พิธีโกนผมจุก

ในปัจจุบันนี้ เราจะมองหาเด็กที่ไว้ผมจุกแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

 เพราะโลกได้เจริญขึ้นและวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้มีบทบาทในประเทศไทยแผ่คลุมทั่วไปหมด พิธีกรรมโบราณ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติมาหลายชั่วอายุคนก็ค่อยๆ หายสูญไป เหลือแต่เพียงอยู่ในความทรงจำเท่านั้น และอีกประการหนึ่ง การไว้ผมจุกให้แก่บุตรหลานตามสมัยโบราณนั้น นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีพิธีรีตองมากมาย สู้เอาไว้ผมตามแบบธรรมดาดีกว่า และถ้าเป็นเด็กผู้หญิงก็ไว้ยาวเสียเลยทีเดียว
     สมัยก่อน-เมื่อเด็กมีอายุจะเข้าเขตวัยหนุ่มสาว (ชายอายุย่างเข้า 13 ปี หญิง 11 ปี ตามคตินิยมของอินเดีย) จึงมีการพิธีเพื่อบอกกล่าวแก่ญาติมิตร เช่น(Coming of Age ของฝรั่ง) อีกครั้งหนึ่งซึ่งเรียกว่า "พิธีมงคลโกนจุก"
     "พิธีมงคลโกนจุก" นี้ โดยมากมักจะหาโอกาสทำรวมกับพิธีมงคล เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญวันเกิด ฯลฯ เพราะนับเป็นงานมงคลเช่นเดียวกัน โดยมีสวดมนต์เย็น 1 วัน รุ่งขึ้นเลี้ยงพระแล้วก็ตัดจุกเด็กตามเวลาฤกษ์ ตอนบ่ายมีเวียนเทียนสมโภชทำขวัญเด็กตามพิธีพราหมณ์
     งานพิธีจะจัดใหญ่โตแค่ไหนนั้น แล้วแต่ฐานะของเจ้าของงานจะเห็นสมควร ดังได้กล่าวแล้ว งานพิธีโกนจุกนี้ ถ้าได้รวมกับพิธีมงคลอื่นๆ ก็จะเป็นการประหยัดรายจ่ายได้อีก

สิ่งที่ต้องเตรียมการ

     1. ให้โหรผูกดวงชะตาของเด็ก เพื่อสอบหาวันและฤกษ์งามยามดีให้ละเอียดและกำหนดวันงานให้แน่นอน พิธีนี้ควรทำงานเป็น 2 วัน คือเริ่มพิธีและสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันอาหารบิณฑบาตเช้าและตัดจุก


  การจัดเตรียมก็มีดังนี้
ก. จัดการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม และเหมาะสม เช่น มีผ้าหรือแพรเป็นระบาย ประดับทิวธงราชวัตรฉัตรชัย (สามัญชนใช้ฉัตร 3 ชั้น หรือจะไม่มีก็ได้) ประดับต้นกล้วย อ้อย ตลอดจนพันผ้าสีสลับกันรอบเสาโรงพิธีตั้งด้วยเบญจาอันประดับด้วยหยวกและฟักทองสลัก พร้อมทั้งใบและดอกไม้ของหอมให้สวยงาม
ข. จัดอาสนะ สำหรับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และจัดโต๊ะตั้งพระพุทธรูปพร้อมด้วยของบูชา ตลอดจนวงด้ายสายสิญจน์
ค. จัดโต๊ะหรือม้าสำหรับวางเครื่องมงคลพิธี
ง. เตรียมเครื่องใส่น้ำมนต์และเครื่องจุณเจิม
จ. เชิญโหรหรือพราหมณ์มาประกอบพิธี นอกจากสิ่งของเหล่านี้แล้ว ควรจัดเตรียม "เครื่องทวาทศมงคล" คือเครื่องที่เป็นมงคล 12 ประการไว้ดังนี้

     ไตรพิธีมงคล 3 คือ


1. พทฺธรตฺน มงคล ได้แก่ พระพุทธรูป (ดับทุกข์)
2. ธมฺมรตฺน มงฺคล ได้แก่ พระพุทธมนต์ (ขจัดภัย)
3. สงฺฆรตฺน มงฺคล ได้แก่ พระสงฆ์ (บำบัดโรค)

   ษับฏาพิธมงคล 8 คือ
1. สิริปตฺตมงฺคล ได้แก่ บายศรี แว่นเวียนเทียน (ศิริวัฒนะ)
2. กรณฺฑกุภมงฺคล ได้แก่ เต้าน้ำ หม้อน้ำ (โภควัฒนะ)
3. สงฺขมงฺคล ได้แก่ สังข์ (ฑีฆายุวัฒนะ)
4. โสวญฺณรชฏาทิมงฺคล ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง (สิเนหวัฒนะ)
5. วชิรจกฺกาวุธมงฺคล ได้แก่ จักรและเครื่องอาวุธ (อิทธิเตชะวัฒนะ)
6. วชิรคทามงฺคล ได้แก่ คธา "กระบองเพชร" (ภูติปีศาจ)
7. องฺกุสมงฺคล ได้แก่ ขอช้าง ตาข่ายช้าง (อุปทวันตรายนิวารนะ)
8. ฉัตฺตธชมงฺคล ได้แก่ ฉัตร ธงชัย (กิตติวัฒนะ)

     มุขวาทมงคล 1 คือ 
1. มุขวาทมงคล ได้แก่การเวียนเทียนทำขวัญให้ศีลให้พร (เป็นเครื่องประสิทธิ์ให้เจริญสวัสดิ์มงคลทุกประการ)

2. พิธีตอนเย็น พอถึงวันสวดมนต์เย็น (วันแรกของงาน) ก็จัดการอาบน้ำแต่งตัวให้เด็ก เด็กสามัญมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ไปให้พราหมณ์ตัดจุก ในพิธีตรียัมพวายซึ่งมีประจำปีที่โบสถ์พราหมณ์ ส่วนผู้ที่มีกำลังจะทำพิธีได้ที่บ้านเรือนของตนเอง และแต่งตัวเด็กได้ตามความพอใจ ตั้งแต่ทำไรไว้ขอบรอบจุก และโกนผมล่างออกให้หมดจดเรียบร้อยแล้ว อาบน้ำทาขมิ้น เกล้าจุกปักปิ่นงามๆ และสวมมาลัยรอบจุก ผัดหน้าผัดตัวให้สะอาดขาวเหลืองเป็นนวลแล้วนุ่งผ้า ใส่เสื้อประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดา มีใส่กำไลเท้า กำไลมือ สังวาลย์ จี้ ฯลฯ สุดแท้แต่กำลังของสติปัญญาจะสรรหามาได้
     เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จแล้ว ก็พาไปนั่งยังที่ทำพิธีมีโต๊ะตั้งตรงหน้า 1 ตัว สำหรับวางพานมงคล คือด้ายสายสิญจน์ที่ทำเป็นวงพอดีศรีษะเด็ก เมื่อผู้เป็นประธานในพิธีจุดเทียนหน้าพระรับศีล พระสวดมนต์แล้ว ก็ใส่มงคลนั้นให้แก่เด็กจนสวดมนต์จบแล้ว จึงปลดสายสิญจน์จากมงคลเด็กที่โยงไปสู่ที่บูชาพระนั้นออก แล้วพาเด็กกลับจากพิธีได้

     รุ่งเช้า จัดการแต่งตัวเด็กโดยให้นุ่งผ้าขาวห่มขาวใส่เกี้ยวนวมสร้อยสังวาลย์เต็มที่อย่างเมื่อตอนเย็น แต่ไม่ใส่ถุงเท้ารองเท้า พาไปนั่งยังพิธีมีพานล้างหน้า และพานรองเกี้ยววางไว้บนโต๊ะตรงหน้าแขวนมงคล ผู้ที่จะโกนผมจัดการถอดเกี้ยวออกใส่พาน แล้วแบ่งผมจุกเด็กออกเป็น 3 ปอย เอาสายสิญจน์ผูกปลายผมกับแหวนนพเก้า (ซึ่งแปลว่า สี่ดาวประจำนพเคราะห์) และใบมะตูมทั้ง 3 ปอย ครั้นถึงเวลาฤกษ์โหรก็ลั่นฆ้องชัย พระสวด "ชยันโตฯ" ประโคมพิณพาทย์มโหรี ผู้เป็นประธานในพิธีจึงตัดจุกเด็กปอย 1 แล้วผู้เป็นใหญ่ในตระกูลตัดปอยที่ 2 พ่อเด็กตัดปอยที่ 3 ผู้ตัดไม่จำกัดบุคคลว่าเป็นผู้ใดแล้วแต่เจ้าของงานจะเชิญเจาะจงด้วยความนับถือ เมื่อตัดผมเด็กทั้ง 3 ปอยให้สิ้นแล้ว ผู้โกนผมก็จะเข้าไปโกนให้เกลี้ยง แล้วจูงเด็กไปถอดสร้อยนวมที่จะเปียกน้ำไม่ได้ออก และนำเด็กไปนั่งยังเบญจาที่รดน้ำซึ่งตั้งไว้ในชานชาลาแห่งหนึ่งพร้อมด้วยพระพุทธมนต์ที่ใส่ในคนโฑแก้ว เงินทอง ตามที่มี ตั้งไว้บนม้าหมู่หนึ่ง ผู้ที่มาในงานนั้นก็เข้าไปรดน้ำพระพุทธมนต์นั้นให้แก่เด็ก ตามยศและอาวุโส เมื่อเสร็จการรดน้ำแล้ว ก็พาเด็กขึ้นมาแต่งตัวใหม่และเลี้ยงพระสงฆ์ในเวลาที่เด็กแต่งตัวอยู่ ตอนนี้เด็กผู้ชายก็แต่งอย่างเด็กผู้ชายคือนุ่งผ้าใส่เสื้อ ส่วนผู้หญิงก็นุ่งจีบห่มสไบ แสดงให้เห็นว่าแยกเพศออกจากการเป็นเด็กแล้ว เมื่อแต่งตัวเต็มที่ใส่มงคลเรียบร้อยแล้ว ก็นำออกไปให้ถวายของพระที่ฉันแล้วด้วยตัวเด็กเอง เมื่อสวด "ยะถาสัพพี" ให้พรแล้วกลับ เด็กก็กลับมาพักถอดเครื่องแต่งตัวได้ จนถึงเวลาเย็นราว 16-17 น. ก็แต่งตัวเด็กชุดถวายของพระออกไปทำขวัญตามพิธีพราหมณ์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ไม่มีพระสงฆ์มีแต่พวกพราหมณ์และพิณพาทย์มโหรีสำหรับประโคมเวลาเวียนเทียนให้เด็กนั่งหลังโต๊ะบายศรี และพราหมณ์ก็ทำขวัญตามวิธี คือ ผูกมือจุณเจิมแป้งกระแจะน้ำมันจันทน์ ให้กินน้ำมะพร้าวแล้วเวียนเทียน 3 รอบ เป็นอันว่าเสร็จการทำขวัญ

(หมายเหตุ - การทำเครื่องบายศรีนั้นเป็นประเพณีของไทยเรามาตั้งแต่โบราณกาล ส่วนการเบิกแว่นเวียน-เทียนเป็นพิธีของพราหมณ์ซึ่งไทยเรานำมากระทำเพิ่มเติมขึ้นเอง)

หมายเหตุ หากการโกนจุกพิธีหลวง คือ ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปเรียกว่า "พระราชพิธีโสกันต์" (คณะราชครู 2516 : 76-83)

หนังสืออ้างอิง

คณะราชครู ประเพณีและพิธีสำคัญของไทย. กรุงเทพมหานคร เสริมวิทย์บรรณาคาร,2516

นำลงวันที่ 14 ก.พ 2546

อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ธรรมเนียมไทยหมวดธรรมเนียมไทย

ลอยกระทง | ประเพณีทำบุญ | วันมาฆบูชา | การถวายสังฆทาน | ประเพณีสงกรานต์ | ประเพณีแห่ผีตาโขน | ประเพณีแต่งงาน | พิธีบายศรีสู่ขวัญ | วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ | ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ | พิธีทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ) | พิธีโกนผมจุก |
หน้าหลัก หน้าหลัก