ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่

     อีสานมีการนับถือประเพณีอย่างเคร่งครัดมาแต่ครั้งโบราณ และเป็นประเพณีของท้องถิ่นสืบมาหลายร้อยปี เรื่องฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ เป็นเรื่องทางศาสนา จึงน่าจะนับถือกันมาตั้งแต่ครั้งวัฒนธรรมอินเดียเข้าสู่บริเวณนี้แล้ว เรียกสั้นๆว่า ฮีต-คลอง หรือถ้าจะเรียกให้เป็นแบบชาวบ้านแท้ก็ว่า" เปิงบ้านเปิงเมือง" เรื่องฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่นี้ มีผู้สูงอายุหลายท่านกล่าวไว้คล้ายๆกัน จะต่างบ้างก็เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะครั้งโบราณด้านหนังสือยังไม่เจริญ อาศัยการบอกเล่าจดจำกันมาเป็นส่วนใหญ่ ที่เขียนไว้นั้นเป็นส่วนน้อย



     ฮีตสิบสอง
     "ฮีต" คงเป็นคำย่อของ "จารีต" เพราะอีสานใช้ "ฮ" แทน "ร" ฮีตสิบสองก็คือ จารีตที่ปฏิบัติกันในแต่ละเดือน ตรงกับทางภาคกลางว่าประเพณี 12 เดือนนั่นเอง ในสมัยโบราณเขาถือเอาเดือนอ้ายเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ (เดือนเจียงก็เรียก) แล้ววนไปจนถึงเดือน 12 เป็นเดือนสุดท้าย ในแต่ละเดือนมีประเพณีประจำเดือน ประเพณีเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นก็พยายามดึงเข้าพุทธ เพื่อให้ได้โอกาสทำบุญด้วย คือ

     เดือนอ้าย เป็นระยะอากาศหนาวชาวบ้านจะจัดสถานที่แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้ากรรม การเข้ากรรมของพระนั้นคือการเข้าอยู่ประพฤติวัตรโดยเคร่งครัดชั่วระยะหนึ่ง ในป่าหรือป่าช้า การอยู่กรรมเรียกตามบาลีว่า"ปริวาส" เพื่อชำระจิตใจที่มัวหมองปลดเปลืองอาบัติ สังฆาทิเสส ซึ่งเป็นอาบัติหนักเป็นที่ 2 รองจากปาราชิก ฝ่ายชาวบ้านก็ได้ทำบุญในโอกาสนั้นด้วย
    "เถิงเมื่อเดือนเจียงเข้ากลายมาแถมถ่าย ฝูงหมุ่สังฆเจ้าเตรียมเข้าอยู่กรรม"


     เดือนยี่ ทำบุญคูณลาน คือเก็บเกี่ยวแล้ว ขนข้าวขึ้นสู่ลาน นวดข้าวแล้ทำข้าวเปลือกให้เป็นกองสูงเหมือนจอมปลวก เรียกว่า "กุ้มเข้า" เหมือนก่อเจดีย์ทรายนั่นเอง แล้วทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่โภสพ นิมนต์มาสวดมนต์ทำบุญลาน บางคนก็เทศน์เรื่องนางโภสพฉลอง บางคนก็มีพิธีสู่ขวัญข้าวก่อนจึงจะขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง เสร็จแล้วก็ทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่หรือตาแฮก และเก็บฟืนไว้เพื่อหุงต้มอาหารต่อไป
    "พอเมื่อเดือนยี่ได้ล้ำล่วงมาเถิง ให้พากันหาฟืนสู่คนโฮมไว้"


     เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ วันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันมาฆบูชา รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำก็ถวายข้าวจี่ เรียกว่าวันทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชานั่นเอง ข้าวจี่คือเอาข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนเอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า ส่วนมากชาวบ้านจะรีบทำแต่เช้ามืด พอสว่างก็ลงศาลาการเปรียญ (ชาวบ้านเรียกหัวแจก) นิมนต์พระเณรสวดแล้วฉัน เป็นทั้งงานบุญและงานรื่นเริงประจำแต่ละหมู่บ้าน เพราะได้ทำข้าวจี่ไปถวายพระหลังจากพระฉันแล้วก็เลี้ยงกันเองสนุกสนาน มีคำพังเพยอีสานว่า
     "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา"
เดือนนี้ชาวนาส่วนใหญ่ถือกันตั้งแต่โบราณมาว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระและนิยมทำบุญบ้าน สวดมนต์เสร็จพิธีสงฆ์ แล้วก็สู่ขวัญข้าวตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้าเล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้าหรือยุ้ง
      "เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำเข้าจี่ ไปถวายสงฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ"


     เดือนสี่ ทำบุญมหาชาติ ทุกวัดพอถึงเดือน 4 ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ชาวอีสานนิยมเรียกว่า "บุญผเวส" (พระเวสสันดร) มีคำพังเพยว่า
     "เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มะที (มัทรี)"
     แต่การกำหนดเวลาก็ไม่ถือเด็ดขาด อาจจะเป็นปลายเดือนสาม หรือต้นเดือนห้าก็ได้ การเทศน์มหาชาติของอีสานผิดจากภาคกลางหลายอย่างเช่น การนิมนต์เขาจะนิมนต์พระวัดต่างๆ 10-20 วัดมาเทศน์ โดยแบ่งคัมภีร์ออกได้ถึง 30-40 กัณฑ์ เทศน์ตั้งแต่เช้ามืดและให้จบในวันเดียว พระในวัดถ้ามีมากก็จะเทศน์รูปละกัณฑ์สองกัณฑ์ ถ้าพระน้อยอาจจะเทศน์ถึง 5 กัณฑ์ การแบ่งซอยให้เทศน์หลายๆ กัณฑ์ก็เพื่อให้ครบกับจำนวนหลังคาบ้าน ถ้าหมู่บ้านนี้มี 80 หลังคาเรือน ก็อาจจะแบ่งเป็น 80 กัณฑ์ โดยรวมเอาเทศน์คาถาฟันมาลัยหมื่น มาลัยแสน ฉลองมหาชาติด้วยเพื่อให้ครบจำนวนโยมผู้เป็นเจ้าของกัณฑ์ แต่บางบ้านอาจจะขอรวมกับบ้านอื่นเป็นกัณฑ์เดียวกันก็ได้ และเวลาพระเทศน์ก็จะมีกัณฑ์หลอนมาถวายพิเศษอีกด้วย คือหมู่บ้านใกล้เคียงจะรวบรวมกัณฑ์หลอนคล้ายผ้าป่าสมัยนี้ แห่เป็นขบวนกันมา มีปี่ มีกลองก็บรรเลงกันมา ใครจะรำจะฟ้อนก็เชิญ แห่รอบศาลาการเปรียญ 3 รอบ แล้วก็นำไปถวายพระรูปที่กำลังเทศน์อยู่ขณะนั้นเลย เรียกว่ากัณฑ์หลอนเพราะมาไม่บอก มาโดนใครก็ถวายรูปนั้นไปเลย เรื่องกัณฑ์หลอนนับเป็นประเพณีผูกไมตรีระหว่างหมู่บ้านได้ยิ่งดี เพราะเรามีเทศน์เขาก็เอากัณฑ์หลอนมาร่วม เขามีเราก็เอาไปร่วมเป็นการสนองมิตรจิตมิตรใจซึ่งกันและกันได้ทั้งบุญได้ ทั้งมิตรภาพ ได้ทั้งความสนุกเฮฮา รำเซิ้ง แม้แต่ในหมู่บ้านนั้นเองก็มีกลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มบ้านเหนือ กลุ่มคนแก่ กลุ่มขี้เหล้า หรือกลุ่มอะไรก็ได้ ร่วมกันทำกัณฑ์หลอนขึ้น แห่ออกไปวัดเป็นการสนุกสนาน ใครใคร่ทำทำ มีเงินทองข้าวของจะบริจาคได้ตลอดวัน จึงเห็นบุญมหาชาติของอีสาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปี และถือกันว่าต้องทำทุกปีด้วย


     อนึ่งก่อนวันงาน 5-6 วัน หนุ่มสาวจะลงศาลานำดอกไม้ ประดับตกแต่งศาลาบริเวณวัดเป็นโอกาสที่หนุ่มจะได้คุยกับสาว ช่วยสาวทำดอกไม้สนุกสนานที่สุด นี้แหละคืออีสานที่น่ารัก
     เดือนห้า ทำบุญตรุษสงกรานต์ ประเพณีนี้ทำเหมือนๆกับภาคกลาง จะต่างกันก็ในเรื่องการละเล่นหรือการรดน้ำ สาดน้ำ สีกาอาจจะสาดพระสาดเณรได้ ไม่ถือ พระบางรูปกลัวน้ำถึงกับวิ่งก็มี บางแห่งสาวๆตักน้ำขึ้นไปสาดพระเณรบนกุฏิก็มี แต่การเล่นสาดน้ำนี้ไม่สาดเฉพาะวันตรุษเท่านั้น ระยะใกล้ๆกลางเดือนห้าสาดได้ทุกวัน บางปีเลยไปถึงปลายเดือนก็มีถ้าอากาศยังร้อนมากอยู่ นอกจากนี้ยังมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธและพระสงฆ์ด้วย คือระยะกลางเดือนห้าอากาศร้อน สาวๆจะตักน้ำไปวัดสรงพระคือให้พระอาบและสรงพระพุทธรูปด้วย เมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ ทุกวัดจะมีหอสรงอยู่ คือถึงเทศกาลนี้ก็อัญเชิญพระพุทธรูปไปตั้งในหอ ให้ชาวบ้านมาสรงกัน อากาศร้อนๆ เด็กๆ ก็ชอบเข้าไปเบียดกันใต้หอสรงรออาบน้ำสรงพระ ขลังดี ล้างโรคภัยได้ หอสรงเป็นไม้กระดานน้ำไหลลงใต้ถุนได้ เด็กก็เลยได้อาบน้ำสนุกสนานไปด้วย



     เดือนหก ทำบุญวิสาขบูชา และบุญบั้งไฟ นอกจากนี้ก็มีพิธีรดน้ำพระสงฆ์ยกฐานเป็น ยาซา ยาครู สำเร็จและบวชลูกหลาน
     เดือนเจ็ด ทำบุญติดปีติดเดือน เรียกว่าทำบุญด้วยเบิกบ้าน ทำพิธีเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมือง เลี้ยงผีบ้านซึ่งเรียกว่าปู่ตา หรือตาปู่ ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน และเรียกผีประจำไร่นาว่า "ผีตาแฮก" คือก่อนจะลงทำนาก็เซ่นสรวงบูชาเจ้าที่ผีนาก่อนเป็นการแสดงความนับถือรู้บุญคุณ
    "เดือนเจ็ดแล้วจงพากันบูชาราช ฝูงหมู่เทพเล่านั้นบูชาแท้ซู่ภาย"



     เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เหมือนกับภาคกลาง แต่มีความนิยมพิเศษคือชักชวนชาวบ้านให้นำขี้ผึ้งมาร่วมกันหล่อเทียน เช่นเดียวกับธรรมเนียมหลวงมีการถวายเทียนพรรษา
    "เดือนแปดได้ล้ำลวงมาเถิง ฝูงหมู่สังโฆคุณเข้าวัสสาจำจ้อย"
     เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน กำหนดเอาวันแรม 14 ค่ำเดือน 9 ประชาชนหาอาหาร หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองไปวางตามยอดหญ้าบ้าง แขวนตามกิ่งไม้บ้าง และใส่ไว้ตามศาลเจ้าเทวาลัยบ้าง วัตถุประสงค์เพื่ออุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อมานิยมทำบุญตักบาตรและกรวดน้ำอุทิศกุสลตามแบบพุทธ แต่มีผู้ใหญ่บางท่านว่าบุญประดับดินนี้ เป็นพิธีระลึกถึงคุณของแผ่นดินมนุษย์ได้อาศัยแผ่นดินอยู่และทำกิน พอถึงเดือน 9 ข้าวปลาพืชผลกำลังเจริญ ชาวบ้านจึงทำพิธีขอบคุณแผ่นดิน
    "เดือนเก้าแล้วเป็นกลางแห่งวัสสกาล ฝูงประชาชาวเมืองเล่าเตรียมกันไว้
      พากันนานยังเข้าประดับดินกินก่อน ทายกนานให้เจ้าพระสงฆ์พร้อมซู่ภาย"




     เดือนสิบ ทำบุญเข้าสาก (สลากภัต) ทำในวันเพ็ญเดือน 10 เป็นการทำบุญให้เปรตโดยแท้ ระยะห่างจากบุญประดับดิน 15 วัน บางท่านว่าเป็นการส่งเปรตคือเชิญมารับทานวันสิ้นเดือน 9 และเลี้ยงส่งในกลางเดือน 10 บางถิ่นเวลาทำบุญมีการจดชื่อของตนใส่ไว้ที่และเขียนสลากใส่ลงในภาชนะบาตรด้วย เมื่อพระเณรรูปได้รับสลากนั้น ก็เรียกพานยกเจ้าของไปถวาย
     "เถิงเดือนสิบแล้วทายกทอดบวยบาน เบิกพลีทำทานต่อมาสองซ้ำ
      เข้าสากน้ำไปให้สิ่งโฆทานทอด พากันหวังยอดแก้วนิพพานพ้นที่สูง"




     เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว ทำพิธีปวารณา ตามวัดต่างๆ จุดประทีปโคมไฟสว่างไสว ใช้น้ำมะพร้าวบ้าง น้ำมันละหุ่งบ้าง น้ำมันหมูบ้าง ใส่กระป๋องหรือกะลามะพร้าวจุดตั้งหรือแขวนตามต้นไม้ตลอดคืน บางคนก็ตัดกระดาษทำรูปสัตว์ หรือบ้านเล็กๆ จุดไฟไว้ข้างใน เป็นการประกวดฝีมือในเชิงศิลปในตัวอย่างสนุกสนาน รุ่งเช้าก็มีการทำบุญตักบาตรเทโว บางวัดมีการกวนข้าวทิพย์ และบางวัดก็มีการแข่งเรือด้วย
     "เถิงเดือนสิบเอ็ดแล้วเป็นแนวทางป่อง เป็นช่องของพระเจ้าเคยเข้าแล้วออกมา
      เถิงวัสสามาแล้ว 3 เดือนก็เลยออก เฮียกว่าออกพรรษาปวารณากล่าวไว้ เอาได้เล่ามา"




     เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน (กฐินเริ่มแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12) มีการจุดพลุตะไลประทัดด้วย ส่วนวัดใดอยู่ริมแม่น้ำก็มีการแข่งเรือกัน เรียกว่า "ซ่วงเฮือ" เพื่อบูชาอุสุพญานาค 15 ตะกูล รำลึกถึงพญาฟ้างุ่มที่นำพระไตรปิฎกขึ้นมาจากเมืองอินทปัตถะ (เขมร)
     "ในเดือนนี้เฟิ่นว่าให้ลงทอดพายเฮือ ช่วงกันบูชาฝูงนาโคนาคเนาในพื้น"
     บางแห่งทำบุญทอดผาสาทเผิ้ง (ปราสาทผึ้ง) หลังจากทอดกฐินแล้ว ละบางบ้านทำบุญถวายดอกฝ้ายเพื่อทำผ้าห่มถวายพระ



    คลองสิบสี่
        คลอง (ครรลอง) คือแบบแผนหรือแนวทางดำเนินชีวิตคล้ายๆ กับคำฝรั่งหนึ่งว่า "Way of life" แต่คลองในที่นี้มุ่งไปทางศีลธรรมประเพณีที่ถูกผิดมากกว่าด้านอาชีพ เห็นจะตรงกับภาคกลางว่า ทำนองคลองธรรม นั่นเอง แต่ชาวอีสานออกเสียงคลองเป็นคองไม่มีกล้ำ เช่นว่าถ้าทำไม่ถูกผู้ใหญ่ท่านจะเตือนว่า "เฮ็ดบ่แม่นคอง" หรือว่า "เฮ็ดให้ถือฮีตถือคอง" เป็นต้นฉบับของท่านเจ้าพระอริยานุวัตร มีคำฮีตนำหน้าด้วย คือ



     1. ฮีตเจ้าคลองขุน เป็นหลักสำหรับผู้ปกครองในสมัยโบราณ ขุนก็คือเจ้าเมือง เช่น ขุนเบฮม ขุนลอ ขุนทึง เป็นต้น (ภาคกลางก็มีเช่นพ่อขุนรามคำแหง)
     2. ฮีตท้าวคลองเพีย (เจ้าปกครองขุน)
     3. ฮีตไพร่คลองนาย (ไพร่ปฎิบัติต่อนาย)
     4. ฮีตบ้านคลองเมือง (ประเพณีของบ้านเมือง)
      5. ฮีตปู่คลองย่า
      6. ฮีตตาคลองยาย
      7. ฮีตพ่อคลองแม่ (พรหมวิหารธรรม)
      8. ฮีตไภ้คลองเขย (หลักปฎิบัติของลูกสะใภ้ลูกเขย)
      9. ฮีตป้าคลองลุง
      10. ฮีตลูกคลองหลาน
      11. ฮีตเถ้าคลองแก่ (ธรรมของผู้ชายที่มีต่อเด็ก)
     12. ฮีตปีคลองเดือน (คือฮีตสิบสองนั่นเอง)
      13. ฮีตไฮ่คลองนา
      14. ฮีตวัดคลองสงฆ์

เอกสารอ้างอิง

สิริวัฒน์ คำวันสา. อีสานคดี เนื่องในงานการละเล่นพื้นบ้าน. คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521

นำลงวันที่ 20 ต.ค 2544



อ่านเพิ่มเติมลิ้งค์ด้านล่าง ธรรมเนียมไทยหมวดธรรมเนียมไทย

ลอยกระทง | ประเพณีทำบุญ | วันมาฆบูชา | การถวายสังฆทาน | ประเพณีสงกรานต์ | ประเพณีแห่ผีตาโขน | ประเพณีแต่งงาน | พิธีบายศรีสู่ขวัญ | วันพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ | ฮีตสิบสอง-คลองสิบสี่ | พิธีทำขวัญเดือน (โกนผมไฟ) | พิธีโกนผมจุก |
หน้าหลัก หน้าหลัก