ปราสาทเมืองต่ำ

ปราสาทเมืองต่ำ

ประมวลภาพ ปราสาทเมืองต่ำ

ปราสาทเมืองต่ำ

ตั้งอยู่ที่บ้านโคกเมือง หมู่ 6 และ หมู่ 9 ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

    ปราสาทเมืองต่ำ เป็นปราสาทอิฐ กำแพงแก้วและซุ้มประตูทำด้วย หินทราย ส่วนกำแพงด้านนอกทำด้วยศิลาแลง เนินปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีสระน้ำล้อมรอบ ความเด่นของปราสาทเมืองต่ำ คือ มีการจำหลักส่วนต่าง ๆ ด้วยลวดลายอันประณีตสวยงาม อยู่ใกล้กับโบราณสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น สระน้ำขนาดใหญ่ที่คนขุดขึ้นในสมัยสร้างปราสาท ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1090 เมตร ขอบสระกรุด้วยศิลาแลงสอบลงไปถึงพื้นดินเดิม สระนี้มีน้ำขังอยู่ตลอดปี (บริษัทสุรามหาราช จำกัด 2540:229-231)



    ที่เรียกชื่อว่า ปราสาทเมืองต่ำ เนื่องจากสถานที่ตั้งอยู่พื้นที่ราบ เมื่อเทียบกับปราสาทเขาพนมรุ้งซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา ปราสาทเมืองต่ำ เป็นศาสนาสถาน ศิลปะขอมแบบบาปวน อายุประมาณ พ.ศ. 1551-1630 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (กรมศิลปากร 2536:127-130) ลักษณะของปราสาทมีองค์ประกอบ ดังนี้



    1. ปรางก่ออิฐ 5 องค์ เรียงเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียว แผนผังของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวปรางค์ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ

ปราสาทเมืองต่ำ

  แถวหน้า






    แถวหลัง



   2. ระเบียงคดและซุ้มประตู ก่อด้วยอิฐ มีขนาด ประมาณ 38.60X38.60 เมตร มีซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทราย ระเบียงคดนี้ลักษณะเป็นห้องแบบระเบียงคดทั่วไป หลังคาเป็นหินทรายทำเป็นรูปประทุนเรือ มีประตู 3 ด้านพื้นของซุ้มประตูยกสูงขึ้นจากพื้นลานโดยรอบ ประตูกลางซึ่งเป็นประตูหลักมีขนาดประมาณ 2.10X1.15 เมตร ด้านข้างของซุ้มประตูทำเป็นช่องหน้าต่างทึบด้านละ 2 ช่อง ด้านนอกติดลูกกรงลูกมะหวด



    ที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านนอกจำหลักภาพเทวะนั่งชันเข่า อยู่เหนือเศียรเกียรติมุข เหนือขึ้นไปเป็นนาค 5 เศียรครอบ 2 ชั้น ทั้ง 2 ข้าง ทับหลังหินทรายจำหลักภาพเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้ง 2 ข้าง

    เสากรอบประตูกลางจำหลักภาพสิงห์ยืนเท้าสะเอวจับพุ่มกนกและโคนเสาเป็นภาพฤาษีนั่งยอง ๆ ประนมมือ



    ที่หน้าบันซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกด้านในจำหลักภาพสิงห์ท่ามกลาง ลิง และช้าง ประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะตอนปราบนาคกาลียะ

ปราสาทเมืองต่ำ

   3. สระน้ำ ตั้งอยู่ที่ลานขนาด 10X10 เมตร รอบนอกระเบียบคดทั้ง 4 ด้าน สระน้ำทั้ง 4 สระนี้มีขนาดประมาณ 20X40 เมตร กรุพื้นสระด้วยหินทรายซ้อนเป็นชั้น ๆ ปากผายก้นสอบ ที่มุมขอบสระทุกมุมทำเป็นตัวพญานาคชูคอ สองข้างบาทวิถี ระหว่างซุ้มประตูระเบียงคดกับซุ้มประตูกำแพงทุกด้านมีบันไดลงสู่สระน้ำอยู่ทั้งสองข้างทาง เหนือบันไดทำเป็นเสาซุ้มประตูทั้งสองข้างปัจจุบันล้มลงทั้งหมด


    4. กำแพงแก้วและซุ้มประตู ตั้งอยู่รอบนอกห่างจากสระน้ำประมาณ 10 เมตร กำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 140X114.50 เมตร บนสันกำแพงเซาะเป็นรางตื้น ๆ สำหรับวางท่อหินสี่เหลี่ยมสี่ด้านทำเป็นซุ้มประตูจตุรมุข มีประตูด้านละ 3 ช่องมุงหลังคาด้วยหินทรายโค้งเป็นรูปประทุนเรือ ทับหลังหินทรายเหนือประตูของซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก จำหลักภาพพระกฤษณะปราบนาคกาลียะที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันตกมีร่องรอยแสดงว่ายังตกแต่งลวดลายไม่เสร็จ ระหว่างประตูทั้ง 3 ช่อง เป็นหน้าต่างหลอกติดลูกกรงลูกมะหวดเลียบกำแพงศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยก้อนศิลาแลง ขนาดกว้าง 1 เมตรรอบทุกด้าน




   ทะเลเมืองต่ำ

    ทะเลเมืองต่ำ หรือสระบาราย ที่บ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นมาในสมัยที่สร้างปราสาท อยู่ห่างจากตัวปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศเหนือราว 200 เมตร สร้างขึ้นเพื่อการอุปโภค การชลประทานของชุมชน มีขนาดกว้างประมาณ 510 เมตร ยาวประมาณ 1,090 เมตร ลึกประมาณ 3 เมตร ก่อขอบสระด้วยศิลาแลง 3 ชั้น บนขอบสระด้านยาว คือ ด้านทิศเหนือและทิศใต้มีท่าน้ำเป็นชานกว้าง ขนาดกว้างประมาณ 6.90 เมตร ยาว 17 เมตร ปูพื้นด้วยศิลาแลงลาดลงไปยังฝั่งน้ำ ซึ่งก่อบันไดท่าน้ำเป็นทางลงสระรวม 5 ขั้น ท่าน้ำทั้ง 2 ฟากนี้อยู่ในแนวตรงกันประมาณกึ่งกลางของขอบสระ (กรมศิลปากร 2540:70)



    บางรายแห่งนี้น่าจะมีทางรับน้ำด้านทิศตะวันตกจากเขาปลายนัด (ไปรนัด) และเขาพนมรุ้ง ตรงบริเวณที่เรียกว่า สะพานขอม และระบายน้ำออกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้

ปราสาทเมืองต่ำ

   

ความโดดเด่นของปราสาทเมืองต่ำ

นอกจากจะได้ชมสถาปัตยกรรมและศิลปะที่สวยงามของโบราณสถานแห่งนี้แล้ว ยังได้ชมหมู่บ้านที่ตั้งเรียงรายเป็นกลุ่มอยู่กับปราสาทนี้ด้วย ชาวบ้านอยู่ที่นี่มานานจนมีความรู้สึกว่าปราสาทคือส่วนหนึ่งของชุมชน การดำเนินชีวิตของชาวบ้านโคกเมืองสัมพันธ์กับความงามของปราสาท กลายเป็นความสงบร่มเย็นน่าสนใจไม่น้อย


   

การเดินทาง

ไปปราสาทเมืองต่ำ ไปได้หลายทาง ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางบุรีรัมย์-นางรอง-พนมรุ้ง เข้าไปปราสาทเมืองต่ำระยะทางแยกเข้าไปประมาณ 83 กิโลเมตร หรือจะไปเส้นทางบุรีรัมย์-ประโคนชัย เข้าประสาทเมืองต่ำ ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ สายประโคนชัย-บ้านกรวด ซึ่งเป็นเส้นแยกสายตะโก-พนมรุ้ง-ละหานทรายก็ได้ (แผนที่)

บรรณานุกรม

ศิลปากร,กรม. กองโบราณคดี. ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 2 จังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2536.

ศิลปากร,กรม. สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9. ปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2540.

สุรามหาราชจำกัด, บริษัท (มหาชน). บุรีรัมย์. (พิมพ์เป็นบรรณาการในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์). กรุงเทพฯ: สหธรรมิก,2540.

ปราสาทเมืองต่ำ



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยศิลป์หมวดไทยศิลป์

ปลาตะเพียน | ปราสาทหินพิมาย | ปราสาทเขาพนมรุ้ง | ปราสาทเมืองต่ำ |
หน้าหลัก หน้าหลัก