วัดบวรสถานสุทธาวาส

เดิม ณ สถานที่นี้ ครั้งที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (กรมพระราชวังบวรในสมัยรัชกาลที่ 1) ทรงสถาปนา บริเวณนี้เป็นสวนที่ประพาส มีตำหนักสร้างไว้ในสวนนั้นหลังหนึ่ง



ต่อมาทรงพระราชอุทิศให้เป็นบริเวณที่หลวงชีจำศีลภาวนา เหตุเพราะมารดาของนักองค์อี ธิดาสมเด็จพระอุไทยราชาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นสนมเอก ชื่อนักนางแม้น บวชเป็นรูปชี เรียกกันว่า นักชี เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้มาอยู่ในพระบวรราชวังฯ กับพวกหลวงชีที่เป็นบริษัท ที่ตรงนั้นจึงเลยเรียกกันว่า"วัดหลวงชี"



ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสิ้นพระชนม์ลง กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 2) ได้เข้าครอบครองพระบวรราชวัง ซึ่งขณะนั้น บริเวณวัดหลวงชีก็ไม่มีหลวงชีอยู่ดังแต่ก่อน กุฏิหลวงชีร้างชำรุดทรุดโทรมจึงโปรดให้รื้อกุฏิหลวงชีเสียหมด ทำที่นั้นเป็น สวนเลี้ยงกระต่าย (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงรวบรวมประชุมพงศาวดาร กล่าวไว้ว่าแต่เดิมตรงนี้ก็เห็นจะเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เอาอย่างพระราชวังหลวงที่กรุงเก่าจึงปรากฏว่ามีตำหนักอยู่ในนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเห็นจะทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้เป็นวัดหลวงชีต่อภายหลัง)



กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ครองวังหน้าอยู่ 8 ปี ประชวรเป็นพระยอดตรงที่ประทับ ให้ผ่าพระยอดนั้นเลยเกิดบาดพิษสิ้นพระชนม์ลง วังหน้าว่างอยู่ 7 ปีด้วยไม่ทรงตั้งพระมหาอุปราชมาจนตลอดรัชกาลที่ 2 เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ 1 และ 2 เสด็จลงมาอยู่ตำหนักในพระราชวังหลวงหลายพระองค์ แต่พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดากรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ 1 นั้น พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิ์พลเสพทูลขอไปเป็นพระชายา ดังนั้นจึงนับได้ว่าทรงเป็นพระราชบุตรเขยของกรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 1



เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่า กรมหมื่นศักดิพลเสพ มีบำเหน็จความชอบมากทั้งยังทรงเป็นพระราชบุตรเขย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พ้นข้อรังเกียจที่กล่าวกันว่าทรงแช่งสาปไว้แต่ก่อน จึงโปรดให้เสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับอยู่ในพระราชวังบวร ได้ทำการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 แรม 6 ค่ำ



กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้ทรงสถาปนาการในพระราชวังบวรฯ หลายอย่าง สิ่งสำคัญที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ คือวัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า วัดพระแก้ววังหน้า เพราะอยู่ในวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง



ทรงอุทิศสวนกระต่ายเดิม สร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา เหตุที่จะสร้าง เล่ากันมาหลายประการ เป็นต้นว่าทรงสร้างแก้บนครั้งเสด็จยกกองทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ (เจ้าอนุวงศ์) และเล่ากันอีกอย่างหนึ่งว่า แต่เดิมจะทรงสร้างเป็นยอดปราสาทจนปรุงตัวไม้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบมีรับสั่งห้ามว่าในพระราชวังบวรฯ ไม่มีธรรมเนียมที่จะมีปราสาท กล่าวกันว่าเป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพน้อยพระทัยมาก จึงโปรดให้แก้เป็นหลังคาจตุรมุขอย่างเช่นปรากฏอยู่ทุกวันนี้



รูปแบบเครื่องไม้ ที่เป็นเครื่องยอดประสาท อาทิ นาคปัก นาคเบือน ยังเป็นตัวไม้ที่ใช้เป็นแบบอย่าง แม้ในการบูรณะยุคปัจจุบัน ก็ยังคงรักษาไว้ ส่วนเครื่องยอดปราสาทนั้นโปรดให้ไปสร้างมณฑปถวายไว้ที่วัดมหาธาตุฯ ภายหลังเกิดเพลิงไหม้แก้ไขเป็นรูปวิมาน (ทรงหลังคา) ตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน



กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสโดยประณีตบรรจง ทรงเสาะหาพระพุทธรูปที่เป็นงามของแปลกและเครื่องศิลาโบราณต่าง ๆ มาตกแต่ง พระเจดีย์ก็ถ่ายแบบเจดีย์สำคัญ เช่น พระธาตุพนม เป็นต้น มาสร้างหลายองค์ แต่การสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสไม่ทันแล้วสำเร็จ ที่เล่ากันมาเป็นแน่นอนนั้น ว่า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง สำหรับประดิษฐานที่ในพระอุโบสถ ยังไม่ทันแล้วพอประชวรหนักใกล้จะสวรรคตจึงทรงจบพระหัตถ์ผ้าห่ม ประทานพระองค์เจ้าดาราวดีไว้ดำรัสสั่งว่า ต่อไปท่านใดเป็นใหญ่ได้ทรงบูรณะวัดนั้นให้ถวายผ้าผืนนี้ ทูลขอให้ช่วยทรงพระให้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับผ้าผืนนั้น ทรงพระพุทธรูปถวายสมดังพระราชอุทิศของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ในกาลต่อมา



กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ 8 ปี ประชวรพระโรคมานน้ำสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2375 พระชมมายุได้ 48 พรรษา วังหน้าทิ้งว่างอยู่อีก 18 ปี



พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชสมบัติ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้พระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน เสมือนเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ



พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องบูรณะพระบวรราชวังเป็นการใหญ่ เพราะสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ในส่วนของวัดบวรสถานสุทธาวาส พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะเชิญพระพุทธสิหิงค์ ไปประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เช่นเดียวกับพระแก้วมรกตเป็นประธานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โปรดให้ก่อฐานชุกชีที่จะตั้งบุษบกกลางพระอุโบสถ (ฐานนี้ได้รื้อออกในคราวบูรณะราวปี พ.ศ. 2507-2509) ฝาผนังในระดับหน้าต่างเขียนเรื่องตำนานพระพุทธสิหิงค์ ส่วนด้านบนเขียนภาพพุทธประวัติ บานหน้าต่าง-ประตูเขียนรูปเทพเจ้าต่าง ๆ แต่การค้างอยู่จนสิ้นรัชกาลที่ 4 จึงหาได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไม่



ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงรับตำแหน่งวังหน้า ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราช ทรงปรับปรุงพระบวรราชวัง โปรดให้รื้อกำแพงพระบวรราชวังด้านหน้าปรับปรุงเป็นสนามหลวง



ในส่วนของวัดบวรสถานสุทธาวาส โปรดให้แต่งพระอุโบสถเป็นพระเมรุพิมาน ที่ประดิษฐานพระบรมศพเวลาสมโภช และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แทนพระเมรุใหญ่ท้องสนามหลวงอย่างแต่ก่อน ปลูกพระเมรุน้อยที่พระราชทานเพลิง ต่อออกมาข้างเหนือ จึงเปลี่ยนนามเรียกว่า "พระเมรุพิมาน" โปรดให้ทำการพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวเรศวริยาลงกรณ์ พระบรมราชอุปัชฌายาจารย์ก่อน ตามด้วยงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช



ต่อมางานพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์และเจ้าฟ้าศิราภรณโสภณ งานพระศพสมเด็จพระมาดามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักพรรดิพงษ์ ซึ่งเป็นงานพระบรมศพและพระศพในปีเดียวกันนั้น ซึ่งประดิษฐานพระบรมศพ พระศพในพระเมรุพิมานนี้



หลังจากนั้นบริเวณวัดบวรสถานสุทธาวาส ก็ได้ทิ้งร้างชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งคือ บริเวณพระวิมานทั้งหมด รวมทั้ง วัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำหรับพระนคร ในปี พ.ศ. 2477 จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ขึ้น และพัฒนาเสมอมา เป็นโรงเรียนนาฏศิลปกรมศิลปากร และวิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพในที่สุด



(ปรเมษฐ์ บุณยะชัย 2542:5-7)

ปรเมษฐ์ บุณยะชัย. “วัดบวรสถานสุทธาวาส.” วารสารวังหน้า. 2,3 (ประจำภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2542) : 5-8.

นำลงวันที่ 6 ก.ค 2543



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยสถานหมวดไทยสถาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม ป้อมพระจุลจอมเกล้า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรสถานสุทธาวาส บ้านเขายี่สาร อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ชุมชนบ้านครัวเหนือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี
หน้าหลัก หน้าหลัก