วัดพระเชตุพน
มหาวิทยาลัยของชาวบ้าน

วัดโพธิ์

อยากศึกษาหาความรู้ อยากดูความงามแห่งสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย เชิญไปที่วัดโพธิ์



    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธาราม เป็นวัดที่สำคัญที่สุดวัดหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า 'วัดโพธิ์'

ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือของวัดจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช วัดแห่งนี้จัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนชัดเจน คือเขตพุทธาวาส และเขตสังฆาวาส



     นอกจากส่วนกุฏิพระสงฆ์ เขตสังฆาวาส ที่แบ่งสัดส่วนอย่างเป็นระเบียบแล้ว ส่วนที่เป็นเขตพุทธาวาส อันประกอบด้วยโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ศาลาราย ล้วนสวยงามอย่างร่มรื่น มีต้นไม้นานาพันธุ์ กระถางไม้ดัด และตุ๊กตาจีน รวมไปถึงรูปปั้นฤาษีดัดตนในท่าทางต่างๆทำให้ผู้พบเห็นประหลาดใจและได้รับความเพลิดเพลินยิ่งนัก



วัดโพธิ์
เจดีย์วัดโพธิ์
เจดีย์วัดโพธิ์


ประมวลภาพวัดโพธิ์

     วัดพระเชตุพน หรือวัดโพธิ์ สร้างในสมัยอยุธยา ระหว่างพ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๖๔ ในรัชสมัยของพระเพทราชา ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงนิยมศิลปะแบบจีน พระองค์ทรงให้บูรณะวัดนี้นานถึง ๑๖ ปี จึงทำให้วัดโพธ์มีศิลปะแบบจีนปรากฎให้เห็นจนทุกวันนี้ การบูรณะวัดเริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ.๒๓๗๕ และเสร็จสิ้นเมื่อปีพ.ศ.๒๓๙๓



watpo
watpo


     วัดพระเชตุพนเป็นวัดที่สำคัญที่สุดในด้านการให้การศึกษาแก่ประชาชน เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( King Rama III ) ทรงให้รวบรวมนักปราชญ์ด้านต่างๆ นำความรู้ที่มีอยู่มาจารึกบนแผ่นหิน ติดไว้ตามเสาศาลาราย ซึ่งราษฎรที่อยากศึกษาหาความรู้สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ทุกคน



     เรื่องการศึกษาหาความรู้ของคนไทยสมัยก่อน มีแต่ลูกของขุนนางจึงจะได้รับการศึกษาที่ดี โดยพ่อแม่จะนำลูกไปฝากเรียนกับพระหรือครูที่เก่งๆ ซึ่งครูก็รับลูกศิษย์ได้จำนวนไม่มากนัก ด้วยเหตุดังกล่าวรัชกาลที่ ๓ จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรของพระองค์สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างกว้างขวาง จึงทรงให้จารึกความรู้ต่างๆไว้ในวัด วัดพระเชตุพนธ์จึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยของชาวบ้านแห่งแรกของประเทศไทย



     ความรู้ที่จารึกไว้บนแผ่นศิลา เป็นความรู้ชั้นสูง หากใครเรียนรู้อย่างจริงจัง ก็จะนำความรู้แขนงที่สนใจไปประกอบอาชีพได้อย่างดี ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๘ หมวด คือ ประวัติวัด ตำรายา อนามัย ประเพณี วรรณคดี สุภาษิต ทำเนียบ พุทธศาสนา

     จากความรู้ทั้ง ๘ หมวดนี้ หมวดที่น่าสนใจมากคือ ว่าด้วยเรื่องตำรายา เรื่องอนามัย โดยเฉพาะตำราว่าด้วยเรื่องการนวดแผนโบราณอันเป็นภูมิปัญญาของไทย วิธีการนวดเป็นการบำบัดรักษาที่สำคัญแขนงหนึ่ง และการเรียนรู้ได้สืบทอดมาจนเป็นที่ยอมรับของแพทย์แผนปัจจุบันว่า แพทย์แผนไทยและวิชาการนวดเป็นแขนงการบำบัดรักษาที่สำคัญ ปัจจุบันมีการเรียนรู้และพัฒนาก้าวหน้าอย่างยิ่ง



     นอกจากความสวยงามของโบสถ์ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างต่างๆแล้ว มีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ฤาษีดัดตน เมื่อเราเดินเข้าไปในวัดจะเห็นรูปปั้นฤาษีดัดตน ตั้งให้เห็นอยู่ตามจุดต่างๆที่เราเดินรอบบริเวณ รูปปั้นฤาษีจะทำท่ากายบริหารในท่าต่างๆ เป็นท่าที่ฤาษีใช้ดัดตนแก้เมื่อยและแก้โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หลังจากนั่งบำเพ็ญตบะเป็นเวลานาน ท่าดัดตนนี้จะแก้โรคลม คือ อาการเมื่อยขบ หน้ามืด ตาลาย วิงเวียนศีรษะ ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำเป็นต้น



ฤาษีดัดตน
ฤาษีดัดตน
ฤาษีดัดตน


ประมวลภาพ ฤาษีดัดตน

นอกจากจะมีรูปปั้นฤาษีดัดตนแล้ว ยังมีการบันทึกลงแผ่นศิลาจารึกเพื่อให้คนได้ศึกษาหาความรู้ด้วย เรียกว่า โคลงฤาษีดัดตน ดังตัวอย่าง

ดัดแก้ลมปวดศีรษะ
พระมโนชสำนักด้าว ดงยูง ยางแฮ
จิตพรั่นหวั่นหวาดฝูง มฤคร้าย
กำเริบโรคขบสูง สังเวช องค์เอย
นั่งคัดหัตถ์ขวาซ้าย นบเกล้าบริกรรม

     วิธีการ คือ นั่งตัวตรง พนมมือไว้เหนือศีรษะ เกร็งให้ถึง หายใจเข้าลึกๆ พร้อมยืดตัวขึ้นให้ช่วงอกและท้องพองขยายขึ้นให้เต็มที่ แล้วกลั้นหายใจนิดหนึ่ง ต่อไปหายใจออกจนอกและท้องแฟบลงสุด พร้อมผ่อนคลายการเกร็งให้หย่อนลง ทำสลับกันไปตามพอใจ



ฤาษีดัดตน

     นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความรู้จากวัดพระเชตุพน มหาวิทยาลัยชาวบ้าน ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมายอยู่ในวัดแห่งนี้ เชิญผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าชมและศึกษาได้ และเรื่องราวต่างๆของวัดแห่งนี้จะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยสถานหมวดไทยสถาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม ป้อมพระจุลจอมเกล้า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรสถานสุทธาวาส บ้านเขายี่สาร อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ชุมชนบ้านครัวเหนือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี
หน้าหลัก หน้าหลัก