจะขาด หรือไม้ไผ่หัก ก็แก้ปัญหาได้ทัน

     พอเลี้ยงไปประมาณ 7-8 เดือน หอยโตได้ขนาด คือประมาณ 20 ตัวต่อกิโลกรัมก็กู้หอยมาส่งตลาด ตลาดมหาชัยและตลาดสี่มุมเมือง มีแม่ค้าประจำคอยรับซื้อ ราคาแน่นอน รับปริมาณมาก จึงไม่มีปัญหาสินค้าล้นตลาด นับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง รายได้ดีพอสมควรทีเดียว

     ศุภชัย นิลวานิช. “เลี้ยงหอยแมลงภู่” มติชนรายวัน. ( 3 มิถุนายน 2543 ) หน้า 16.


นำลงวันที่ 27 มิ.ย 2543

อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยทำหมวดไทยทำ (งาน อาชีพ เครื่องมือทำมาหากิน )

บางกอกดอลล์ หมอดูที่สนามหลวง เลี้ยงหอยแมลงภู่
หน้าหลัก หน้าหลัก