พิธีทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ)

     เมื่อทารกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาจนครบ 1 เดือนแล้ว ก็เป็นอันว่าเด็กนั้นพ้นเขตอันตรายเป็น "ลูกคน" ได้อย่างแน่นอนแล้ว จึงจัดให้มีการทำขวัญ ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นศิริมงคลแก่เด็ก ถ้าฤกษ์ของพิธีนี้อยู่ในเวลาเช้าก็นิมนต์พระมาสวดมนต์เย็นก่อนวันฤกษ์ 1 วัน และในพิธีนี้เองเป็นพิธีเดียวกันกับเอาเด็กลงอู่ด้วย

     พิธีทำขวัญเดือนหรือโกนผมไฟนี้ จะใหญ่โตมโหฬารอย่างไรนั้น ก็สุดแต่กำลังทรัพย์ของทางบิดามารดาหรือวงศาคณาญาติของเด็ก ในพิธีก็มีการสวดมนต์เย็นก่อนวันฤกษ์ที่โหราจารย์หาให้ตามดวงชะตา (เวลาเกิด) ของเด็ก รุ่งเช้าเลี้ยงพระ และทำขวัญเด็กตามพิธีพราหมณ์ คือเมื่อถึงเวลาฤกษ์โหรก็ตีฆ้องชัยบอกเวลาฤกษ์


     ผู้เป็นประธานในงานนั้นแตะน้ำในสังข์ลงบนหัวเด็ก แล้วหยิบมีดในเครื่องล้างหน้าขึ้นแตะผมเด็กพอเป็นพิธีว่าโกน ให้พระสวดชยันโตฯ ให้พร พราหมณ์เป่าสังข์ ตีบัณเฑาะว์ (กลอง 2 หน้าถือมือเดียว) พิณพาทย์มโหรีก็ประโคมตามเป็นการอวยชัยให้พร
     เมื่อโกนผมเด็กให้สะอาดเกลี้ยงเกลาแล้ว (บางคนก็ไม่โกน) พราหมณ์ก็ทำพิธีอาบน้ำเด็กเจือน้ำพระพุทธมนต์ที่พระทำในวันสวดมนต์เย็น และน้ำร้อนพออุ่นๆ ในขันหรืออ่างใหญ่ แล้วรับเด็กลงจุ่มในอ่างพอเป็นพิธี เสร็จแล้วส่งเด็กให้ผู้อุ้มแต่งตัววางลงบนเบาะ นั่งตรงหน้าบายศรี ผู้อุ้มนี้โดยมากมักจะเป็นย่าหรือยายของเด็ก ถ้าไม่มีก็เชิญผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวงศ์ตระกูลแล้วพราหมณ์ก็ทำขวัญตามพิธี คือเสกเป่าปัดสิ่งชั่วร้ายจากเด็กด้วยด้ายสายสิญจน์แล้วเผาไฟทิ้ง แล้วก็ผูกมือผูกเท้าจุณเจิมด้วยแป้งกระแจะ หยิบช้อนเล็กๆ ตักน้ำมะพร้าวอ่อน แล้วแตะที่ปากเด็กพอเป็นพิธีว่าให้เด็กกิน แล้วจึงจุดเทียนในแว่น 3 แว่น ยกขึ้นอวยชัยให้พรแก่เด็ก 3 ครั้ง แล้วจึงส่งแว่นออกไปให้พวกแขก หรือญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธีนั้น รับต่อๆ ไปทีละแว่นๆ ทางซ้าย หันขวาให้เด็กเพราะถือว่าขวาเป็นมงคล พิณพาทย์มโหรีประโคมไปตลอดจนจบการเวียนเทียนสมโภช ครั้นครบ 3 รอบแล้วก็ส่งแว่นเทียนไปให้พราหมณ์ปักไว้ในขันข้าวสารทีละแว่น จนครบ 3 แว่น แล้วก็บีบเทียนรวมกันเข้าเป็นแว่นเดียวแล้วดับไฟด้วยใบพลูซ้อนๆ กัน โบกพัดควันเทียนอันเกิดจากพระเพลิงผู้ยังชีวิตมนุษย์ให้สู่ความสวัสดิ์นั้น ไปทางเด็กห่างๆ พอสมควร



     เมื่อเสร็จการเวียนเทียนสมโภชแล้ว พราหมณ์ก็จัดปูเปลเด็กเบาะหมอนเรียบร้อยแล้วก็เอาของที่จัดใส่พานไว้สำหรับให้แก่เด็กลงวางไว้ตามขอบเปล และใต้เบาะใต้หมอน แล้วอุ้มแมวที่สะอาดและแต่งตัวด้วย ใส่สร้อยที่คอเพื่อให้เห็นว่าเป็นแมวเลี้ยงลงวางในเปล เป็นการแสดงว่าให้แล้วก็อุ้มออกปล่อยไป เมื่อจัดเปลและจัดของที่ให้เรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ก็รับตัวเด็กลงนอนในเปลแล้วแห่กล่อมให้ตามภาษาของพราหมณ์ จึงเสร็จพิธี

(การที่เอาแมวลงเปลก่อนนั้น หมายความว่าให้เด็กนั้นเลี้ยงง่ายเหมือนแมว)

หมายเหตุ-พิธีทำขวัญวันก็ดี ทำขวัญเดือนก็ดี ถ้าผู้จะทำพิธีอยู่ในฐานะที่อัตคัดขัดสน จะกระทำแบบรวบรัดก็ได้ โดยเอาด้ายสายสิณจน์ผูกข้อมือเรียกมิ่งขวัญแล้วก็ทำพิธีโกนตามฐานะเท่านั้นก็พอ


สิ่งของที่ใช้ในพิธี
     จัดที่บูชาพระเป็นม้าหมู่ ใหญ่เล็กให้เหมาะสมแก่สถานที่และจำนวนพระสงฆ์ ตั้งพระพุทธรูป ดวงชะตาของเด็ก ขันน้ำมนต์ ติดเทียนไว้ที่ฝาขัน 1 เล่ม ด้ายสายสิณจน์ใส่พานรอง 1 กลุ่ม ขวดปักดอกไม้ พานจัดดอกไม้ กระถางธูป 1 เทียนใหญ่ใส่เชิงเทียนอย่างน้อย 1 คู่ เทียนกับดอกไม้นั้นตั้งเป็นคู่ๆ ไม่จำกัดจำนวน ตั้งม้าหมู่ข้างต้นอาสนสงฆ์แล้วจึงปูผ้าขาว วางหมอนอิงเรียงต่อมาเท่าจำนวนพระ ตั้งน้ำร้อนน้ำเย็น หมาก พลู บุหรี่ กระโถน ถวายเป็นองค์ๆ ไป รุ่งขึ้นเลี้ยงพระด้วยจัดสำรับคาวหวานให้ครบองค์ แล้วจัดของถวายพระตามแต่จะศรัทธาลงในถาดถวายองค์ละถาดทุกองค์
(คณะราชครู 2516 : 69-72)

หนังสืออ้างอิง
คณะราชครู ประเพณีและพิธีสำคัญของไทย กรุงเทพมหานคร เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2516

นำลงวันที่ 26 ม.ค 2546



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ธรรมเนียมไทยหมวดธรรมเนียมไทย

ลอยกระทง | ประเพณีทำบุญ | วันมาฆบูชา | การถวายสังฆทาน | ประเพณีสงกรานต์ | ประเพณีแห่ผีตาโขน | ประเพณีแต่งงาน | พิธีบายศรีสู่ขวัญ | วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ | ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ | พิธีทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ) | พิธีโกนผมจุก |
หน้าหลัก หน้าหลัก