ประเพณีแต่งงาน wedding in english language

"การแต่งงาน หมายถึง การที่ชาย-หญิง มีความรักใคร่ต่อกันจนสุกงอม และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างสามีภรรยา"

การแต่งงานการแต่งงาน เป็นประเพณีที่สำคัญสำหรับวิถีชีวิตไทย เพราะเป็นการบ่งบอกว่าผู้ที่แต่งงานนั้นมีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความรับผิดชอบมากขึ้น และพร้อมที่จะเป็นครอบครัว รับผิดชอบชีวิตอีกหลายคนเพิ่มขึ้นนอกจากชีวิตของตนเอง และยังได้ทำหน้าที่แสดงความสามารถ ตามบทบาทของตนเองในฐานะหัวหน้าของครอบครัว

ดังนั้น

การแต่งงาน

ตามทัศนะของผู้เขียนนั้นย่อมหมายถึง การที่ชาย-หญิง ของไทย มีความรักใคร่ต่อกันจนสุกงอม มีความเห็นอกเห็นใจกันและพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างสามีภรรยาจึงจำเป็นต้องแต่งงานกัน หรือบางทีอาจจะกล่าวได้ว่า การแต่งงานนั้นเป็นการบำบัดความต้องการทางเพศของมนุษย์ก็ได้ แต่ให้เป็นไปตามประเพณีของสังคม มีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและสังคมต้องรับรู้ด้วยเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้

ประเพณีการแต่งงาน

จึงจำเป็นต้องจัดให้มีพิธีกรรมตามขั้นตอนของประเพณีไทย เริ่มตั้งแต่ การทาบทาม สู่ขอ หมั้น และแต่งงาน พิธีการแต่งงานนี้ถ้าจะให้ถูกต้องเหมาะสม จะต้องประกอบพิธีทางศาสนาด้วยในตอนเช้า และอีกพิธีก็คือจะต้องจดทะเบียนแต่งงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ถือว่า การแต่งงานนั้นถูกต้องสมบูรณ์ ส่วนจะทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรนั้นจะกระทำตอนเย็นและเลี้ยงรับรองแขกผู้มีเกียรติไปพร้อมกันหลังจากหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรแล้ว หรือจะทำให้เสร็จภายในภาคเช้าเลยก็ได้ จะเป็นการประหยัดทั้งเวลาและเงิน ไม่เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ การที่จะเลี้ยงรับรองแขกจะกระทำที่บ้าน หรือโรงแรม สโมสร ที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของคู่บ่าวสาวและเจ้าภาพของทั้งสองฝ่าย



      จากประเพณีการแต่งงานที่จัดทำเป็นพิธีการขั้นตอนต่างๆ นั้น จึงนับว่ามีความสำคัญมาก และเป็นประเพณีที่งดงามเหมาะสม แสดงถึงความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมด้านจิตใจ และวัฒนธรรมทางด้านวัตถุของบรรพบุรุษของไทยเราที่มองการณ์ไกล และมีความละเอียดอ่อน โดยธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตแล้วย่อมมีความต้องการทางเพศสัมพันธ์และต้องการสืบสกุลต่อไปด้วย จึงทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างคนกับสัตว์ และขณะเดียวกันกฎหมายและประเพณีไทยเรา จึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ของบุคคลที่จะทำการแต่งงานได้ จะต้องมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง




การแต่งงาน

การแต่งงานเงื่อนไขการแต่งงาน การแต่งงานจะต้องมีกฎเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (สุพัตรา สุภาพ พิมพ์ครั้งที่ 8, 2536. น. 54-55)

1.การแต่งงาน จะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการแต่งงานก่อนนั้นได้ (ป.พ.พ.ม. 1448)

2.การแต่งงาน จะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคล ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (ม.1449)

3.ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดีจะแต่งงานกันไม่ได้ โดยให้ถือความเป็นญาติตามสายโลหิต ไม่คำนึงว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะแต่งกันกันไม่ได้ (ม. 1451)

5. ชายหรือหญิงจะทำการแต่งงานในขณะที่ตนมีคู่แต่งงานอยู่ไม่ได้ (ม. 1452)



6. หญิงที่สามีตายหรือที่การแต่งงานสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการแต่งงานใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการแต่งงานได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน หรือคลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น หรือแต่งงานกับคู่คนเดิม หรือได้มีใบรับรองของแพทย์ประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตรระบุไว้ว่าไม่มีครรภ์ตลอดจนมีคำสั่งของศาลให้ทำการแต่งงานได้



7. เงื่อนไขเกี่ยวกับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง (ตาม ม. 1436) มาตรา 1455 การให้ความยินยอมให้ทำการแต่งงานกระทำได้ แต่จะต้องมีการลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส และผู้ปกครองจะต้องทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอม โดยระบุชื่อผู้แต่งงานและผู้ปกครองทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอมด้วย สุดท้ายถ้าหากมีเหตุที่จำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนก็ได้ ความยินยอมนั้นเมื่อเซ็นให้แล้วถอนไม่ได้

8. การแต่งงานตามประมวลกฎหมายนี้ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนแต่งงานแล้วเท่านั้น




การแต่งงาน
Top

หอยสังข์งานแต่งงาน การหาฤกษ์ หนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอกันจนกระทั่งตัดสินใจเข้าสู่พิธีแต่งงาน แต่ก่อนจะเข้าสู่พิธีแต่งงานจำเป็นจะต้องหาฤกษ์ยามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว ดังนั้นญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะต้องเอา วัน เดือน ปี ไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางดวงชะตา หรือไปให้โหรดูว่าจะเหมาะสมกันหรือไม่ อยู่ด้วยกันแล้วจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรม



เมื่อเห็นว่าเป็นคู่ที่ไปกันได้หรือมีความเหมาะสมกันก็จะหาฤกษ์ที่จะให้คู่บ่าวสาวอยู่ด้วยกันอย่างเจริญรุ่งเรืองตลอดไป โดยหาฤกษ์วันเวลาที่ยกขันหมาก ฤกษ์หมั้น ฤกษ์รดน้ำสังข์ และส่งตัวคู่บ่าวสาวไว้เรียบร้อย เพื่อสะดวกในการดำเนินงานตามพิธีการ และเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว เพื่อให้ครองคู่กันตลอดชั่วชีวิต ถือไม้เท้ายอดทองตะบองยอดเพชร ส่วนมากมักจะแต่งกันในเดือนคู่ เพื่อจะได้อยู่คู่เคียงกันตลอดไปนั่นเอง ยกเว้นเดือน 12 จะไม่นิยมแต่งงานกันในเดือนนี้ เพราะเป็นเดือนที่สุนัขมันติดสัดกัน และถ้าเป็นข้างขึ้นถือว่าดีกว่าข้างแรมเพื่อให้ชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรืองสว่างไสว แต่บางทีก็จะแต่งงานกันในเดือน 9 ถือเคล็ดถึงความก้าวหน้า และเดือนที่นิยมแต่งงานกันมากที่สุดก็คือเดือน 6 เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อาจเป็นเพราะบรรยากาศช่วยเป็นใจมากกว่าในฤดูอื่น และเป็นต้นฤดูทำการเพาะปลูกของคนไทย ซึ่งหนุ่มสาวจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยการสร้างฐานะร่วมกัน



การแต่งงาน
Top

หอยสังข์งานแต่งงาน การเตรียมขันหมาก ขันหมากเป็นสิ่งจำเป็นในพิธีการแต่งงาน ซึ่งฝ่ายชายจะต้องเตรียมมา โดยจัดเป็นขบวนแห่มาบ้านฝ่ายหญิงในวันพิธีที่จัดงานในช่วงเช้า แล้วแต่ฤกษ์จะเป็นเวลาใดหรืออาจจะใช้ฤกษ์สะดวก ซึ่งปัจจุบันจะไม่เคร่งครัดนัก ขันหมากที่ฝ่ายชายจะเตรียมมาแห่ขันหมากนั้น ประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้



1. ขันหมากเอก จะจัดเป็นขันเดี่ยวหรือขันคู่แล้วแต่ประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่นส่วนใหญ่จะมีขันใส่หมากพลู ขันใส่เงินทองหรือสินสอด และขันใส่สิ่งของอันเป็นมงคล เช่น ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงิน ใบทอง ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะดูความหมายที่เป็นมงคล และนิยมจัดเป็นคู่ จะทำให้ดูสวยงามและเป็นมงคลโดยถือเคล็ดจากคำว่า "คู่" นั่นเอง สำหรับประเพณีทางบ้านของผู้เขียน คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขันใส่สินสอดจะแยกเป็น 2 ขัน คือขันใส่เงิน ซึ่งจะมีเงินค่าน้ำนม จะห่อหรือใส่ถุงก็ได้ 49 บาท กับขันใส่ทองหรือสร้อยกำไล และแหวนหมั้น รวมกับขันใส่หมากพลู และขันใส่สิ่งของอันเป็นมงคล จะเป็นทั้งหมด 4 ขัน



2. ขันหมากโท ได้แก่ พวกของที่ใช้เป็นอาหารและขนม รวมทั้งบริวารขันหมากอื่น ๆ เช่น เหล้า ต้นกล้วย ต้นอ้อย นิยมจัดเป็นคู่ ๆ เช่นเดียวกัน มีการนำกระดาษสีแดงมาประดับตกแต่งให้สวยงาม แต่ประเพณีบางแห่งก็จะไม่เอาอาหารซึ่งอาจจะเป็นหมูสามชั้น และขนมที่ใช้ในงานแต่งงาน เพราะเอาความสะดวกจะไม่ค่อยเคร่งนัก แต่ที่ขาดไม่ได้คือเหล้า ต้นกล้วย และต้นอ้อย


การแต่งงาน

      ในวันแต่ง เจ้าบ่าวและเพื่อน พร้อมขบวนขันหมากจะไปถึงบ้านเจ้าสาว เมื่อไปถึงจะพบกับการกั้นประตูตามประเพณี โดยฝ่ายหญิงจะจัดญาติ ลูกหลาน หรือเพื่อนเจ้าสาว มากั้นเป็นด่านประตู 4 ด่าน มีประตูเงิน ประตูทองอย่างละคู่ หรือจะใช้เพียง 2 ประตูก็ได้ โดยใช้เข็มขัดเงินและสายสร้อยทองคำกั้น จะมีผู้กล่าวนำซักถามกันตามประเพณี จึงจะปล่อยเจ้าบ่าวและขบวนขันหมากให้ผ่านด่านประตูเข้าไป สุดท้ายก่อนจะเข้าไปในบ้านหรือขึ้นบันไดบ้านก็จะมีเด็ก 2 คนที่ฝ่ายหญิงจัดไว้ให้พรมน้ำที่เท้าเจ้าบ่าว แล้วเจ้าบ่าวจะต้องจ่ายเงินให้ด่านประตูทุกด่านจนกระทั่งถึงการพรมน้ำที่เท้าเป็นอันเสร็จพิธีขบวนการแห่ขันหมาก เมื่อเข้าไปในบ้านเจ้าสาวก็จะมีการรับขันหมากตามประเพณี ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องจ่ายให้คนที่อุ้มขันหมากเอกและขันหมากโทด้วย แต่เน้นให้เงินขันหมากเอกมากกว่า

การแต่งงาน
Top

หอยสังข์งานแต่งงานพิธีรดน้ำ พิธีรดน้ำนี้อาจจะทำได้หลายกรณีแล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสมของทั้งสองฝ่าย จะทำพิธีรดน้ำในตอนเช้าหลังจากทำพิธีทางศาสนาแล้ว โดยรดเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือจริง ๆ จะมีจำนวนไม่มากนัก หลังจากนั้นก็เลี้ยงแขกที่มาในงานก็เสร็จพิธี หรือจะทำพิธีรดน้ำในตอนเย็นเพื่อเป็นการให้ความสะดวกแก่แขกที่มาในงาน เพราะส่วนใหญ่ต้องทำงาน และต้องเผื่อการเดินทางด้วย ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ รถติดมาก อยู่ต่างจังหวัดก็ไม่มีปัญหา คู่บ่าวสาวควรจะไปถึงสถานที่ประกอบพิธีก่อนเวลาพอสมควร



การแต่งงาน

การแต่งงาน

พิธีทำบุญเลี้ยงพระ บ่าวสาวกรวดน้ำ


พิธีรดน้ำจะต้องมีโต๊ะหมู่บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ปกติจะอยู่ทางขวาของเจ้าบ่าว เมื่อถึงฤกษ์ที่กำหนด คู่บ่าวสาวจะเข้าไปในห้องพิธีพร้อมเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวฝ่ายละ 2 คน จะมีญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวนำคู่บ่าวสาวไปจุดเทียนชัย ปักธูปและกราบพระที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วญาติผู้ใหญ่ก็จะพาคู่บ่าวสาวไปนั่งบนตั่งที่จัดไว้ วางแขนลงบนหมอน ยื่นมืออกไปพนมตรงขันรองน้ำโดยหญิงนั่งทางซ้าย ชายนั่งทางขวา ต่อจากนั้นจะให้ประธานในพิธีสวมพวงมาลัย สวมมงคลแฝดลงบนศีรษะของคู่บ่าวสาว เจิมหน้าผากของคู่บ่าวสาวแล้วหลั่งน้ำสังข์ ต่อจากนั้นจึงเชิญแขกผู้มีเกียรติคนอื่นๆ รดน้ำตามลำดับอาวุโส เสร็จจากการรดน้ำสังข์แล้วเจ้าภาพจะปลดมงคลแฝดเอง หรือจะเชิญประธานหรือผู้อาวุโสคนใดปลดก็ได้แล้วมอบให้คู่บ่าวสาว เพื่อนำไปเก็บไว้บนหัวเตียงนอนของตน

หลังจากเสร็จพิธีรดน้ำสังข์หรือหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพรแล้วก็มีการเลี้ยงฉลองพิธีแต่งงาน สำหรับญาติและแขกที่มาร่วมในงานก็เสร็จพิธี แล้วรอฤกษ์ส่งตัวเจ้าสาวให้เจ้าบ่าว ทั้งนี้ก็จะมีพิธีบ้างเล็กน้อยตามประเพณีของตน เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือพาเจ้าสาวส่งให้แก่เจ้าบ่าว พร้อมกับอบรมเจ้าสาวให้เคารพนับถือยำเกรง ซื่อสัตย์ต่อสามี และอบรมเจ้าบ่าวให้รักใคร่ เลี้ยงดูซื่อสัตย์ต่อภรรยา และปฏิบัติต่อภรรยาอย่างเหมาะสมกับหน้าที่ของสามีที่ดี แล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะกราบผู้ใหญ่ อาจจะมีพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายให้โอวาทต่อไป เจ้าบ่าวก็จะกราบพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ก็เสร็จพิธีทุกคนจะออกจากห้องหอให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวอยู่กันตามลำพัง จะได้พักผ่อนเพราะเหนื่อยในงานพิธีมามากแล้ว

การแต่งงาน

การแต่งงาน

คู่บ่าวสาวกราบพระที่โต๊ะหมู่บูชา

ประธานในพิธีสวมมงคลแฝดให้แก่คู่บ่าวสาว

รดน้ำสังข์

เลี้ยงแต่งงาน

พิธีรดน้ำ

การเลี้ยงฉลองพิธีแต่งงาน

การแต่งงาน
Top

การแต่งงาน การสิ้นสุดของการแต่งงาน การแต่งงานจะสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายหรือมีการหย่าเกิดขึ้น โดยอาศัยกรณีที่จะเป็นข้ออ้างในการหย่าร้างได้ มีดังต่อไปนี้ (สุพัตรา สุภาพ,พิมพ์ครั้งที่8,2536, น.56)

1. สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้

2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างแรง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้



3. สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนั้นถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องหย่าได้

4. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ฟ้องหย่าได้

5. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ อีกฝ่ายหนึ่งก็ฟ้องหย่าได้


6. สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ฟ้องหย่าได้



7. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได ้กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

8. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

9. สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันจะเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นก็ฟ้องหย่าได้



ในชีวิตคู่ของคนเราส่วนใหญ่มักจะมีปัญหากันทุกครอบครัว มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป แล้วแต่สภาพของปัญหาของแต่ละครอบครัว ขณะเดียวกันหากจะเกิดการหย่าร้างกันขึ้นก็เป็นเพราะคู่แต่งงานไม่เข้าใจกันและขาดความอดทน หรือเกิดนอกใจซึ่งกันและกัน หรืออาจะมาจากมือที่สามเข้ามายุ่งเกี่ยว หรืออาจจะมาจากการห่างเหินกันเองของคู่แต่งงาน หรือการอยู่ร่วมกันเป็นเดือนเป็นปีโดยไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศฉันสามีภรรยา ก็จะเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดการหย่าร้างกันได้ และในสังคมปัจจุบันปัญหาความไม่สมดุลทางเพศสัมพันธ์มักจะทำให้เกิดการหย่าร้างกันมาก

อย่างไรก็ตามทั้งคู่ต้องพยายามประคองชีวิตคู่ให้อยู่ด้วยกันให้นานที่สุด จะได้ไม่ทำให้ลูกและครอบครัวมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาทางด้านจิตใจ ด้วยเหตุนี้ประเพณีการแต่งงานจึงเป็นประเพณีที่ควรรักษาและศึกษาให้ดี เพื่อจะได้เป็นแบบแผนสืบต่อไปตราบชั่วกาลนาน ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ปลูกฝังค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมได้อย่างดีที่สุด

ก่อนที่เราจะสร้างครอบครัว ก็จำเป็นต้องเข้าใจว่า การแต่งงานนั้นมีกี่ประเภท แต่ละประเภทเป็นอย่างไร เพราะการแต่งงานเป็นการสร้างครอบครัวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

การแต่งงาน
Top



หอยสังข์ประเภทของการแต่งงาน มีท่านผู้รู้หลายท่านได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการแต่งงานไว้โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ วิวาหมงคล กับ อาวาหมงคล แต่สภาพของสังคมไทย ปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปมากรวมทั้งจิตใจของคนด้วย มักจะยึดตนเองหรือความพึงพอใจของตนเป็นหลักมากกว่าจะยึดถือส่วนรวมเป็นหลัก จึงเกิดความเห็นแก่ตัวตามมา เป็นเหตุให้สังคมไทยวุ่นวาย อยู่ในปัจจุบันนี้ ในทัศนของผู้เขียนขอแบ่งการแต่งงานออกเป็น 3 ประเภท โดยการเพิ่มการแต่งงานอีกชนิดเข้ามา คือ การหนีตามกัน หรือพากันหนี หรือวิวาห์เหาะ ซึ่งในสังคมไทยปัจจุบันนี้มีมาก ซึ่งประเภทที่ 3 นี้ไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก เพราะขัดกับประเพณีที่ดีงามของไทย

  1. วิวาหมงคล เป็นการกระทำพิธีแต่งงานตามประเพณีไทยที่แท้จริงโดยทำพิธีกันทีบ้านของฝ่ายหญิง และเมื่อพิธีแต่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจะไปอยู่บ้านของฝ่ายหญิงโดยอยู่รวมกับพ่อตาแม่ยาย ซึ่งเป็นประเพณีที่นิยมกันมากในชนบท หรือผู้ที่นิยมประเพณีตามแบบเก่า หรือมีความคิดแบบเก่าที่เห็นว่าดี งดงาม ไม่เป็นที่ครหาของสังคม แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่หนุ่มสาวที่มีการศึกษาและเป็นคนรุ่นใหม่จะไม่นิยมวิวาหมงคลนี้ เพราะต้องการอิสระ จะไม่อยู่ร่วมกับบิดามารดาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องการเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำครอบครัวอย่างแท้จริง จะมีความภูมิใจมากกว่าอาศัยพ่อแม่อยู่ ด้วยเหตุนี้สังคมไทยในสมัยปัจจุบันจึงนิยมอยู่กันเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครบครัวขยาย ดังที่ให้เหตุผลในตอนต้นแล้ว


  2. อาวาหมงคล เป็นการกระทำพิธีแต่งงานตามแบบประเพณีจีนหรืออินเดีย สำหรับคนไทยก็ยังนิยมกระทำพิธีแต่งงานแบบอาวาหมงคลอยู่บ้าง ซึ่งการแต่งงานแบบนี้ผู้หญิงจะต้องไปทำพิธีแต่งงานที่บ้านของฝ่ายชาย และเมื่อทำพิธีแต่งงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเข้าไปอยู่บ้านของฝ่ายชายโดยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ของฝ่ายชาย ซึ่งการแต่งงานประเภทนี้หญิงไทยไม่ค่อยชอบเพราะไม่อิสระ ไม่เหมือนอยู่กับพ่อแม่ของตนเอง แต่บางกรณีอาจชอบ ถ้าดูความจำเป็น ความเหมาะสมของสังคม โดยที่ฝ่ายชายมีความร่ำรวย มีเกียรติชื่อเสียงในสังคม ประกอบกับครอบครัวฝ่ายหญิงฐานะทางบ้านไม่ค่อยร่ำรวยนัก ก็จำเป็นหรือยินดีจะมาอยู่บ้านฝ่ายชาย หากพ่อแม่ฝ่ายชายรักใคร่ไม่รังเกียจ และไม่มีสมาชิก ญาติพี่น้องหลายคน
  3. วิวาห์เหาะมงคล เป็นพิธีแต่งงานที่ไม่มีพิธีรีตรอง อาศัยความรักความเข้าใจ และความพอใจของทั้ง 2 คน จึงตัดสินใจร่วมชีวิตกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องทำพิธีแต่งงานที่บ้านฝ่ายใด พิธีแต่งงานแบบนี้จะเกิดจาก พ่อ แม่ ของทั้งสองฝ่ายไม่ชอบซึ่งกันและกัน มีความขัดแย้งกัน หรือตกลงกันไม่ได้ แต่ทั้ง 2 คนรักใคร่กัน จึงจำเป็นต้องพากันหนี เพื่อไปหาความสุข และสร้างครอบครัวของตนเองใหม่ ไม่อยู่กับฝ่ายใดทั้งสิ้น เมื่อมีลูกแล้วค่อยพาครอบครัวมากราบขอขมาจากพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ถ้าพ่อแม่เห็นว่าทั้งฝ่ายหญิง-ชายรักใคร่กันดี เป็นครอบครัวที่อบอุ่นก็มักจะอภัยให้ลูกเสมอ


    การแต่งงานประเภทนี้ถ้ามองตามประเพณีไทยก็ไม่เหมาะสมนัก เพราะขัดกับประเพณีที่ดีงาม พ่อแม่และสังคมไทยยอมรับยาก หากมองมุมกลับก็เป็นการแต่งงานที่เรียบง่ายไม่ต้องมีพิธียุ่งยากนัก และเป็นการประหยัดทุกย่าง ไม่ต้องลงทุนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่ต้องจดทะเบียนแต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีกว่าค่านิยมแบบใหม่ที่เป็นแบบการทดลองอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน หากไม่ชอบหรือไปด้วยกันไม่ได้ก็แยกทางกัน โดยไม่มีข้อผูกมัดแต่อย่างใด การแต่งงานในรูปแบบที่ 3 นี้ก็มีผู้นิยมกระทำกันอยู่บ้าง และบางคู่ก็ไม่ได้หนีพ่อแม่ไปอยู่ด้วยกัน หากแต่ไปใช้ชีวิตคู่ร่วมกันโดยไม่บอกพ่อแม่ แต่จดทะเบียนแต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ (พวงผกา ประเสริฐศิลป์ 2542:73-81)

การแต่งงาน
Top

พวงผกา ประเสริฐศิลป์. ประเพณีไทยกับการเปลี่ยนแปลงตามกระแสวัฒนธรรมโลก. กรุงเทพฯ: สถาบันราชภัฏสวนดุสิต, 2542

นำลงวันที่ 13 ก.ย 2543

อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ธรรมเนียมไทยหมวดธรรมเนียมไทย

การถวายสังฆทาน

ประเพณีทำบุญ

ประเพณีสงกรานต์

ประเพณีแห่ผีตาโขน

ประเพณีแต่งงาน

พิธีบายศรีสู่ขวัญ

พิธีทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ)

พิธีโกนผมจุก

ลอยกระทง

วันมาฆบูชา

วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่


หน้าหลัก หน้าหลัก