การสร้างปราสาทหินพิมายนอกจากจะสร้างเป็นพุทธสถานและเทวสถานตามแบบศาสนาฮินดูแล้ว ยังหมายถึงลัทธิการบูชาบุคคล อันเป็นคติความเชื่อของคนพื้นเมืองโบราณหลายเผ่า เช่น จาม ชวา บาหลี และขอม เป็นต้น เชื่อกันว่า ผู้สร้างปราสาท เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะเข้าไปสถิตย์รวม อยู่กับเทพเจ้า
การสร้างปราสาททั้งพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์เกิดจากความเชื่อที่ว่า เขาพระสุเมรุ คือแกนกลางของโลก อันหมายถึงองค์ปราสาท ที่เป็นจุดศูนย์กลาง ส่วนกำแพงล้อมรอบ หมายถึงอาณาเขตแห่งจักรวาล ต่อจากนั้นก็เป็น มหาสมุทรนทีสีทันดร สระน้ำที่อยู่ถัดจากปราสาท หมายถึงมหาสมุทรนั่นเอง ส่วนปราสาทแต่ละชั้น หรือแต่ละเขตก็จะมีสัตว์หิมพานต์ เช่น มีพญานาค ครุฑ ยักษ์ เทวดา ไปจนถึง พระนารายณ์ พระอิศวร
ปราสาทองค์ประธาน อันเป็นแกนแห่งเขาพระสุเมรุ เป็นที่ประดิษฐาน พระศิวลึงค์ หรือรูปเคารพที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ รูปเคารพที่ปราสาทหินพิมาย เชื่อว่าเป็น กมรเตงคตวิมาย เป็นรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของพุทธสถาน ชื่อนี้กล่าวไว้ในจารึก
ปราสาทหินพิมายตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของเมือง พิมาย ริมฝั่งแม่น้ำมูล เมืองนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางพื้นที่ราบ ที่เรียกกันว่า ทุ่งสัมฤทธิ์ เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ เพราะพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ปราสาทแห่งนี้เป็นพุทธสถานของพุทธศาสนามหาญาณ ลักษณะแผนผังของพุทธสถานเป็นรูปกากบาท ประกอบด้วยอาคารสำคัญ 3 หลัง คือ ปรางค์ใหญ่ ปรางค์พรหมทัต และปรางค์หินแดง อยู่บริเวณชั้นในของซุ้มประตู คูหาติดต่อกันสี่ทิศรูปกากบาท มุมกำแพงอันเป็นลานชั้นนอก มีสระน้ำอยู่ทั้ง 4 มุม ประตูทางเข้าด้านทิศใต้ เป็นด้านหน้าของปราสาท จะมีสะพานนาคเป็นทางเข้าสู่ตัวปราสาท
ปราสาทหินพิมาย เป็นพุทธสถานมหาญาณที่สวยงามอย่างยิ่ง ปรางค์ใหญ่องค์ประธาน จะประกอบด้วย เรือนธาตุ คือ รูปอาคารสี่เหลี่ยมจตุรัสมีมุขยื่นออกทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุขทิศ จะมีรูปสลักเป็นพระพุทธรูป ดังนี้
ที่หน้าบันของมุขประสาท ทั้ง 4 ด้าน มีภาพสลักสวยงาม ดังนี้
ปรางค์พรหมทัต อยู่ด้านซ้ายของปรางค์ใหญ่ มี ประติมารูปท้าวพรหมทัต และ ประติมารูปนางอรพิม
ปรางค์หินแดง เป็นศาสนสถาน สร้างด้วยหินทรายสีแดง
ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญของปราสาทหินพิมายที่น่าสนใจมีหลายแห่ง เช่น ประตูชัย คลังเงินหรือธรรมศาลา เสาประกอบพิธีบูชาไฟ พลับพลา กุฎีฤาษี โบสถ์เจ้าพิมาย และเมรุพรหมทัต เป็นต้น
ปราสาทหินพิมาย เป็นพุทธสถานที่มีอายุเก่าแก่แห่งหนึ่ง คือ สร้างมาแล้วเกือบ 2,000 ปี เชื่อกันว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งกัมพูชาเป็นผู้สร้าง (พ.ศ. 1545-1592) สร้างและบูรณะเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 นี้ เชื่อว่ามีการสร้างปราสารรุ่นเดียวกัน คือ ปราสาทหินพนมวัน (วัดพนมวัน จ.นครราชสีมา) และปราสาทหินพนมรุ้ง (จ.บุรีรัมย์)
ชาวเมืองโคราชซึ่งอยู่ ณ บริเวณเมืองพิมายเล่าสืบกันมาเกี่ยวกับนิทานชาดก อันเป็นนิทานพื้นบ้าน ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ว่า
ท้าวปาจิตต์ คือ พระโพธิสัตว์ จุติมาเกิดเป็นโอรสเจ้าเมืองพรหมพันธ์นคร ได้เดินทางไปหาคู่ครองถึงเมืองพาราณสี พบหญิงหม้ายกำลังตั้งท้อง มีแสงอาทิตย์ทรงกลดเป็นเงาบังนางไว้ก็รู้ว่า นางเป็นแม่ของคู่ครองตน คือ นางอรพิม ท้าวปาจิตต์ จึงอาสาทำงานช่วยจนนางอรพิมโตเป็นสาว อายุ 16 ปี จึงได้นางเป็นภรรยา ท้าวปาจิตต์ขอลาแม่ยายไปเยี่ยมบิดา นางอรพิมจึงถูก พรหมทัตกุมารแห่งกรุงพาราณสีฉุดไปขังไว้ในปราสาท ท้าวปาจิตต์จึงตามมาฆ่าพรหมทัตกุมาร พานางหลบหนีไปพักใต้ต้นไทรกลางป่า
พรานมาเห็นนางอรพิมสวยมากจึงลอบฆ่าท้าวปาจิตต์และฉุดนางขึ้นหลังควายไป นางอรพิมออกอุบายเอาดาบฟันคอ พรานตายแล้วกลับมาคร่ำครวญถึงท้าวปาจิตต์ พระอินทร์จึงมาชุบชีวิตท้าวปาจิตต์ แล้วให้แท่งยาวิเศษแก่นางอรพิม พอเดินทางต่อไป เณรเห็นนางรูปสวยจึงหลอกให้พรากจากสามีอีก นางเที่ยวหาสามีจนถึงจัมปานคร อธิฐานขอให้เป็นชายและชื่อปาจิตต์ นางช่วยชุบชีวิตธิดาเจ้าเมืองจัมปานคร เจ้าเมืองยกธิดาและยกเมืองให้ ปาจิตต์ขอออกบวช ให้สร้างศาลาและวาดรูปเป็นเรื่องราวที่นางพลัดพรากจากสามี สั่งให้คนแอบสังเกตคนที่มาพัก หากใครดูรูปแล้วร้องไห้ ให้รีบไปบอก ในที่สุดเมื่อท้าวปาจิตต์มาที่ศาลาดูรูปแล้วร้องไห้ นางและสามีจึงได้พบกัน และกลับไปครองเมืองพรหมทัต
(ธิดา สาระยา 2538, 17-67)
ธิดา สาระยา.เมืองประวัติศาสตร์ :เมืองพิมาย เขาพระวิหาร เมืองอุบล เมืองศรีสัชนาลัย. กรุงเทพ: เมืองโบราณ, 2538
นำลงวันที่ 6 ม.ค 2543 อัพเดตรูปภาพ 9 ม.ค 2564
อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดไทยศิลป์
ปลาตะเพียน |
ปราสาทหินพิมาย |
ปราสาทเขาพนมรุ้ง |
ปราสาทเมืองต่ำ |
หน้าหลัก