วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญ ทางราชการถือว่าเป็นวันหยุดราชการเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ไปทำบุญ วันมาฆบูชา คือ วันเพ็ญเดือนสาม เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ เดือนสามนี้ ตรงกับเดือนกุมภาพันธุ์
วันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 อย่าง คือ
1. เป็นวันที่พระอรหันต์สาวก 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันที่ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์
2. พระอรหันต์สาวกล้วนเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น
3. พระสาวกที่มาชุมนุมกันนั้นมิได้มีการนัดหมาย แต่มาพร้อมกันโดยบังเอิญ
4. วันที่มาชุมนุมเฝ้าพระพุทธเจ้า เป็นวันมาฆบูรณมี คือ วันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์
วันมาฆบูชานี้ เกิดเหตุการณ์สำคัญอันเป็นองค์ 4 จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าทรงเทศนาโอวาทปาติโมกข์ อันมีใจความสำคัญ คือ
การไม่ทำความชั่วทุกชนิด
การทำแต่ความดี
การทำใจให้ผ่องแผ้ว
ทั้ง 3 ประการนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การเกิดจาตุรงคสันนิบาต และพระพุทธเจ้าทรงเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ท่ามกลางพระสงฆ์สาวก 1250 รูป ตอนบ่ายของวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ถือเป็นวันประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองแพร่ไปยังประเทศต่าง ๆ และเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทยมาจนปัจจุบัน
วันมาฆบูชา คนไทยส่วนใหญ่ถือเป็นประเพณีที่จะต้องไปทำบุญ ทำทาน ถือศีล ช่วงเช้าชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปวัด ถวายอาหารแด่พระภิกษุ คนแก่ถือโอกาสนี้ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ ชำระจิตใจให้ใสสะอาด นอนที่วัดเลย
ถึงตอนเย็น ทุกวัดก็จะเตรียมการเพื่อให้ชาวบ้านมาเวียนเทียน ครั้นถึงเวลาหลัง 18.00 น. พระภิกษุ สามเณรก็จะลงมาที่โบสถ์ เพื่อเข้าไปในโบสถ์โดยพร้อมเพรียงกัน เจ้าอาวาสก็นำสวดมนต์ ที่สำคัญต้องสวดบทโอวาทปาติโมกข์ ในช่วงนี้ชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัยก็จะมาชุมนุมพร้อมกัน เตรียมดอกไม้ธูปเทียนมารอ ครั้นพระสวดมนต์เสร็จ ก็จะนำชาวบ้านเวียนเทียนรอบอุโบสถ 3 รอบ เป็นการปฏิบัติกิจสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นการรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงสั่งสอนให้ทุกคนละเว้นความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว
วันมาฆบูชา จึงเป็นวันสำคัญยิ่งของชาวไทยทั้งประเทศ เป็นวันที่ชาวพุทธพร้อมใจกันทำกิจ คือ ทำบุญ เวียนเทียน ถือศีล และปฏิบัติธรรม เป็นปฏิบัติบูชา อันเป็นหลักสำคัญยิ่งของพุทธศาสนา
อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง หมวดธรรมเนียมไทย
ลอยกระทง |
ประเพณีทำบุญ |
วันมาฆบูชา |
การถวายสังฆทาน |
ประเพณีสงกรานต์ |
ประเพณีแห่ผีตาโขน |
ประเพณีแต่งงาน |
พิธีบายศรีสู่ขวัญ |
วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ |
ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ |
พิธีทำขวัญเดือน
(โกนผมไฟ) |
พิธีโกนผมจุก |
หน้าหลัก