นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

แหล่งรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุมีค่าอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมาก

     พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดแห่งนี้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตรกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือเสด็จในกรมฯ และ ม.ร.ว. พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ชายาหรือคุณท่านทรงสะสมโบราณวัตถุ และศิลปะโบราณวัตถุมีค่าอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมาก เสด็จในกรมฯ พระองค์นี้ เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาล มารศรีพระอัครราชเทวี

     หมู่ตำหนักไทยโบราณ 3 หลัง ที่อยู่ด้านหน้า เดิมเป็นของสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ซึ่งเป็นบิดาของท่านย่าทวดของเสด็จในกรมฯ ตำหนักไทยนี้มีความเก่าแก่กว่าร้อยปีมาแล้ว เดิมสร้างอยู่ใกล้วัดพิชัยญาติ ต่อมาเมื่อเป็นของจอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัติรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร พระบิดาของเสด็จในกรมฯ จึงทรงรื้อไปปลูกที่ตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาได้รื้อไปปลูกอีกทีอำเภอบางกระสอ จังหวัดนนทบุรี



     เมื่อเสด็จในกรมฯ โปรดให้รื้อตำหนักไทยมาปลูกที่สวนผักกาด ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เดิมทีเนื้อที่บริเวณแห่งนี้ เคยเป็นสวนผักกาดของชาวจีนมาก่อน ต่อมาทั้งสองท่านได้ซื้อที่ดินผืนนี้จากชาวจีน เมื่อ พ.ศ. 2495 ราวตอนปลายสงครามเอเชียบูรพา พระองค์ทรงเริ่มสะสมและตกแต่งตำหนักไทยด้วยโบราณวัตถุที่ค้นพบในประเทศไทยและซื้อหามาจากประเทศอื่น

     หลังจากที่เสด็จในกรมฯ สิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2502 คุณท่านได้ดำเนินการทุกอย่างสืบต่อจากที่เสด็จในกรมฯ ทรงทำไว้ โดยเฉพาะการอนุรักษ์โบราณวัตถุ และศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2511 คุณท่านได้อุทิศพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดนี้ให้แก่ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์



     ปัจจุบันเรือนไทยทั้งหมดมีด้วยกัน 8 เรือน โดยเรือนไทยหลังที่ 1 ตั้งอยู่ด้านหน้าทิศเหนือ ขนานกับถนนศรีอยุธยา มีสะพานเชื่อมเรือนไทยหลังที่ 2,3 และ 4 ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ตามลำดับ ส่วนเรือนไทยหลังที่ 5-8 ปลูกอยู่ห่างกันทางด้านตะวันตกของวัง และหอเขียนอยู่ถัดจากสนามหญ้าไปทางทิศใต้


วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

เรือนไทยหลังที่ 1

     ชั้นล่างของเรือนไทยหลังที่ 1 "พิพิธภัณฑ์ดนตรีทูลกระหม่อมบริพัตร" จักแสดงเครื่องดนตรีไทยของ " ทูลกระหม่อมบริพัตร" พระบิดาของเสด็จในกรมฯ ซึ่งได้แก่ ซอสามสาย ระนาดเอก ฆ้อง กลองโบราณ จะเข้ ฯลฯ ซึ่งจะมีลายละเอียดต่างๆ อยู่ภายในห้อง


วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

     ชั้นบนบริเวณระเบียงทางทิศเหนือ มีบานประตูโบสถ์ไม้สักแกะสลักเรื่องสังข์ทอง อายุราวสมัยรัตนโกสินทร์ (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24) ด้านข้างประตูมีซุ้มเรือนแก้ว แกะสลักลายไทยปิดทอง มีช่องเล็กๆ สำหรับบรรจุพระเครื่องมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนบนประตูและหน้าต่างมี ภาพไม้แกะสลักสมัยอยุธยาตอนปลาย(ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22) จากซ้ายไปขวา มีภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนา จากประเทศอินเดียไปสู่ตะวันออก โดยมีผู้ศรัทธาในพุทธศาสนานำเจดีย์จากประเทศอินเดีย พร้อมด้วยภาพแกะสลักพระเจ้า 9 พระองค์ และพระนารายณ์ 4 กร เหนือภาพแกะสลักมีหน้าบันทึกภาพพุทธประวัติบนบุษบก เหนือแม่น้ำเนรัญชรา



     ภายในห้องด้านตะวันตก มีปราสาทเจ้าลอง ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักติดกระจก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจาก 3 ประเทศ องค์แรกทางซ้ายเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19) องค์กลางเป็นพระพุทธรูปจากประเทศอินเดีย ศิลปะคันธาราฐ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 7-8) และพระพุทธรูปทางขวาได้มาจากประเทศพม่า อายุราวต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ถัดมามีแจกันจากประเทศจีน สมัยราชวงศ์หมิงและชิง



วังสวนผักกาด

     บนฝาผนังรอบห้องมีอาวุธโบราณสมัยอยุธยา มุมห้องทั้งสี่มีอาวุธที่ใช้ในการรบบนหลังช้าง ในการทำยุทธหัตถี บนตู้ไม้แกะสลักทางด้านเหนือของห้อง มีเศียรเทวรูปสมัยสุโขทัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20) พบที่จังหวัดกำแพงเพชร มีตู้ไม้ซึ่งอยู่ชั้นบนแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์สมัยรัชกาลที่ 2-4 เหรียญเงินสมัยรัชกาลที่ 5-9 และเหรียญที่ระลึกของอังกฤษและอเมริกา ชั้นล่างของตู้มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ



     เหนือตู้ด้านบนฝาผนังมีกรอบซุ้มเรือนแก้วเก็บพระเครื่องสมัยลพบุรี ซึ่งพบที่วัดราชบูรณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (วัดนี้สร้างราว พ.ศ. 1976 สันนิษฐานว่าพระเครื่องดังกล่าวมีอายุรุ่นเดียวกันกับวัดนี้)


     ภาพเขียนที่แขวนอยู่เหนือประตูด้านทิศตะวันออกเป็นภาพเขียนพระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ด้านข้างประตูมีตู้จัดแสดงเครื่องถมทองลายไทย ส่วนทางทิศใต้มีชั้นที่วางดาบแกะสลัก ถัดมาเป็นตู้จัดแสดงขวานหินโบราณยุคหิน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่สำคัญบนตู้มีขวานโบราณพร้อมด้าม พบที่เกาะนิวกินี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับความเอื้อเฟื้อจากมูลนิธิฟอร์ด



     ระเบียงทางทิศตะวันออกมีตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยรัตนโกสินทร์ ได้มาจากวัดสิงห์ จังหวัดปทุมธานี เหนือตู้พระธรรมบนฝาผนัง มีภาพเขียนสีเกี่ยวกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงเหตุการณ์หลังปรินิพาน โดยบางภาพมีรูปดอกบัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงพระพุทธเจ้า

     ตู้ที่อยู่ทางทิศเหนือของระเบียงมีภาชนะดินเผาสังคโลก ศิลปะสุโขทัย (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-20) บนหลังตู้มีภาชนะดินเผาสังคโลกที่ติดกัน เนื่องจากการทับถมกันขณะที่ได้รับความร้อนในเตาเผา เมื่อนำภาชนะดินเผาออกจากเตาก็จะติดกัน ถัดมามีหินแกะสลักพร้อมฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมจักร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 ตรงระเบียงด้านตะวันตก มีเศียรพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีผสมลพบุรีและหินแกะสลักศลปะขอม ได้มาจากปราสาทหินพิมาย



     ในห้องถัดมาจัดแสดงเทวรูปศิลปะขอม โดยเทวรูปที่ตั้งอยู่กลางห้องเป็นเทวรูปของพระศิวะ (ด้านขวา) และพระอุมา (ด้านซ้าย) ซึ่งทั้ง 2 องค์รวมอยู่ในร่างเดียวกัน เรียกว่า "อรรธนารีศวร" จัดเป็นศิลปะขอมแบบบายน (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18) ที่สำคัญตรงมุมด้านซ้ายของห้องเทวรูปของพระนางอุมา (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12) ซึ่งคุณท่านได้มาจาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสระแก้ว) นับเป็นปฏิมากรรมแกะสลักจากหินทราย ศิลปะขอมที่สวยงาม และหาชมได้ยาก ด้านบนฝาผนังมีภาพพระบฎแสดงการเสด็จกลับลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า สมัยต้นรัตนโกสินทร์

เรือนไทยหลังที่ 2

     จากเรือนไทยหลังที่ 1 จะมีสะพานเชื่อมติดต่อถึงเรือนไทยหลังที่ 2 -4 ซึ่งจัดรวมเป็นหมู่เรือนไทย บนหน้าบันของระเบียงมีตราประจำพระองค์เป็นรูปช้างสามเศียร ของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุ มาลมารศรี พระอัครราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยกี (ย่า) ของเสด็จในกรมฯ

     ด้านหน้าของระเบียงทางเดินมีฉาก (ลับแล) ซึ่งด้านหน้ามีภาพเขียนสีแสดงป่าหิมพานต์ และด้านหลังเป็นเรื่องพระเวชสันดรชาดก



     ถัดมาทางด้านขวาจะเป็นบริเวณชานเรือนหลังที่ 2 มีตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยอยุธยาซึ่งได้มาจากวัดบ้านกลิ้ง จังหวัดอยุธยาพร้อมกับหอเขียน มีสัปคับหรือกูบ (ที่นั่งบนหลังช้าง) และงาช้างคู่ ซึ่งได้รับทูลเกล้าจากเจ้าน่าน บนฝาผนังจัดแสดงตาลปัตรราชสกุลบริพัตร และตาลปัตรที่ทำขึ้นเป็นที่รำลึกในพระราชพิธีต่างๆ

     เรือนไทยหลังที่ 2 จัดตกแต่งเป็นเรือนรับรอง ภายในห้องด้านเหนือมีเตียง หมอนขวาน บนเตียงมีฉลองพระองค์ครุยของเจ้านายชายและผ้ากรองทองสำหรับเจ้านายหญิง เมื่อมีการแต่งองค์เต็มยศตามแบบโบราณ

     มุมห้องด้านใต้ข้างประตู มีคันฉ่องซึ่งมีกรอบไม้แกะสลักลายไทย จีน และฝรั่งเศส ปิดทองด้านหน้าคันฉ่องมีหงส์ 1 คู่ ประดับไฟ 2 ดวงหน้าหงส์



     ถัดมาทางทิศใต้ของห้องบนตู้มีพานประดับมุกซ้อนกัน 4 ใบ ภายในตู้ชั้นบนมีตลับงาช้าง สำหรับใส่สีผึ้งและแป้ง มีงาช้างแกะสลักลายไทยปิดทอง ถัดมาทิศตะวันตก มีตู้แกะสลักลายไทยปิดทอง ภายในชั้นบนของตู้มีถ้วยเงินลายทอง ชั้นกลางและชั้นล่างมีเครื่องแก้วเจียระไนจากยุโรปส่วนด้านหลังตู้มีตะลุ่มประดับมุก

     ด้านเหนือของห้อง มีตะลุ่มประดับมุกวางอยู่บนตู้สลักลายไทยปิดทอง ในตู้ชั้นบนมีพระรูปของเสด็จในกรมฯ พระบรมรูปแกะสลักจากงาช้างของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระรูปของ หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ชั้นล่างมีปั้นกาน้ำ ตระกร้าหญ้าลิเภา และจานหมูที่สมเด็จพระศรีนคริ นทราบรมราชชนนีพระราชทานไว้ ตู้ชั้นล่างมีปิ่นโตเงินลงยาลายนูนจากประเทศจีน กระโถนเครื่องถมและกระโถนเบญจรงค์ริมประตูด้านตะวันออกมีพระฉายแขวน (กระจกส่องหน้า) และตู้เก็บเครื่องแก้วเจียระไนรวมทั้งขวดน้ำหอม ซึ่งนำมาจากประเทศต่างๆ ในยุโรป



     ชั้นล่างของเรือนไทยหลังที่ 2 มีตัวอย่างหินสวยงาม แปลกตา ที่คุณท่านได้รวบรวมไว้ทั้งที่พบได้ในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจัดแสดงไว้ในห้อง "ถ้ำอาลีบาบา"

เรือนไทยหลังที่ 3

     ชานเรือนหลังที่ 3 มีตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ บนหลังตู้มีเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ด้านหน้าตู้มีใบเสมาสลักจากหินทราย บนฝาผนังแขวนตาลปัตรและโคมไม้แกะสลักลายไทยปิดทองและข้างประตูเข้าเรือนมีกลองมโหระทึก ซึ่งใช้ในพิธีต่างๆ เช่น ในพิธีขอฝน

     นอกจากนี้ยังมีรูปจำลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งมีรูปปั้นสิงห์ อันเป็นฝีพระหัตถ์ของเสด็จในกรมฯ อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของรูปจำลอง

     เรือนไทยหลังที่ 3 ตกแต่งเป็นที่รับรอง ด้านขวาของห้องมีตั่งซึ่งใช้รับรองแขก ด้านซ้ายใกล้ประตูมีตู้เล็กแสดงวัตถุโบราณศิลปะกรีก-โรมัน ถัดมามีตู้ใส่ภาชนะเบญจรงค์ ด้านบนฝาผนัง เหนือตู้มีภาพเขียนสีเรื่องรามเกียรติ์ สมัยต้นรัตน์โกสินทร์ในรัชกาลที่ 2 ถัดไปเป็นตั่งแกะสลักลายไทยปิดทอง ด้านบนมีเสลี่ยงซึ่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ พนักพิงและราวทำด้วยงาช้างแกะสลักมีกลดตั้งอยู่ด้านหลังของเสลี่ยงและต้นไม้เงิน-ตันไม้ทอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่สมเด็จย่าของเสด็จในกรมฯ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ 84 ปี

     ถัดไปมีบุษบกจำลองตั้งอยู่บนตู้ หลังตู้ถัดไปมีเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ภายในตู้ชั้นบนแสดงเครื่องดนตรีไทยจำลอง ชั้นล่างมีปิ่นโตถมทอง 2 เถา และสังข์รดน้ำที่ใช้ในพิธีแต่งงานและเครื่องขันหมาก ถัดมาบริเวณด้านข้างหน้าต่างมีภาพเขียนลายไทยลงรักปิดทอง

     ภายในตู้ถัดไปวางแสดงภาชนะเบญจรงค์ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นภาชนะที่คนไทยเป็นผู้ออกแบบลวดลาย เช่น ลายกนก เทพพนม และกินรี แล้วจึงส่งไปผลิตยังประเทศจีน ด้านบนฝาผนังตู้มีภาพเขียนเรื่องขุนช้างขุนแผน ขณะกำลังดำน้ำต่อหน้าสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ถัดไปด้านเป็นตู้แสดงเครื่องถมเงินถมทองลายไทย ด้านบนมีบุษบกจำลอง

     บนฝาผนังห้องรอบประตูมีภาพวาดที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ยุโรป ภาพบนเหนือประตูเป็นภาพพระนครศรีอยุธยา และภาพล่างเป็นภาพพระพุทธรูปต่างๆ สมัยอยุธยา ภาพราชฑูตฝรั่งเศส ซึ่งราชฑูตชาวฝรั่งเศสนับเป็นชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีสมัยพระนารายณ์มหาราช ส่วนด้านข้างประตูภาพบนเป็นภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฉลองเครื่องทรงเป็นแบบชาวยุโรปพระวรกายมีสีดำ ภาพด้านขวาเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชีนี เข้าใจว่าสองภาพนี้ ช่างภาพชาวฝรั่งเศสคงเขียนขึ้นจากจินตนาการก่อนที่จะเดินทางมายังประเทศไทย

เรือนไทยหลังที่ 4

     ระเบียงเชื่อมระหว่างเรือนไทยหลังที่ 2 และหลังที่ 3 เปิดตลอดไปจนจรดทิศใต้ ใกล้บันได ด้านตะวันตกมีหิ้งพระวางพุทธรูปบูชา ด้านติดกันเรือนไทยหลังที่ 3 มีคันฉ่องขนาดเล็ก ถัดไปเป็นตู้พระธรรมลายรดน้ำ สมัยรัตนโกสินทร์

     เรือนไทยหลังที่ 4 นอกจากจะเป็นห้องพระแล้ว บริเวณหน้าห้อง มีพื้นเรือนที่ยกสูงตรงกลาง ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นโต๊ะอาหารสำหรับเลี้ยงแขกพิเศษในโอกาสต่างๆ และชานเรือนทางทิศใต้มีภาพเขียนสีบนไม้เรื่อง พระเวสสันดรชาดก

     ด้านหน้าห้อง มีบานประตูมุกสมัยอยุธยาตอนปลาย (ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23) ภายในห้องมีพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปสำริดชุบทอง ปางลีลา ศิลปะสุโขทัย (ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20) และมีงาช้างแกะสลัก รวมทั้งแจกันที่ทำจากงาช้าง ด้านหลังของฝาผนังห้องมีพระบฎแสดงพุทธประวัติ สมัยรัตนโกสินทร์

เรือนไทยหลังที่ 5

     เมื่อข้ามสะพานไม้ที่เชื่อมจากหมู่เรือนไทย ทางด้านขวาจะเป็นที่ตั้งของเรือนไทยหลังที่ 5 และ 6 ส่วนทางด้านซ้ายจะเป็นเรือนไทยหลังที่ 7 และ 8 ตามลำดับ

     เรือนไทยหลังที่ 5 เป็นเรือนไทยที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัง ขนานกับถนนศรีอยุธยา ซึ่งใช้จัดแสดงของใช้ประจำพระองค์ของทูลกระหม่อมบริพัตรและเสด็จในกรมฯ อาทิ เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องแก้วลายทอง เครื่องเงิน เครื่องกระเบื้อง เป็นต้น ส่วนใหญ่นำมาจากประเทศต่างๆ ในยุโรป นอกจากนี้ยังมีเหรียญกษาปณ์สมัยต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ

เรือนไทยหลังที่ 6

     เรือนไทยหลังนี้ ส่วนใหญ่จัดแสดงเครื่องถ้วยชามสังคโลก ศิลปะสุโขทัย ซึ่งมีอายุประมาณ 600-700 ปี รวมทั้งเครื่องถ้วยชาม สมัยซ้ง หยวน และหมิง ของประเทศจีน

     ภายนอกมีตู้แสดงภาชนะดินเผาสังคโลกจากกลุ่มเตาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย ขวานหินโบราณและเครื่องประดับ สมัยยุคหิน และเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งได้จากจังหวัดกาญจนบุรี

     ภายในมุมห้องด้านซ้ายแสดงหินสลักรูปหัวงู ศิลปะขอม ถัดไปมีภาชนะดินเผาสังคโลก และตุ๊กตาสมัยสุโขทัย ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ สวยงามมากและเหยือกรูปคนขี่ช้างทรงอยู่สมัยสุโขทัยมุมห้องด้านตะวันตก มีรูปเทวดาสตรีสมัยศรีวิชัย (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15) ทำด้วยหินทราย ได้มาจากดงศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี มีไหหรงสูงได้จากทะเล และมีภาพเขียนเรื่องจันทรโครพ มีอายุราวสมัยรัตนโกสินทร์อยู่บนฝาผนังด้านตะวันออก

     นอกจากนี้ยังมีแท่งหินทรายแกะสลักเป็นรูปบุคคลซึ่งจัดเป็นศิลปะขอมวางแสดงไว้อยู่บริเวณชานเรือนของเรือนไทยหลังที่ 5 และ 6 ด้วย

เรือนไทยหลังที่ 7

     พิพิธภัณฑ์โขน จัดแสดงหัวโขนต่างๆ จากเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีขนาดเท่าของจริง อาทิพระราม พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ หนุมาน พาลี ฯลฯ รวมทั้งรายละเอียดของเครื่องแต่งกายและขั้นตอนการทำหัวโขน


วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

     นอกจากนี้ยังมีหุ่นละครเล็กพระรามกับนางสีดาและทศกัณฑ์กับหนุมานของนายสาคร ยังเขียวสด ศิลปินแห่งชาติปี 2539 สาขาศิลปะการแสดง ซึ่งจะจัดแสดงอยู่ภายในห้องด้วย

เรือนไทยหลังที่ 8

     เดิมเรือนหลังนี้ คุณท่านใช้แสดงภาพเขียน ซึ่งต่อมาได้มอบให้แก่หอศิลป์พีระศรีไป คุณท่านจึงจัดชั้นบนเป็นที่แสดงวัตถุโบราณบ้านเชียง ซึ่งจัดอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยค้นพบที่จังหวัดอุดรธานีเมื่อปี พ.ศ. 2509 และวัตถุโบราณบ้านเชียงเหล่านี้ คุณท่านสะสมไว้ เริ่มแรกตั้งแต่มีการขุดค้นพบ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงพัฒนาการทางสังคมและความเจริญของชุมชนในหมู่บ้าน ซึ่งมีอายุประมาณ 1,800-5,600 ปี มีภาชนะดินเผาที่มีเอกลักษณ์ในการเขียนสีแดงแบบแปลกๆ รวมทั้งภาชนะดินเผาที่ไม่มีลายเขียนสีและที่เขียนสีบางส่วน ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าภาชนะดินเผาเขียนสีทั้งลูก

     นอกจากนี้ยังมีวัตถุโบราณที่ใช้เป็นเครื่องประดับ เช่น สร้อยลูกปัด มีลูกกลิ้งดินเผาที่ใช้พิมพ์ลวดลายไปบนผ้า และแม่พิมพ์ที่ใช้ในการทำอาวุธ รวมทั้งวัตถุโบราณที่ทำมาจากสำริดอื่นๆ เช่น หัวขวาน หัวธนู กำไลแขน คอ และแหวน ซึ่งบางชิ้นยังมีกระดูกมนุษย์ติดอยู่ จึงทำให้วัตถุโบราณบ้านเชียงนับเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของอารยธรรมโลก

     ชั้นล่างของเรือนบ้านเชียง ได้จัดแสดงตัวอย่างหินและเปลือกหอย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ห้องทางด้านซ้ายจัดแสดงหินภูเขาไฟ ซึ่งได้มาจากอำเภอลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี และบางจังหวัดทางภาคเหนือ ห้องทางด้านขวาจัดแสดงซากสัตว์โบราณขนาดเล็กที่อยู่ในหินฟอสซิล รวมทั้งไม้กลายเป็นหิน ส่วนหอยได้มาจากต่างประเทศ

หอเขียน

     หอเขียนอยู่ทางทิศใต้สุดของวังสวนผักกาด ด้านหน้ามีสนามหญ้าและมีสวนอันสวยงาม หอเขียนหลังนี้เดิมเป็นตำหนักของเจ้านายที่ปลูกอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นสมัยพระนารายณ์ (ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23)


หอเขียน

หอเขียน

     เมื่อเสด็จในกรมฯ และคุณท่าน ทรงทราบว่าวัดบ้านกลิ้ง ซึ่งเป็นวัดเล็กตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสภาพวัดเกือบจะร้างอยู่แล้ว มีเรือนโบราณเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมากและไม่มีผู้ใดบูรณะรักษาเลย แต่ภายในมีสิ่งสวยงามเป็นภาพลายรดน้ำเรื่องพุทธประวัติ พระองค์ท่านจึงทำผาติกรรมคือไถ่ถอนเรือนโบราณนี้มาจากวัดบ้านกลิ้ง ย้ายมาไว้ที่วังสวนผักกาดเพื่อนำมาทำการบูรณะซ่อมแซมทั้งตัวอาคารและภาพลายรดน้ำ แล้วทรงสร้างศาลาวัดสวดมนต์และศาลาท่าน้ำ ถวายให้แก่วัดเป็นการทดแทน หลังจากการบูรณะแล้วเสร็จ เสด็จในกรมฯ ทรงประทานหอเขียนเป็นของขวัญแก่คุณท่านซึ่งเป็นชายา เนื่องในโอกาสที่คุณท่านมีอายุครบ 50 ปี ในวันที่ 8 มีนาคม 2502

     หอเขียนนี้มีลักษณะเป็นเรือนไทยภายนอกมีภาพแกะสลักซึ่งชำรุดลบเลือนไป เนื่องจากถูกแสงแดด ลม และฝนเป็นเวลานาน ส่วนชั้นในนั้น ลวดลายและช่องหน้าต่างเป็นศิลปะยุโรป ภาพลายรดน้ำส่วนบนเป็นเรื่องพุทธประวัติ ส่วนล่างเป็นเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวที่บันทึกในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ได้ส่งทูลเข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับไทย ตามด้วยราชทูตชาวฮอลันดา ภาพที่เขียนเต็มไปด้วยธรรมชาติที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งและมีชีวิตชีวา ช่างเขียนได้บันทึกความสวยงามของธรรมชาติไว้ด้วยภาพ ภูเขา ลำธาร และภาพขนบธรรมเนียมในราชสำนักในสมัยนั้น ตลอดจนการตกแต่งรั้ววังและยังมีภาพเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า ซึ่งนับว่าเป็นภาพที่มีค่ายิ่งทางสถาปัตยกรรมไทย

เรือพระที่นั่ง เก้ากึ่งพยาม

     ข้างหอเขียน มีเรือพระที่นั่ง "เก้ากึ่งพยาม" ซึ่งเป็นเรือโบราณขนาดยาว 9 วาครึ่ง ตัวเรือทำด้วยไม้ตะเคียนทองและไม้สักทอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ทูลกระหม่อมบริพัตร เดิมใช้เป็นเรือพระที่นั่งของทูลกระหม่อมบริพัตร ในขบวนเรือตามเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อ พ.ศ. 2536 กรมอู่ทหารเรือได้ให้ความร่วมมือในการซ่อมแซมเรือพระที่นั่งให้อยู่ในสภาพที่ดี และมีเรือจำลองของทูลกระหม่อมบริพัตร แต่เดิมใช้ตามประทีปในพิธีต่างๆ ตามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวังบางขุนพรหม เช่น พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และพิธีลอยกระทง


เรือพระที่นั่ง 
    เก้ากึ่งพยาม

ศิลปาคาร จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์

     ศิลปาคาร จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เป็นอาคารใหม่สร้างเป็น 4 ชั้น เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านโบราณคดี โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุโบราณ "บ้านเชียง" อย่างครบวงจรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และเพื่อขยายกิจการด้านศิลปะวัฒนธรรม ภายในยังมีห้องนิทรรศการอเนกประสงค์ "ศิลปนิทรรศมารศี" เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยรุ่นใหม่จัดแสดงผลงาน มีห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งหนังสือด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมต่อไป และยังใช้เป็นอาคารสำนักงานถาวร ของมูลนิธิ จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เพื่อใช้เป็นที่พัฒนาระบบการทำงานของมูลนิธิให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้อุปกรณ์ทันสมัยและระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกข้อมูลสำคัญของมูลนิธิและขยายกิจกรรมโดยเฉพาะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     ศิลปาคาร จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เป็นอาคารใหม่สร้างเป็น 4 ชั้น เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านโบราณคดี โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุโบราณ "บ้านเชียง" อย่างครบวงจรด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และเพื่อขยายกิจการด้านศิลปะวัฒนธรรม ภายในยังมีห้องนิทรรศการอเนกประสงค์ "ศิลปนิทรรศมารศี" เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยรุ่นใหม่จัดแสดงผลงาน มีห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งหนังสือด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมต่อไป และยังใช้เป็นอาคารสำนักงานถาวร ของมูลนิธิ จุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เพื่อใช้เป็นที่พัฒนาระบบการทำงานของมูลนิธิให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยใช้อุปกรณ์ทันสมัยและระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกข้อมูลสำคัญของมูลนิธิและขยายกิจกรรมโดยเฉพาะเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     ด้านหลัง วังสวนผักกาดมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นสระน้ำ คูน้ำ และปลูกพรรณไม้ดอก ไม้ประดับ เป็นหย่อมๆ มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีถิ่นกำเนิดในไทยและต่างประเทศ ทำให้พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดแห่งนี้ มีทัศนียภาพสวยงาม ผู้ที่ได้มาชมวังสวนผักกาดแห่งนี้จะได้ชื่นชม ทั้งด้านศิลปะวัฒนธรรมและสัมผัสบรรยากาศที่สงบร่มลื่นรอบๆ วังสวนผักกาดอันสวยงามด้วย


วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

วังสวนผักกาด

พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ยินดีต้อนรับทุกท่าน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 9.00-16.00 น.
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด 352-354 ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400.
โทรศัพท์ : 0-2245-4934, 0-2246-1775-63 ต่อ 62 หรือ 63
โทรสาร : 0-2247-2079, 0-2245-0569
หรือ ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่  www.suanpakkad.com

เอกสารอ้างอิง
เอกสารแผ่นปลิว วังสวนผักกาด ตุลาคม 2545


นำลงวันที่ 17 พ.ย 2545


อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยสถานหมวดการท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม | วัดอรุณราชวราราม | ป้อมพระจุลจอมเกล้า | วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | วัดบวรสถานสุทธาวาส | บ้านเขายี่สาร อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี | นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด | ชุมชนบ้านครัวเหนือ | พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย | พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี |
หน้าหลัก หน้าหลัก