ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์

สงกรานต์

เป็นประเพณีของคนไทยที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน อันที่จริงไม่ใช่เฉพาะคนไทยในประเทศไทยเท่านั้น ที่ถือว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ คนที่พูดภาษาตระกูลไท ก็ยึดถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน เช่น ประเทศลาว คนไทยใหญ่ในประเทศพม่าที่ชายแดนติดกับภาคเหนือของไทย คนจีนที่พูดภาษาตระกูลไท ในแค้วนยูนนาน เป็นต้น

สงกรานต์ เป็นคำที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้ แต่คำเต็ม ๆ คือ

ตรุษสงกรานต์

ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียด ดังนี้

ตรุษ

  แปลว่า ตัด หรือ ขาด หมายถึง ตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี ดังนั้น ตรุษ จึงหมายถึงพิธีแสดงความยินดีที่ปีเก่าผ่านไป การมีชีวิตรอดมาตลอดปีได้ ก็มีการแสดงความยินดี คนไทยแต่ก่อนนับเดือน เมษายน เป็นเดือนสิ้นปี และเริ่มปีใหม่ พิธีทำบุญวันตรุษ จะทำ 3 วัน คือ เมื่อถึงเดือน 4 วันแรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ และวันขึ้น 1 ค่ำ ของเดือน 5 จะมีการนิมนต์พระมาสวด และมีการทำบุญ ถวายอาหารและขอพรจากพระ เพื่อเป็นสวัสดิมงคล สันนิฐานว่าคนไทยรับนับถือพุทธศาสนา เลยทำแบบอย่างพิธีทำบุญวันตรุษตามแบบอย่างของลังกามาด้วย

สงกรานต์

แปลว่า การย้ายที่ หรือ เคลื่อนที่ หมายถึง พระอาทิตย์ย้ายที่หรือเคลื่อนเข้าสู่ราศีใหม่ ซึ่งก็หมายถึง การขึ้นปีใหม่นั่นเอง คนจึงแสดงความยินดีที่มีชีวิตยืนยาวย่างเข้าสู่ปีใหม่ จึงต้อนรับปีใหม่ วันปีใหม่จะเป็นวันที่ 13, 14, และ 15 เมษายนของทุกปี

     วันที่ 13 เมษายน เรียกว่าวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เรียกว่า วันเนา และวันที่ 15 เรียกว่า วันเถลิงศก ทางภาคเหนือ เรียกต่างกันไปบ้าง แต่ก็เข้าใจง่ายดี ดังนี้ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันสังขารล่อง คงหมายถึง ร่ายกาย จิต วิญญาณเก่า ๆ ของปีเก่ากำลังผ่านพ้นไป วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเน่า ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันพญาวัน ซึ่งก็หมายถึงวันสำคัญวันแรกของปีใหม่นั่นเอง

เรื่องของสงกรานต์ มีตำนานปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพน กล่าวถึงมูลเหตุแห่งสงกรานต์ สรุปได้ว่า

     มีเศรษฐีคนหนึ่งถูกนักเลงสุราใกล้บ้านที่มีลูกหน้าตาหมดจด 2 คน มากล่าวหาหยาบคายว่า ร่ำรวยก็สู้เขาไม่ได้ แม้ยากจนก็ยังมีลูกสืบสกุล ตายแล้วก็สูญเปล่า เศรษฐีจึงไปบนบานศาลกล่าวที่ต้นไทร ริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดมา ชื่อ ธรรมบาลกุมาร บิดาปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ใต้ต้นไทรนั้น ธรรมบาลเฉลียวฉลาด เรียนจบไตรเพท เมื่ออายุ 7 ขวบ และรู้ภาษานกด้วย ท้าวกบิลพรหมจึงมาทดลองความรู้ โดยถามปัญหา 3 ข้อ ถ้าตอบได้ จะตัดศีรษะบูชา คือ

  1. เช้าราศีอยู่ที่ไหน
  2. เที่ยงราศีอยู่ที่ไหน
  3. ค่ำราศีอยู่ที่ไหน

ภายใน 7 วันจะมาฟังคำตอบ ธรรมบากลุมาร คิดไม่ออก ถึงวันที่ 6 จึงแอบหนีจากปราสาทไปหลบอยู่ใต้ต้นตาลใหญ่ 2 ต้น ซึ่งพญาอินทรีผัวเมียทำรังอยู่บนนั้น

     ตอนค่ำนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารที่ไหนกิน ผัวตอบว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร เพราะจะแพ้ตอบปัญหากบิลพรหมไม่ได้ จะถูกตัดหัว เมื่อนางนกอินทรีถามปัญหาว่าอย่างไร และคำตอบว่าอย่างไร พญาอินทรีเฉลยปัญหาให้เมียฟังว่า

  1. ตอนเช้าราศีอยู่ที่หน้า มนุษย์จึงเอาน้ำล้างหน้าตอนเช้า
  2. ราศีอยู่ที่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมมาปะพรมที่อก
  3. ราศีอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงล้างเท้าก่อนนอน

     ธรรมบาลได้ฟังนกอินทรีผัวเมียสนทนาจึงกลับมาประสาท พอวันรุ่งขึ้นกบิลพรหมก็มาถามปัญหา ธรรมบาลก็ตอบตามที่ได้ยินจากพ่อนกอินทรี กบิลพรหมแพ้จึงต้องตัดศีรษะตามสัญญา แต่ศีรษะของกบิลพรหมมีฤทธิ์อำนาจมาก ถ้าตกถึงพื้น จะเกิดไฟไหม้ทั่วโลก ถ้าทิ้งบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าโยนลงน้ำ มหาสมุทรจะเหือดแห้งไปทันที จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดเอาพานมารับศีรษะไว้ แห่รอบเขาพระสุเมรุ แล้วเชิญไปไว้ในมณฑปในถ้ำคันธธุลี เขาไกรลาส เมื่อครบ 365 วันหรือ 1 ปี นางทั้งเจ็ดจัดเวรกันมาเชิญศีรษะกบิลพรหมออกมาแห่รอบเขาพระสุเมรุ โดยกำหนดว่า วันที่ 13 เดือนเมษายน คือวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันใด ธิดาประจำวันนั้นก็จะป็นผู้อัญเชิญพาน ดังนี้

     สงกรานต์เป็นประเพณีที่ชาวไทยทั่วประเทศปฏิบัติสืบต่อเป็นประเพณีมาช้านาน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน จนถึงวันที่ 15 เมษายน ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา และสรงน้ำพระทั้งพระพุทธรูป และพระสงฆ์ แล้วก็จะรดน้ำ มีการเล่นสาดน้ำและเล่นกีฬาพื้นบ้าน

     ประเพณีปล่อยปลาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเดือนเมษายน เป็นหน้าแล้ง อากาศร้อนมาก น้ำแห้งขอด ปลาก็จะไปรวมกันอยู่ตามแหล่งน้ำเล็ก ๆ หากน้ำแห้งก็จะตาย เป็นเหยื่อของนก กา หรือสัตว์อื่น คนเห็นก็เมตตา นำไปปล่อยในแม่น้ำ พอถึงฤดูฝนปลาที่รอดตายก็กลับมาแพร่พันธุ์เป็นอาหารของคนได้อีก

สงกรานต์ที่เชียงใหม่

ประเพณีสงกรานต์ ภาคเหนือและภาคอีสานมีการเล่นสงกรานต์ สาดน้ำกันทั่วทุกหมู่บ้าน ถึงกับมีการหยุดงานเล่นสงกรานต์ บางแห่งหยุดงานถึง 7 วันเลยทีเดียว ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงที่สุด สนุกที่สุด และมีคนจากที่อื่นของประเทศไทย รวมทั้งชาวต่างประเทศมาร่วมงานสงกรานต์มากที่สุด คือ สงกรานต์ที่เชียงใหม่ ชาวเมืองเชียงใหม่จะปฏิบัติ ดังนี้

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันสังขานต์ล่อง จะเป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือน

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนาว์ ชาวบ้านเรียกว่า วันเน่า วันนี้ชาวบ้านจะนำอาหารไปถวายพระ เลี้ยงอาหารญาติมิตร เป็นวันขึ้นต้นปีใหม่ จะถือว่าต้องไม่ทำอะไรชั่วร้าย ไม่พูดจาหยาบคาย ด่าทอคนอื่น

วันที่ 15 เมษายน เป็นวัน พญาวัน ถือเป็นวันดีที่สุด จะทำบุญตักบาตรกันอย่างเต็มที มีการจัดขบวนไปรดน้ำสงฆ์ ไปรดน้ำผู้ใหญ่ ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข

จุดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำให้คนอยากไปเล่นสงกรานต์

เพราะเชียงใหม่มีคูน้ำล้อมรอบเมืองเก่า คนทุกสารทิศจะไปชุมนุมที่คูน้ำรอบเมืองเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน และที่สำคัญ คือ วัดต่าง ๆ จะอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดจัดขบวนแห่ยาวเหยียด เช่น ขบวนพระสิงห์ ขบวนพระแก้วขาว เป็นต้น พระพุทธรูปมีอายุ 700 ถึง 1,000 ปี เข้าขบวนแห่ผ่านกลางเมืองมาให้คนได้ทำพิธีสรงน้ำพระด้วยน้ำหอม สงกรานต์เชียงใหม่ทุกปีคนแน่นทั้งเมือง เรียกว่า ปิดเมืองเชียงใหม่เล่นสงกรานต์ตลอด 3 วันเลยทีเดียว

ภาพขบวนแห่สงกรานต์ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

นำลงวันที่ 12 เม.ย 2543


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ธรรมเนียมไทยหมวดธรรมเนียมไทย

ลอยกระทง | ประเพณีทำบุญ | วันมาฆบูชา | การถวายสังฆทาน | ประเพณีสงกรานต์ | ประเพณีแห่ผีตาโขน | ประเพณีแต่งงาน | พิธีบายศรีสู่ขวัญ | วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ | ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ | พิธีทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ) | พิธีโกนผมจุก |
หน้าหลัก หน้าหลัก