บ้านเขายี่สาร

หมู่บ้านที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม



หมู่บ้านเขายี่สารตั้งอยู่ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ชุมชนบ้านเขายี่สารเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มคนอยู่อาศัยสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อกันว่าเป็นหมู่บ้านที่มีอายุยืนยาวมาไม่น้อยกว่า 800 ปี ราวต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือพุทธศตวรรษที่19 ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยี่สารยังสงบร่มเย็น และสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชาวบ้าน น่าสนใจและน่าไปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยิ่ง



การเดินทางไปบ้านเขายี่สารสามารถไปได้หลายทางดังนี้

เส้นทางที่1

เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนสายธนบุรี-ปากท่อ พอผ่านจังหวัดสมุทรสงครามข้ามแม่น้ำแม่กลองไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร ถึงปั๊มน้ำมัน ปตท. ก่อนถึงคลองโคนจะมีถนนด้านซ้ายมือแยกไปบ้านเขายี่สาร ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร

เส้นทางที่2

เดินทางโดยทางรถไฟสายใต้ ลงที่สถานีรถไฟวัดกุฏิแล้วลงเรือไปตามคลองยี่สาร



เส้นทางที่3

ถ้าจะไปทางเรือจากอัมพวาหรือแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) ไปตามคลองขุดดอนจัน เข้าคลองบางลี่หรือคลองชุมชนชื่นก็จะออกที่บ้านเขายี่สาร

เส้นทางที่4

เส้นทางนี้ขอแนะนำว่าควรไปอย่างยิ่งเพราะได้ชมทั้งปากน้ำแม่กลอง ทะเล และปากทางจากทะเลเข้าไปตามคลองเข้าสู่บ้านเขายี่สาร การเดินทางลงเรือที่ท่าเรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ล่องเรือดูภูมิประเทศสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง ชมชีวิตชาวประมง การเลี้ยงหอยแคลง หอยแมลงภู่ ป่าชายเลน ทะเลตม ชุมชนบ้านตะบูน เข้าคลองขุดยี่สาร เข้าถึงหมู่บ้านเขายี่สาร



ปากน้ำแม่กลอง
ปากน้ำแม่กลองออกทะเล

คำว่า " ยี่สาร" แปลว่าตลาด เพี้ยนมาจากคำว่า บาซาร์ (Barzaar) ในภาษาเปอร์เซีย คำนี้มีมานานในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีชื่อ เจ้าฟ้ากรมขุนยี่สารสรณี ซึ่งคือชายาของเจ้าฟ้า



ธรรมธิเบศ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ตามหลักฐานทางโบราณคดีมีการขุดค้น ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุของโบราณวัตถุสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา บริเวณเขายี่สารมีเวิ้งน้ำเรียกว่า “อู่เรือสำเภา” แสดงว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การพักเรือสำเภา บ้านเขายี่สารจึงกลายเป็นชุมชนที่เป็นเส้นทางสำคัญในการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาผ่านกรุงเทพฯ ผ่านแม่กลองไปเพชรบุรี นครศรีธรรมราช และเป็นเส้นทางค้าขายออกสู่ทะเลไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน ชวา อินเดีย หรือแม้แต่ยุโรป



ตำนานบรรพบุรุษชุมชนบ้านเขายี่สาร

ตำนานที่ชาวบ้านเขายี่สารเล่าสืบกันมามีอยู่ว่า พ่อปู่ศรีราชาเป็นคนจีนล่องเรือสำเภามาค้าขาย มากันสามคนพี่น้อง คือจีนเคราเป็นพี่ชายคนโต จีนขาน พี่คนรอง และน้องสุดท้องคือจีนกู่ เมื่อเดินเรือมาถึงบริเวณเขายี่สารซึ่งในอดีตอยู่ติดทะเล เรือสำเภาพุ่งชนเขา เรือแตก สามพี่น้องต้องพลัดพรากจากกัน พี่คนโตไปอยู่ที่เขาตะเครา จีนขานอยู่เขายี่สาร ส่วนจีนกู่น้องคนสุดท้องอยู่ที่เขาอีโต้ จีนทั้งสามตั้งบ้านเรือน เกิดเป็นหมู่บ้านสืบต่อกันมา จีนขานเก่งกล้าสามารถจนได้รับยกย่องเป็นพ่อปู่ศรีราชา บรรพบุรุษแห่งหมู่บ้านเขายี่สาร



นอกจากชุมชนบ้านเขายี่สารจะดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายแล้ว อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ เพราะพื้นที่ริมทะเลเป็นป่า โดยเฉพาะป่าโกงกาง กุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ อีกอย่างหนึ่งชุมชนแห่งนี้ไม่มีน้ำจืด มีแต่น้ำกร่อย วิธีการเก็บน้ำจืดจะมีการเก็บน้ำใส่ตุ่มขนาดใหญ่ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีให้ข้อสังเกตว่า ตุ่มดังกล่าวมีอยู่วัดเขายี่สาร และอยู่ใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน มีขนาดใหญ่ปากเล็ก เหมาะในการเก็บน้ำ และไม่ใช่ทำในไทย น่าจะมาจากประเทศจีนตอนใต้หรือเวียดนามตอนเหนือ เพราะลักษณะตุ่มเหมาะที่จะใส่น้ำบรรทุกมากับเรือสำเภา



ตุ่มเก็บน้ำจืด บ้านเขายี่สาร
ตุ่มเก็บน้ำจืด

เรื่องของการหาน้ำจืดมาเก็บไว้กินและใช้นี้ ชาวบ้านเขายี่สารจำนวนหนึ่งยังประกอบอาชีพเอาเรือไปขนมาขายอยู่จนถึงปัจจุบัน แสดงว่าน้ำจืดจำเป็นต่อชีวิตชาวบ้านแถบนี้มาก อาชีพนี้เรียกว่า “การล่มน้ำ” คือชาวบ้านจะนำเรือจากหมู่บ้านไปตามคลองไปจนถึงแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลมาลงอ่าวบางตะบูน พอเรือไปถึงบริเวณน้ำที่ตื้นและใสสะอาดก็จะกดแคมเรือข้างหนึ่งลงให้น้ำเข้าเรือ ได้น้ำจนพอแล้วก็บรรทุกน้ำกลับมาขายให้ชาวบ้าน แม้ขณะนี้เรือขนาดใหญ่ขึ้น ใช้แท้งค์น้ำแทน และใช้เครื่องยนต์แทนการพายเรือ แต่ก็ยังเป็นการขนน้ำจืดมาขายอยู่นั่นเอง



การล่มน้ำ บ้านเขายี่สาร
การล่มน้ำ

สภาพแวดล้อมทั่วไปของบ้านเขายี่สาร

บ้านเขายี่สารตั้งอยู่เชิงเขายี่สารซึ่งเป็นเขาหินปูนขนาดย่อมมีป่าชายเลนโดยรอบ พื้นที่ติดฝั่งทะเลห่างจากทะเลไปทางตะวันตกราว 5 กิโลเมตร มีคลองสายต่างๆ ทั้งคลองธรรมชาติ และคลองขุดเชื่อมเส้นทางสู่ชุมชนภายนอก คลองดังกล่าวเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญมาตั้งแต่โบราณ พื้นที่รอบๆเขาเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นหนาแน่นและชุมชนรอบเขายี่สารนี้อยู่มานาน



บ้านเขายี่สาร
ต้นไม้ใหญ่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชุมชน

ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกมีลำคลองขุดลัดออกแม่น้ำแม่กลองที่อัมพวาและแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) ไม่ต้องออกทะเล ด้านตะวันตกเป็นป่าชายเลนติดต่อนาข้าวและหมู่บ้าน เช่นบ้านวังมะนาว บ้านบางเค็ม บ้านกล้วย บ้านหนองสิม ทางทิศใต้มีทางน้ำอ้อมเขาแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งคือคลองยี่สารเดิมพุ่งไปเขาอีโต้ อีกสายหนึ่งเป็นลำคลองเรียกแพรกบางอีทอน หรือแพรกเขมร ไปบ้านลำต้นแพนเชื่อมกับคลองไหหลำไปออกคลองบางตะบูน ในสมัยรัชกาลที่4 มีการขุดคลองยี่สารลัดไปเชื่อมคลองบางตะบูนออกปากอ่าวตะบูน ข้ามไปแม่กลองหรือปากน้ำเพชรบุรีได้



ชุมชนเขายี่สารนอกจากจะขาดน้ำจืดแล้ว ยุงยังชุมมากเพราะเป็นป่าชายเลน รวมทั้งงูเห่าชุกชุมมาก

อาชีพของของชาวบ้านเขายี่สาร นอกจากจะเป็นชาวประมงแล้ว อาชีพที่ทำสืบต่อกันมานานเกือบทั้งชุมชน คือการทำถ่านไม้โกงกาง มีการสร้างเตาเผาขนาดใหญ่เพื่อเผาถ่านและปลูกป่าโกงกางหมุนเวียนเพื่อตัดไม้มาเผาถ่าน ปัจจุบันการใช้ถ่านลดน้อยลงจึงเหลือเตาเผาถ่านอยู่ไม่กี่แห่ง



เตาเผาถ่าน บ้านเขายี่สาร
เตาเผาถ่าน
ฟืน บ้านเขายี่สาร
ฟืนเตรียมไว้เผาถ่าน


บ้านเขายี่สาร
เจ้าของเตาเผาถ่าน
ไม้โกงกาง บ้านเขายี่สาร
ไม้โกงกางที่นำมาเผาถ่าน


วัดเขายี่สารเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน วัดแห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2246 ได้รับการบูรณะสมัยรัชกาลที่4-5 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามอยู่ภายในโบสถ์และในวิหารด้วย ที่สำคัญคือบานประตูพระวิหารแกะสลักลวดลายสวยงาม เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา



โบสถ์วัดเขายี่สาร
ฝีมือช่างปูนปั้นเพชรบุรี หน้าบันโบสถ์วัดเขายี่สาร ด้านตะวันตก
บ้านเขายี่สาร
หน้าบันโบสถ์วัดเขายี่สาร ด้านตะวันออก


บ้านเขายี่สาร
ลายแกะสลักที่ประตูโบสถ์
บ้านเขายี่สาร
พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา
บ้านเขายี่สาร
โบสถ์วัดเขายี่สาร


บ้านเขายี่สารกับวรรณกรรม

บ้านเขายี่สารเป็นชุมชนที่สำคัญมาแต่โบราณ มีเอกสารหรือวรรณกรรมบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยามาโดยตลอด เช่น



พ.ศ.2233 รัชสมัยพระเพทราชา นายแพทย์อิงเกิลเบิตร์ แกมเฟอร์ เดินทางด้วยกำปั่นจากปัดตาเวียไปสยามที่กรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงพ่อค้าคนไทยบอกระยะทางช่วงนครศรีธรรมราชถึงอยุธยา ต้องผ่านชายฝั่งเมืองกุยแถบสามร้อยยอด ผ่านเมืองปราณ ต่อจากนั้นคือชะอำ เหนือเข้าไปคือเมืองเพชรบุรี ผ่านยี่สาร (แต่เขียนไว้ว่า Isan) แม่กลอง ท่าจีน จากนั้นจะถึงแม่น้ำเจ้าพระยา



พ.ศ.2365 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จอห์น ครอฟอร์ต เข้ามา

สยาม เขียนบันทึกไว้ว่า "ถัดจากแม่น้ำแม่กลองซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือยี่สาน บริเวณชายฝั่งมีเพียงป่าไม้ ซึ่งไม่มีคุณค่าอะไร นอกจากใช้เป็นไม้ฟืนสำหรับส่งไปเมืองหลวง อนึ่งภูมิประเทศบริเวณยี่สานนี้ปลูกข้าวได้ดีและมีคนอยู่พอสมควร"



นิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ แต่งระหว่าง พ.ศ.2388-2392 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บรรยายถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านยี่สาร ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมทั้งเสียงชะนีที่เขายี่สารด้วย

นิราศเกาะจาน รวมพิมพ์อยู่ในวรรณกรรมของสุนทรภู่ ไม่แน่ใจว่าเป็นงานของสุนทรภู่ บรรยายถึงการตามเสด็จเจ้านายเป็นขบวนใหญ่ สร้างพลับพลาที่ประทับบริเวณคลองวาฬ น่าจะเตรียมรับเสด็จพระจอมเกล้าฯ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ว่ากอ พ.ศ.2411 ในนิราศเกาะจานได้กล่าวถึงบริเวณยี่สารไว้



นิราศยี่สารของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เขียนเมื่อ พ.ศ.2422 คิดพาลูกสาวท่องเที่ยวตากอากาศและไหว้พระที่เขายี่สาร ได้ใช้เส้นทางเดิมซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวบ้านยี่สารรุ่นต่อมาใช้ติดต่อกับอัมพวาหรือแม่กลอง

ชาวเขายี่สาร กับ ภูมิปัญญาในการแสวงหาอาหาร

ชาวเขายี่สารรู้จักใช้ภูมิปัญญาหาอาหารโดยนำทรัพยากรในท้องถิ่นจำนวนมากมาประกอบอาหาร เช่น ใช้พืชที่หาได้ในสภาพแวดล้อม 6 ชนิด คือ ต้นสามสิบ ครุ่ย ลำแพน ชะคราม แสม และจากเห็ด 3 ชนิดอย่างน้อย คือ เห็ดโปร่ง เห็ดโกงกาง เห็ดหูหนู สัตว์น้ำไม่น้อยกว่า 40 ชนิด คือ กุ้งแชบ้วย กุ้งกุลาดำ กุ้งตะกราด กุ้งกะต่อม กุ้งดอกลาว กุ้งกะเปาะ กุ้งนาง ปูแสม ปูแป้น ปูม้า ปูแดง ปูตะกอย ปลาอีจ้วง ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากดทะเล ปลาดุกทะเล ปลากระบอก ปลาอีกง ปลาข้าวเม่า ปลาเห็ดโคน ปลาสีกูด ปลาตะกรับ ปลาบู่ดำ ปลาช้างเหยียบ ปลากระทุงเหว ปลาหัวตะกั่ว ปลากะรัง ปลาแป้นทะเล ปลาจวด ปลกระพง ปลาสลักทะเล ปลาบู่ทอง ปลาไหล ปลาหมอเทศ ปลาจ่อเจี๊ยบ ปลาเขือ หอยตาวัว หอยจุ๊บแจง หอยฟันม้า ฯลฯ



แหล่งปลาดุกทะเล บ้านเขายี่สาร
แหล่งปลาดุกทะเล

ความฉลาดในการนำพืชน้ำเค็มมาทำอาหาร

ชาวบ้านเขายี่สาร รู้จักใช้พืชน้ำเค็มทำอาหาร โดยการขจัดความเค็มออกก่อน เช่น



ใบอ่อนของต้นชะคราม เป็นวัชพืชเกิดคลุมดินตามป่าชายเลนทั่วไป ใบสีเขียวค่อนข้างกรอบ อิ่มน้ำ จะเอามาปรุงอาหารต้องนำมาต้มบีบเอาความเค็มออก ทำซ้ำหลายๆครั้ง แล้วนำไปแช่น้ำจืด รูดเอาเฉพาะใบนำมาประกอบอาหาร เช่นลวกแล้วราดหัวกระทิเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือทอดกับไข่และทำแกงส้ม



ผักครุ่ย นำมาทำขนมผักครุ่ย โดยเอาฝักแก่ของต้นครุ่ยมาปลอกเปลือกออก นำไปแช่น้ำปูนขาว หรือน้ำปูนใสต้มให้หมดรสขื่น จากนั้นนำไปเชื่อมกับน้ำตาลทราย เป็นขนมคล้ายฟักเชื่อม



พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร

บ้านเขายี่สาร
อาคารพิพิธภัณฑ์ บ้านเขายี่สาร


การไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเขายี่สาร นอกจากการชมภูมิประเทศหมู่บ้านและผู้คนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและอัธยาศัยดีงาม ชมวัดที่มีศิลปะอันทรงคุณค่าที่มีอยู่ในวัดแล้ว ชาวบ้านยังได้ร่วมกันจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ เพราะนอกจากจะแสดงเรื่องราวความเป็นมาอันภาคภูมิใจของหมู่บ้าน เป็นแหล่งความรู้สำหรับเยาวชนของหมู่บ้านและคนทั่วไป ยังแสดงให้เห็นพลังแห่งความสามัคคีร่วมใจกัน



พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาของการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กำลังสำคัญคนหนึ่งในหลายคนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ คือ อาจารย์สิริอาภา รัชตะหิรัญ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นคนที่เกิด ณ.บ้านเขายี่สาร เป็นชาวเขายี่สารเต็มตัว



ในพิพิธภัณฑ์ได้นำวัตถุสิ่งของมาจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ แสดงประวัติ เรื่องราว และวิวัฒนาการของชุมชนบ้านเขายี่สาร รวมทั้งจำลองภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขายี่สารเกือบครบทุกแง่มุม เช่น



หมวดกำเนิดยี่สาร ว่าด้วยประวัติของบ้านเขายี่สาร

หมวดการขุดค้นทางโบราณคดี มีของจริงให้ดูด้วย ถ้าอยากดูต้องเดินไปชม อยู่ด้านหลังเขายี่สาร



พิพิทธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร
หลุมขุดสำรวจทางโบราณคดี

หมวดความเชื่อ มีเรื่องพ่อปู่ศรีราชา พ่อปู่หัวละมานด้วย



หมวดพุทธศาสนาและจิตรกรรมฝาผนัง

หมวดภูมิปัญญาชาวบ้านยี่สาร ประกอบด้วย ภาชนะใช้สอยในครัวเรือน การล่มน้ำ สมุนไพรพื้นถิ่น ประเพณี อาหาร ขนมหวาน บ้านและของใช้ในบ้าน อาชีพเผาถ่านไม้โกงกาง เครื่องโลหะ เครื่องมือช่าง



การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมถือได้ว่าเป็นยอดแห่งการท่องเที่ยว เพราะเป็นการเข้าถึงทั้งภูมิปัญญา ได้ความรู้ ได้สัมผัส ได้เห็นของจริง ความจริงของชีวิตทุกแง่มุม เป็นการส่งเสริมความเข้าใจในมนุษยชาติทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่า รวมทั้งการเห็นคุณค่าของมนุษย์และธรรมชาติ หากใครจะท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หมู่บ้านเขายี่สาร ตำบลเขายี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแหล่งหนึ่งที่ควรเลือกไปชม เส้นทางที่ควรไปอย่างยิ่งคือ ทางเรือที่ออกปากอ่าวแม่น้ำแม่กลอง และควรไปวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะพิพิธภัณฑ์เปิดบริการ



หนังสืออ้างอิง

เอกสารประกอบโครงการท่องเที่ยวและเสวนาวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 2 บ้านเขายี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม. (อัดสำเนา). มปท., 2543

นำชมพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร. มปท., 2543


นำลงวันที่ 16 เม.ย 2544


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยสถานหมวดไทยสถาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม ป้อมพระจุลจอมเกล้า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรสถานสุทธาวาส บ้านเขายี่สาร อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ชุมชนบ้านครัวเหนือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี
หน้าหลัก หน้าหลัก