วัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวราราม

เมื่อนั่งเรือล่องตามลำน้ำเจ้าพระยา สองตาเหลียวมองข้างทางจะพบสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือ พระปรางค์ขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะสวยงามโดดเด่น เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และถือเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดอรุณราชวราราม



วัดอรุณราชวรารามนั้น เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกเหนือพระราชวังเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นกองบัญชาการทหารเรือและอยู่ในพื้นที่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร วัดนี้เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมที่ชื่อว่าวัดมะกอก ต่อมาเติมเป็นวัดมะกอกนอก แล้วเปลี่ยนเป็นวัดแจ้ง วัดอรุณราชธาราม และวัดอรุณราชวรารามดังเช่นในปัจจุบัน อาณาเขตของวัดกว้างขวางมาก ทางทิศเหนือติดกำแพงวัดด้านเหนือหลังโรงเรียนประถมทวีธาภิเศก ทางด้านทิศใต้ติดกับกำแพงพระราชวังเดิม (กองทัพเรือ) ทางด้านทิศตะวันออกจดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และทางทิศตะวันตกจะเป็นกำแพงวัดติดถนนอรุณอัมรินทร์



ความสำคัญของวัดอรุณราชวรารามประการหนึ่งคือ จัดว่าเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เนื่องจากพระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและได้ทรงผูกพันอยู่กับวัดนี้มาก จนถึงขนาดทรงปั้นหุ่นพระพักตร์พระประธาน ในพระอุโบสถด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้น วัดอรณราชวรารามยังเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล สงวนไว้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน เป็นประจำทุกปี และมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนทางชลมารคด้วยเรือพระราชพิธีที่งดงามยิ่ง



พระปรางค์ เป็นศิลปกรรมที่สง่างามเด่นที่สุด ในวัดอรุณราชวราราม

ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ พระปรางค์องค์นี้เดิมทีสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีหลักฐานมีลักษณะเป็นแบบใด นอกจากกล่าวว่าสูงประมาณ 8 วา เป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นพร้อมกับโบสถ์และวิหารน้อยหน้าพระปรางค์

พระปรางค์วัดอรุณ พระปรางค์วัดอรุณ
พระปรางค์ วัดอรุณ


     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชสัทธาจะเสริมสร้างให้สูงใหญ่เป็นมหาธาตุประจำพระนคร แต่ทรงกระทำได้เพียงโปรดให้กะที่ขุดรากเตรียมไว้เท่านั้นเนื่องจากสวรรคตเสียก่อน เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่อีกครั้ง เริ่มแต่ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างกุฏิสงฆ์เป็นตึกใหม่ทั้งหมด และทรงมีพระราชดำริที่จะสนองพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้เสริมสร้าง พระปรางค์องค์ใหญ่ สูงถึง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว (สูง 67 เมตร)



     ฐานพระปรางค์กลมโดยรอบ 5 เส้น 17 วา (234 เมตร) รัชกาลที่ 3 เสด็จพระราชดำเนินมาก่อ พระฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ เดือน 9 แรม 12 ค่ำ พ.ศ. 2385 สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลาสร้างถึง 9 ปี และทรงโปรดให้หล่อยอดนพศูลพระปรางค์ ปี พ.ศ. 2389 เมื่อยกยอดพระปรางค์ซึ่งเดิมทำเป็นยอดนพศูลตามประปรางค์แบบโบราณ แต่ครั้นใกล้วันฤกษ์กลับโปรดให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเรื่องที่จะเป็นพระประธานในวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้วยังไม่ทันมีงานฉลองก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2394



     

พระปรางค์ ที่เห็นในปัจจุบันได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีรั้วล้อมทั้ง 4 ด้าน ตอนล่างเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูนเตี้ย ๆ ทาด้วนน้ำปูนสีขาว ตอนบนเป็นรั้วเหล็กทาสีแดง มีรูปครุฑจับนาคติดอยู่ตอนบนทุกช่อง แต่ละช่องกั้นด้วยเสาก่ออิฐถือปูน ด้านตะวันตกหลังพระปรางค์มีเก๋งจีนแบบของเก่าเหลืออยู่ 1 เก๋ง หน้าบันและใต้เชิงชายประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสี



     ลานพระปรางค์ตั้งแต่รั้วถึงฐานพระปรางค์ปูด้วยกระเบื้องหิน แต่ละมุมด้านในของรั้วมีแท่นก่อไว้เป็นลายเป็นขาโต๊ะตั้งติดกัน เข้าใจว่าคงเป็นที่ตั้งเครื่องบูชาหรือวางของรอบ ๆ ฐานพระปรางค์จะมีตุ๊กตาหินแบบจีนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ กับรูปทหารจีนตั้งไว้เป็นระยะ



     พระปรางค์องค์ใหญ่ มีบันไดขึ้นสู่ชั้นที่ 1 ระหว่างปรางค์ทิศและมณฑปทิศด้านละ 2 บันได รวม 4 ด้าน เหนือพื้นชั้นที่ ๆ เป็นฐานของชั้นที่ 2 รอบฐานมีรูปต้นไม้ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ เหนือขึ้นไปเป็นเชิงบาตร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ ใบไม้มีบันไดขึ้นสู่ชั้นที่ ๆ ตรงหน้ามณฑปทิศมณฑปทิศ มณฑปละ 2 บันได คือ ทางซ้ายและทางขวาของมณฑป เหนือพื้นชั้นที่ 2 เป็นฐานของชั้นที่ 3 มีช่องรูปกินนรและกินรีสลับกันโดยรอบ เชิงบาตรมีรูปมารแบก และมีบันไดตรงจากหน้ามณฑปทิศแต่ละมณฑปขึ้นชั้นที่ 3 ด้านละบันไดที่เชิงบันไดมีเสาหงส์หินบันไดละ 1 ต้น เหนือพื้นชั้นที่ 3 เป็นฐานชั้นที่ 4 มีช่องรูปกินรีและกินนรสลับกันโดยรอบเว้นแต่ตรงมุดยอด 4 ด้านเป็นรูปแจกันปักดอกไม้ที่เชิงบาตเป็นรูปกระบี่แบก มีบันไดขึ้นไปยังชั้นที่ 4 อีก 4 ลันได ตรงกับบันไดชั้นที่ 3 และมีเสาหงส์หินอยู่เชิงบันไดด้านละ 2 ต้นเหมือนกัน เหนือพื้นชั้นที่ 4 ขึ้นไปมีรูปพรหมแบก ตามช่องมีรูปกินนรและกินนรีสลับกันโดยรอบ ตรงยอดมุมเป็นรูปแจกันปักดอกไม้คล้ายกันทุกชั้น เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหา 4 ด้าน เหนือซุ้มคูหาขึ้นไปเป็นยอดปรางค์ขนาดย่อม มีรูปพระนารายณ์ทรงครุฑจับนาคแลกพระปรางค์อยู่โดยรอบ ตอนสุดของพระปรางค์เป็นนพศูลและมงกุฎปิดทอง



มารแบก

     องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ กระเบื้องเคลือบสีที่ใช้ประดับนี้ บางแผ่นเป็นรูปลายที่ทำสำเร็จมาแล้ว บางแผ่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบเข้าด้วยกัน บางลายใช้กระเบื้องเคลือบธรรมดา บางลายใช้กระเบื้องเคลือบสลับเปลือกหอย และบางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายงดงามเป็นของเก่าหายาก เช่น ชามเบญจรงค์ เล็กบ้างใหญ่บ้างมาสอดสลับไว้อย่างเป็นระเบียบ



     นอกจากพระปรางค์องค์ใหญ่แล้ว วัดอรุณราชวรารามยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าอีกหลายประการด้วยกัน อาทิ มณฑปหรือปราสาททิศ ซึ่งจะตั้งอยู่บนฐานชั้นที่ 2 ในระยะระหว่างปรางค์ทิศ

     ปรางค์ทิศ เป็นปรางค์องค์เล็ก ๆ อยู่บนมุมชั้นล่างของพระปรางค์องค์ใหญ่ ตรงกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์ ปรางค์ทิศทั้ง 4 องค์นี้จะมีรูปทรงเหมือนกัน



     พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก ด้านในของพรุอุโบสถจะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน พระประธานในพระอุโบสถมีพระนามว่า พระพุทธธรรมมิกราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปปางมาวิชัย หล่อในสมัยรัชกาลที่ 2 กล่าวกันว่า พระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 และบริเวณรอบพรุอุโบสถนั้นจะมีพระระเบียงหรือพระวิหารคด มีประตูเข้าออกอยู่กึ่งกลางพระระเบียงทั้ง 4 ทิศ และภายในพระระเบียงจะมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยบรรจุอยู่โดยรอบ



      พระวิหาร ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ 1 เป็นอาคารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพรุอุโบสถ พระประธานในพระวิหารคือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสิตยานุบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และในปัจจุบันได้ใช้พระวิหารหลังนี้เป็นศาลาการเปรียญของวัดด้วย



      

โบสถ์น้อยและวิหารน้อยหน้าพระปรางค์

เป็นโบสถ์และวิหารเดิมของวัดมะกอกสร้างในสมัยอยุธยาคู่กันมากับพระปรางค์องค์เดิมและโบสถ์นี้ ในปัจจุบันยังใช้เป็นทางผ่านเข้าสู่พระปรางค์ได้ด้วย

     นอกเหนือจากโบราณสาถนและโบราณวัตถุสำคัญ ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว วัดอรุณราชวารามยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง คือ มณฑปพระพุทธบาทจำลองซึ่งยู่ระหว่างเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ 4 องค์กับพระวิหารใหญ่ พระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ 4 องค์ซึ่งอยู่ระหว่างพระระเบียงอุโบสถด้านใต้กับมณฑปพระถุทธบาทจำลองเรียงเป็นแถวงจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หอระฆัง 2 หอ ซึ่งอยู่ด้านเหนือหลังพระวิหาร หอไตร 2 หอซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของหมู่กุฎิคณะ1 ใกล้กับสระน้ำหลังหนึ่ง และอีกหลังหนึ่งอยู่ทางด้านเหนือคณะ 7 ศาลาท่าน้ำทรงเก๋งจีนซึ่งอยู่ที่บริเวณเขื่อนหน้าวัด และภูเขาจำลองซึ่งอยู่หน้าวัดด้านเหนือ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนแต่มีลักษณะสวยงามสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น



     ในสมัยรัชกาลที่ 9 นี้ วัดอรุณราชวราราม ได้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นที่บริเวณเขื่อนหน้าวัด เนื่องในมหามงคลวโรกาสแห่งราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อ ปี พ.ศ. 2539

  เป็นศิลปะที่ประเมินค่ามิได้ของไทย ทำให้ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมใจกันทำนุบำรุงรักษา ให้วัดนี้เป็นศรีสง่ายั่งยืนสืบไปตลอดจวบชั่วกัลปาวสาน ชาวต่างประเทศทั่วโลก เมื่อได้เห็นพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ก็จะต้องเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือสัญลักษ์ของประเทศไทย



     

สำหรับการเดินทางไปเที่ยวชมวัดอรุณราชวรารามนั้นก็ไปไม่ยาก

สามารถไปได้ 2 ทางด้วยกัน ทั้งทางเรือและทางรถ เนื่องจากวัดอรุณราชวารามนั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอีกด้านหนึ่งของวัดอยู่ติดถนนอรุณอัมรินทร์
- ทางเรือนั้นสามารถนั่งเรือจากตลาดท่าเตียนซึ่งอยู่ใกล้วัดโพธิ์ ข้ามฝากมาขึ้นที่ท่าน้ำวัดอรุณราชวรารามได้เลยด้วย
- ส่วนทางรถยนต์นั้นจะมีรถประจำทางสาย 19 หรือ 57 วิ่งผ่าน ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล ที่จะมาชมก็แล้วกัน และบริเวณภายในของวัดก็กว้างขวางเพียงพอ ถ้าจะนำรถยนต์ส่วนตัวไปจอด

ประมวลภาพวัดอรุณ

อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยสถานหมวด การท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม | วัดอรุณราชวราราม | ป้อมพระจุลจอมเกล้า | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | วัดบวรสถานสุทธาวาส | บ้านเขายี่สาร อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี | นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด | ชุมชนบ้านครัวเหนือ | พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย | พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี |
หน้าหลัก หน้าหลัก