ป้อมพระจุลจอมเกล้า

ป้อมพระจุลจอมเกล้า นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ และเป็นสถานที่ที่ควรแก่การไปท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง



เพราะป้อมพระจุลจอมเกล้าแสดงถึงพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการรุกรานของศัตรู โดยเฉพาะประเทศทางยุโรปกำลังล่าอาณานิคม ป้อมปืนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสมาแล้ว

     ป้อมพระจุลจอมเกล้าตั้งอยู่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากรุงเทพมหานครเพียงเล็กน้อย ถ้าเดินทางจากฝั่งธนบุรี เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงหมายเลข 303) จากแยกพระสมุทรเจดีย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า เมื่อไปถึงก็สามารถเข้าชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแจ้งความจำนงกับทหารรักษาการณ์ (ทหารเรือ) หน้าป้อมพระจุลฯ แล้วแลกบัตรประจำตัวไว้ ต่อจากนั้นก็ขับรถเข้าไปโดยสะดวก หากไม่มีรถส่วนตัวก็สามารถโดยสารประจำทางสาย 20 ได้ ซึ่งจะสุดสายที่ป้อมพระจุลฯ พอดี



     ความเป็นมา แห่งป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือ ตามที่นิยมเรียกขานกันว่า "ป้อมพระจุลฯ"ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ แล้วทรงมีพระราชปรารภว่า ป้อมที่มีอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ ซึ่งใช้เป็นที่มั่นป้องกันอริราชศัตรูที่จะเข้ามาทางทะเลนั้นเก่าเกินไป และอยู่ในสภาพไม่สามารถใช้ในการป้องกันราชอาณาจักรได้ และในเวลานั้นเองได้มีประเทศทางยุโรป กำลังล่าอาณานิคมอยู่ในสุวรรณภูมิ ได้เข้ายึดประเทศที่อยู่ข้างเคียงโดยรอบประเทศไทยทั้งหมดอันได้แก่ ญวน เขมร ลาว พม่า รวมทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น และก็คงต้องคิดจะยึดครองดินแดนประเทศสยามในขณะนั้นด้วย เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจเกิดขึ้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงสั่งให้จัดสร้างป้อมปราการที่ทันสมัยขึ้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเร่งด่วน โดยได้ลงมือก่อสร้างเมื่อต้นปี พ.ศ. 2427 และเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2436 และ เมื่อ พ.ศ.2436 นั่นเอง ชื่อของป้อมแห่งนี้จึงมีชื่อว่า " ป้อมพระจุลจอมเกล้า " ตามความที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานชื่อป้อมซึ่งทรงพระราชทานไว้ 2 ชื่อ จึงขออัญเชิญข้อความบางส่วนในพระราชหัตถเลขา ที่มีถึงเสนาธิบดีว่า



"แต่มีความกำเริบทะเยอทยานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วเก้าปีกับ

เดือนหนึ่งล่วงมา ว่าป้อมนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ในแผ่นดินประจุบันนี้ อยาก

จะให้ชื่อป้อมจุฬาลงกรณ์ ฤาพระจุลจอมเกล้า คล้ายกับป้อมทั้งปวงซึ่ง

เขาใช้ชื่อเจ้าแผ่นดินมีอยู่บ้าง เช่นฟอตวิลเลียมเมืองกัลกัตตา เป็นต้น

ทั้งครั้งนี้จะได้สำเร็จเเพราะทุนรอนซึ่งฉันจะอุดหนุนดังนี้ ก็ยิ่งมีความ

ปราถนากล้า ถ้าท่านทั้งปวงเหนสมควรแล้ว ขอให้เลือกนามใดนามหนึ่ง

เปนชื่อป้อมนี้ ให้เปนที่ชื่นชมยินดีแลเปนชื่อเสียงของฉันติดอยู่สืบไป

ภายหน้า"


     ในที่สุดที่ประชุมเสนาบดีก็มีมตินำเอาชื่อ " ป้อมพระจุลจอมเกล้า " ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดป้อมพระจุลจอมเกล้าในวันที่ 10 เมษายน 2436 (ร.ศ.112) และทรงทดลองยิงปืนป้อมด้วยพระองค์เอง



     เมื่อเรามาถึงป้อมพระจุลฯ สิ่งแรกที่จะพบเห็นและนับเป็นจุดสนใจที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เด่นเป็นสง่าอยู่บริเวรณหน้าป้อมปืนซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาบริเวณทั้งหมดซึ่งรายล้อมด้วยต้นไม้นานาชนิด พระบรมราชานุสาวรีย์นี้ได้จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 มีความสูงรวมทั้งหมด 17.50 เมตร ขนาดของพระบรมรูปสูง 4.2 เมตร หรือประมาณสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพเรือมีความสง่างามเป็นอย่างมาก ซึ่งในทุก ๆ วันที่ 23 ตุลาคมทุกปี จะมีพิธีวางพระมาลาถวายราชสักการะโดยกองทัพเรือด้วย



     บริเวรด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์นั้นจะเป็นห้องนิทรรศการป้อมพระจุลจอมเกล้า ทางเข้าป้อมพระจุลฯ มีสัญลักษณ์ประจำสถานที่คือแผ่นศิลาจารึกทางเข้าป้อมพระจุล ที่มีข้อความปรากฏว่า

ศุภมัสดุลุรัตนโกสินทรศก 112 เมษายนมาศ

ทสมทินประวัติ สะสิวารบริเฉทกาลกำหนด พระบาท

สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพย

มหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงศ์บริพัตร

วรขัดติยราชนิกโรดม ราตุรัตนตบรมมหาจักรพรรดิราช

สังกาศ บรมธรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบิตร

พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน

ทอดพระเนตรป้อม ตำบลแหลมฟ้าผ่านี้ เห็นว่า

การยังขาดค้างอยู่มาก มีพระราชประสงค์เพื่อจะให้การนี้

แล้วสำเร็จโดยเร็ว เพื่อให้เป็นสถานที่ป้องกันพระนคร

อันมั่นคงสืบไปภายน่า จี่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์

ส่วนพระคลังข้างที่ออกจับจ่ายทำการ เพื่อให้เป็นการแล้ว

โดยรวดเร็ว ทันความประสงค์ซึ่งการแก่การป้องกันพระนคร

เมื่อป้อมนี้แล้วสำเร็จ จึ่งได้พระราชทานไว้ว่า

     ป้อมพระจุลจอมเกล้า

      แด่รัตนโกสินทรศก 112



     หากเดินเข้าไปในป้อม ลักษณะการออกแบบคล้ายกับป้อมปืนแบบตะวันตก ซึ่งเป็นที่นิยมและทันสมัยในช่วงเวลานั้น ทางเดินภายในค่อนข้างจะแคบและเล็กมาก เพดานสูงประมาณ 2 เมตร เป็นรูปกระดองเต่า คือลักษณะโค้งลงมาทั้งสองข้าง ระหว่างทางจะมีห้องเล็กห้องน้อยจำนวนมากไว้สำหรับเก็บลูกปืน และอุปกรณ์การสงครามต่าง ๆ หากแต่ในปัจจุบันนี้ปล่อยว่างเป็นห้องมืด อับ ชื้น และน่ากลัว บริเวณผนังจะมีช่องเล็ก ๆ ไว้สำหรับระบายอากาศ เหตุการณ์ที่น่าสนใจในอดีตคือ น้ำท่วมภายในป้อมสูงเคียงเอว หรือประมาณ 30-40 เซนติเมตร สังเกตได้จากริมผนังจะมีรอยน้ำตัดกับสีขาวของผนังอยู่



ปืนเสือหมอบ ปืนใหญ่ ARMSTRON ปืนเสือหมอบ ปืนใหญ่ ARMSTRON ปืนเสือหมอบ ปืนใหญ่ ARMSTRON ปืนเสือหมอบ ปืนใหญ่ ARMSTRON


     ตลอดความยาวของป้อมพระจุลฯ จะแบ่งเป็นจุดวางปืน ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมจำนวน 7 หลุมปืน ซึ่งปืนเหล่านี้มีผู้เรียกไว้ว่า "ปืนเสือหมอบ " มีลักษณะที่น่าสนใจ คือ

คุณลักษณะของปืนเสือหมอบ

(ปืนใหญ่ ARMSTRONG)



     บริเวณด้านข้างของหลุมปืนทั้ง 2 ฝั่งซ้ายขวา จะเป็นที่สังเกตการณ์ข้าศึก ซึ่งอยู่สูงกว่าหลุมปืน เราสามารถขึ้นไปดูได้โดยขึ้นบันไดเล็ก ๆ ด้านข้าง ลักษณะโดยรอบจะเป็นพื้นที่รูปวงกลมมีหลังคาเหล็กไว้ด้านบน สามารถมองเห็นหลุมปืน ทั้ง 7 หลุมปืน และยังสามารถมองเห็น วัดอโศการามได้อีกด้วย



     เมื่อเราสำรวจบริเวณป้อมพระจุลฯ กันใกล้จะเสร็จแล้ว ก็เตรียมเดินออกมาด้านนอกแต่ยังได้พบกับห้องขนาดใหญ่อีกหลายห้อง ซึ่งอยู่เรียงรายตรงข้ามทางเดินของป้อมพระจุลฯ เดินไปดูกันหลายรอบจึงได้รู้ว่าเป็นห้องไว้สำหรับเก็บน้ำจืดไว้ใช้ เพราะบริเวณแห่งนี้ติดทะเลยากที่จะหาน้ำจืด จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างห้องที่มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้ด้วย



     เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือ หลังจากป้อมพระจุลฯ ได้เปิดเพียง 2 เดือนเศษ ได้เกิดเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ขึ้นในแผ่นดินสยาม ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เรือรบผรั่งเศสได้ล่วงล้ำอธิปไตย ทางฝ่ายไทยก็ได้ทำการยิงเตือนและยิงสกัดทำให้เรือเยเบเซย์ ซึ่งเป็นเรือนำร่องให้เรือรบฝรั่งเศสเกยตื้นที่แหลมลำพูราย ส่วนเรือแองคองสตังค์ หรือเรือโคแมต สามารถผ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำได้ และเข้าทอดสมออยู่ที่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ขึ้น



     การเดินทางมาเที่ยวป้อมพระจุลฯ แม้จะเหนื่อยอ่อนจากการเดินเยี่ยมชมภายในป้อมพระจุลฯ ผสมกับอากาศที่ค่อนข้างจะร้อน แต่ว่าเพียงแค่ได้รับลมทะเลเย็น ๆ พัดโชยมาเบา ๆ พร้อมกับนั่งพักบริเวณริมร่มต้นไม้ใหญ่ภายในสถานที่แห่งนี้ ก็สามารถเพิ่มพลังทำให้หายเหนื่อยรวดเร็ว และมีแรงไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง กันต่อ



เรือหลวงแม่กลอง

เรือหลวงแม่กลอง

เรือหลวงแม่กลอง


    เรือหลวงแม่กลองขึ้นระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. 2480 ได้เคยปฏิบัติการภารกิจสำคัญต่าง ๆ เช่น เคย เป็นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เคยร่วมปฏิบัติการสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา เป็นเรือฝึกของนักเรียนนายเรือ และนักเรียนจ่าอากาศเรือ จนถึงได้เป็นครูของทหารเรือ เรือหลวงแม่กลองต่อที่ประเทศญี่ปุ่น มีระวางขับน้ำ 1,400 ตัน กำลังพลประจำเรือ 173 นาย เครื่องจักรชนิดเครื่องจักรไอน้ำแบบข้อเสือข้อต่อรวมกัน เครื่องกังหันไอน้ำจำนวน 2 เครื่อง มีกำลัง 2,500 แรงม้า ใบจักรคู่ ความเร็วสูงสุด 17 น๊อต (ไมล์ทะเล/ชม.) เมื่อใช้ความเร็วมัธยัสถ์ 8-10 น็อต ปฏิบัติการได้ไกล 16,000 ไมล์



อาวุธประจำเรือ

     1. ปืนใหญ่ 120 มม. 4 กระบอก

     2. ปืนกล 20 มม. แท่นคู่ 1 แท่น

     3. ตอร์ปิโด 45 ซม. แท่นคู่ 2 แท่น

     4. พาราเวนกวาดทุ่นระเบิด 2 ตัว

     5. แท่นยิงลูกระเบิดลึก 2 แท่น

     6. รางปล่อยลูกระเบิด 2 ราง

     7. เครื่องปันทะเล 1 เครื่อง

     ปลดระวางประจำการเรือเมื่อปี พ.ศ. 2539 รวมเวลาปฏิบัติราชการ 59 ปี ซึ่งเป็นเรือที่ปฏิบัติการยาวนานที่สุดในกองทัพเรือ บรรยากาศโดยรอบเป็นสวนสาธารณะ



     ปัจจุบันกองทัพเรือได้ดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เรือรบไทยขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองศิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี โดยนำเรือหลวงแม่กลองนี้มาอนุรักษ์เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภภัณฑ์เรือรบกลางแจ้ง ณ พื้นที่บริเวณป้อมพระจุลฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาการทางทหาร และเพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้กองทัพเรืออนุรักษ์เรือรบเก่าที่มีคุณค่าความสำคัญไว้



     การไปชมป้อมพระจุลจอมเกล้า และเรือหลวงแม่กลองนับว่ามีคุณค่าเหลือเกิน ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน แต่ก่อนที่จะกลับ ควรถือโอกาสแวะศาลพระนเรศพระนารายณ์ เพราะเป็นศาลที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความเคารพบูชา ศาลนี้ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าวเจ้าอยู่หัว ทำการสักการะจะเสี่ยงเซียมซีด้วยก็ได้



     ว่าง ๆ หาโอกาสไปชมป้อมพระจุลจอมเกล้าและพิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ได้ทั้งความรู้และความเพลินเพลิน ประทับใจไม่มีวันลืมทีเดียว

นำลงวันที่ 27 ธ.ค 2542



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ไทยสถานหมวดไทยสถาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวราราม ป้อมพระจุลจอมเกล้า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรสถานสุทธาวาส บ้านเขายี่สาร อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นำชมพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ชุมชนบ้านครัวเหนือ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์ทรัพยากรธรณี
หน้าหลัก หน้าหลัก