พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยโบราณคงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมาย เพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกพืชผล โดยเฉพาะคือการทำนา ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิต ผู้ปกครองหรือผู้เป็นประมุขของประเทศ เมื่อถึงฤดูกาลที่ควรจะเริ่มลงมือเพาะปลูกพืชผลจึงต้องประกอบกรณียกิจเป็นผู้นำโดยลงมือไถหว่านพืชพันธุ์ธัญญหารเป็นตัวอย่างเพื่อเตือนว่า ถึงเวลาประกอบการเพาะปลูกตามฤดูกาลแล้ว
ต่อมากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้มีการพิธีเรียกว่า จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิส่งเสริมให้มีอำนาจ และความสวัสดีต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ในพิธีนี้พระมหากษัตริย์ หรือประมุขของประเทศอาจจะทรงมีพระราชภารกิจอื่นจึงโปรด แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้ทำแทนพระองค์เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ ไถ หว่าน ธัญญพืช พระมเหสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ หว่าน ก็เปลี่ยนเป็นจัดให้นางในท้าวนางในราชสำนัก ออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนาไถ หว่าน เรียกว่า เทพี พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมานานนับพันๆ ปี และมีเกือบทุกชาติ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทำในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยาไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ
ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วยเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธีแล้วจึงนำไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม 2 พิธีแล้วเรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน 2 วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคลเพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรจึงเป็นวันที่มีความสำคัญ
โบราณจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 โดยที่มีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ตายตัว ตามปกติแล้ว จะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน 6 ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา อันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ
เมื่อโหรหลวงคำนวนได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณี ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2479 แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ.2483 ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคลที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมาพระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วัน มีอ่านประกาศถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปกติและกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธารราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรงบันดาลให้ฝนตก จึงได้สร้างขึ้น ณ เมืองคันธารราษฎร์ ครั้งอดีตกาลแล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมกษัตริย์ ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นไว้ เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาลซึ่งเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงาน พระราชพิธีนี้สืบมาสุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคลและขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา เทพยดาทั้งปวงประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลจบประกาศแล้ว พระสงฆ์ 11 รูป เจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะ เพื่อเสกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑลมีข้าวเปลือกพันธุ์ต่างๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 เลขาธิการพระราชวังพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมจัดเป็น 2 วันแล้วได้ระงับไปคงได้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำปี สำหรับปี พ.ศ. 2503 ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิม เพื่อรักษาบูรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระราชพิธีทุกปี ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัยด้วย
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่นุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการเป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้น โปรดเกล้าฯให้จัดท้าวนางฝ่ายใน
เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่พระยาแรกนาจึงได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตร เพทีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตร
ในปีต่อมาจนปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนา ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ 3-4 คือ ชั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีเพื่อสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร สนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ ชาวนาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งได้เสด็จฯ มาเป็นประธานอธิษฐานของความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารให้มีแก่อาณาจักรไทย และได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วพระราชทานนำมาเข้าในพระราชพิธี ประมาณ 40-50 กิโลกรัม
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมาเข้าพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แบ่งไปหว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อเป็นสิริมงคลตามพระราชประสงค์ที่ทรงส่งเสริมการเกษตร
หนังสืออ้างอิง
"วันพืชมงคล". พิกุล-จัน. 22 (14-20 พฤษภาคม 2544) หน้า 4-5
ภาพประกอบจาก
1. http://kanchanapisek.or.th
2. http://www.stjohn.ac.th/University/Cultural/salath_aplmay4.html
3. http://asiarecipe.com/thaiplou.html
4. http://www.geocities.com/RainForest/7153/plow.htm
นำลงวันที่ 1ต.ค 2544
อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดธรรมเนียมไทย
ลอยกระทง |
ประเพณีทำบุญ |
วันมาฆบูชา |
การถวายสังฆทาน |
ประเพณีสงกรานต์ |
ประเพณีแห่ผีตาโขน |
ประเพณีแต่งงาน |
พิธีบายศรีสู่ขวัญ |
วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ |
ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ |
พิธีทำขวัญเดือน
(โกนผมไฟ) |
พิธีโกนผมจุก |
หน้าหลัก